GHAT DIARY – ชีวิตและท่าน้ำ (ริมฝั่งแม่น้ำคงคาในอินเดีย)

“ต่อเมื่อเรารู้จักความตาย เราจึงรู้จักที่จะใช้ชีวิตอย่างแท้จริง” –Tuesday with Morrie

อินเดีย ชื่อนี้อาจทำให้ใครหลายคนมีทั้งคำถามและนิยามมากมายเกิดขึ้นในใจ แต่สำหรับผม นอกจากภาพหลายภาพที่ผุดขึ้นในความคิดแล้ว ยังมีคำขู่ของผู้สันทัดกรณีและผู้ที่เดินทางไปเยือนอินเดียมาก่อน นั่นคือเรื่องราวการผจญภัยในดินแดนภารตะ

หลังจากฟังเรื่องราวเหล่านั้น ผมเกิดคำถามและความอยากรู้มากมาย หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวว่าด้วย วิถีริมน้ำ เพราะจุดหมาย ปลายทางของผมในครั้งนี้คือเมืองแห่งสายน้ำนาม พาราณสี หรือวาราณสี เมืองหลวงของแคว้นกาสีในครั้งพุทธกาล

เมืองนี้มีแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์จากสรวงสวรรค์ไหลผ่าน พร้อมประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 4,000 ปี และนี่คือการเดินทางครั้งแรกของหนุ่มจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา สู่ลุ่มแม่น้ำคงคา

ผมตื่นก่อนที่แสงตะวันจะทำหน้าที่อย่างเช่นวันวาน และเริ่มออกเดินไปตามเส้นทางเลียบแม่น้ำคงคา หรือ กังกามาตา ของชาวอินเดีย และผมก็พบว่าเมืองนี้ยังคงเป็นเมืองที่รุ่มรวยมนตร์เสน่ห์แห่งสถาปัตยกรรมเก่าแก่และงดงามไม่แพ้ที่อื่ืนใดในโลก ผมเดินลัดเลาะมาถึง Ghat (ออกเสียงว่า “กาต” หรือ “แกต”) ซึ่งมีความหมายว่า ทางลงสู่แม่น้ำหรือท่าน้ำ

สำหรับชาวฮินดู ผู้เลื่อมใสศรัทธาและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดจะพากันมาอาบน้ำชำระร่างกายในแม่น้ำคงคา โดยสืบทอดความเชื่อต่อกันมานานนับพันๆ ปีว่า หากได้อาบน้ำ ในแม่น้ำคงคาบาปจะหมดสิ้นไป ในวันหนึ่งๆ จึงมีผู้คนจากทั่วสารทิศเดินทางมาอาบน้ำล้างบาปกันเต็มท่าน้ำไปหมด

การตายในแม่น้ำคงคาจะเป็นการปลดปล่อยดวงวิญญาณจากวัฏสงสาร คือสุภาษิตที่บ่งบอกถึงความเชื่อที่ฝังรากลึกผ่านกาลเวลานานแสนนาน จึงทำให้พิธีเผาศพเป็นไปอย่างเรียบง่ายบนกองฟืน เมื่อมีคนตายก็จะใช้ผ้าห่อศพแล้วแบกไปยังริมฝั่งแม่น้ำคงคา ผู้ชายจะห่อด้วยผ้าขาว ส่วนผู้หญิงจะห่อผ้าหลากสี

ถึงช่วงเวลาพลบค่ำผู้คนที่มาร่วมพิธี “คงคาอารตี” ณ ท่าน้ำอัสศเมธดูคลาคล่ำกว่าทุกๆ วัน เนื่องจากเป็นคืนวัน “ดิวาลี” หรือวันที่ชาวฮินดูบูชาพระแม่ลักษมี และถือว่าเป็นวันเฉลิมฉลองขึ้นปีใหม่ของชาวอินเดียด้วย คืนนี้จึงเต็มไปด้วยผู้คนจากต่างเมืองและนักท่องเที่ยวทั้งบนท่าน้ำและจอดเรือลอยลำชมพิธีอารตี หลังจากพิธีกรรมเสร็จสิ้นลง พราหมณ์ผู้นำพิธีบูชาไฟจะนำขนมที่ใช้ประกอบพิธีกรรมแจกจ่ายแก่ผู้ศรัทธาต่อไป

ไม่ไกลจากกาตหลักที่ทำพิธีกรรม ผมพบกับพราหมณ์น้อยที่กำลังทำาพิธีคงคาอารตีควบคู่ไปกับพิธีกรรมหลัก และนี่คือสิ่งที่ช่วยไขข้อสงสัยเกี่ยวกับวิธีการสืบทอด ความเชื่อและศรัทธาที่ฝังรากลึกอยู่ในวิถีแห่งชาวฮินดู โดยผ่านการใช้ชีวิต พิธีกรรม และเทศกาล จากรุ่นสู่รุ่นอย่างไม่ผิดเพี้ยนนั้นเอง

เรื่องและภาพ ธนะสันต์ ศรีฉ่ำ
รางวัลชมเชย จากโครงการประกวดสารคดีภาพ “10 ภาพเล่าเรื่อง” ปี 2015

โดยนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

แม้กาตและแม่น้ำคงคาจะถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็เป็นเหมือนสนามเด็กเล่นของเด็กๆ เช่นเดียวกัน
การใช้กาตเป็นที่ตากผ้าแบบวางกับพื้นเช่นนี้เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของวิถีชีวิตริมน้ำคงคา
ชายชาวอินเดียซึ่งเดินทางมาจากต่างเมืองพร้อมลูกน้อยกำลังนั่งรอครอบครัวขณะลงอาบน้ำ
ทุกเช้า ชายชาวฮินดูกลุ่มนี้จะเดินทางมาชำระร่างกายในแม่น้ำและใช้กาตเป็นที่แต่งตัวก่อนไปทำงานทุกวัน
แม้จะสามารถธำรงรักษาความเชื่อและวิถีชีวิตมายาวนานกว่า 4,000 ปี แต่สายธารแห่งความเปลี่ยนแปลงก็เป็นของคู่โลกเสมอ
หลังกลับจากพายเรือรับส่งนักท่องเที่ยว ชายผู้นี้นั่งลงบริเวณกาตเพื่อพักผ่อน
พราหมณ์น้อยกำลังทำพิธีอารตีหรือพิธีบูชาไฟริมฝั่งแม่น้ำคงคา

อ่านเพิ่มเติม สายธารแห่งศรัทธาชนในพิธีกุมภ์เมลา

ผู้จาริกแสวงบุญรอลงอาบนํ้าเพื่อชำระล้างบาปในพิธีกุมภ์เมลาเมื่อปี 2013 ที่เมืองอัลลาฮาบาด ประเทศอินเดีย แม้นํ้าจะปนเปื้อนมลพิษ อากาศเย็นยะเยือก และเต็มไปด้วยความแออัดยัดเยียด แต่พวกเขาก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กลับถึงบ้านพร้อมกับสุขภาพที่ดีกว่าตอนมาถึง
© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.