แอ่งน้ำแห่งชีวิตในแอฟริกา

แผ่นดินสีขาวกว้างใหญ่คือคำแปลตรงตัวของชื่อ Etosha ที่ราบแอ่งกระทะ แอ่งน้ำ แห่งนี้เคยเป็นทะเลสาบเมื่อกว่า 100 ล้านปีก่อน

เชื่อกันว่าเมื่อตอนทวีปเกิดการเคลื่อนตัวทำให้สายนํ้าเปลี่ยนเส้นทาง นํ้าที่เคยมีค่อย ๆ ระเหยไปจากทะเลสาบจึงกลายเป็นทะเลทราย ผืนแผ่นดินแห้งอุดมไปด้วยเกลือแร่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 4,800 ตาราง กิโลเมตร ทำหน้าที่เป็นโป่งดินขนาดใหญ่ให้สัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหลักของประเทศนามิเบีย

ในหน้าฝนสรรพสัตว์กระจายตัวไปทั่วพื้นที่ ทว่าในหน้าแล้งทุกชีวิตต่างมุ่งหน้าสู่สิ่งเดียวกัน แอ่งนํ้าที่กระจายตัวอยู่ทั่วพื้นที่อุทยานแห่งชาติกลายเป็นศูนย์กลางของหลากหลายชีวิต ตั้งแต่สัตว์กินหญ้าไปจนถึงผู้ล่าต่างอาศัยแอ่งนํ้าร่วมกัน

เมื่อพื้นที่จำกัดการเผชิญหน้ากันย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยง ม้าลายลงดื่มนํ้าพร้อม ๆ กันทั้งฝูง พวกมันใช้เวลาและค่อย ๆ เดินเข้าสู่แอ่งนํ้าอย่างระมัดระวัง

จังหวะการดื่มนํ้าอย่างสบายอารมณ์เป็นจังหวะที่อันตรายที่สุด เพราะอาจมีสัตว์ผู้ล่ารอซุ่มโจมตีอยู่ ถึงแม้ฉากนี้จะดูสงบนิ่งแต่หากตัวหนึ่งเริ่มตกใจที่เหลือก็พร้อมจะกระโจนหนีทันที

เมื่ออาหารมารวมตัวกันที่แอ่งนํ้า สัตว์ผู้ล่าก็ตามมาด้วยเช่นกัน แอ่งนํ้า Salvadora มีพุ่มหญ้าสูงริมนํ้าเหมาะแก่การซุ่มล่า แม่สิงโตพาลูกทั้งหกมาหลบอยู่ที่พุ่มหญ้าริมนํ้ารอจังหวะเหมาะเพื่อหาอาหารเย็นให้ครอบครัว

สำหรับยีราฟ ความสูงของคอทำให้การก้มดื่มนํ้าเป็นไปอย่างยากลำบาก และเมื่อก้มตัวลงแล้วหากโดนซุ่มโจมตีก็ไม่สามารถจะหนีได้อย่างรวดเร็ว ยีราฟจึงมาดื่มนํ้าไม่บ่อยนัก

ถึงแม้จะระมัดระวังแค่ไหน นักล่าที่เชียวชาญก็ยังมีชัยได้ ซากยีราฟริมแอ่งนํ้านี้เป็นชัยชนะอีกครั้งของผู้ล่า สัตว์ป่าหนึ่งตัวที่ตายลงจะต่อชีวิตให้อีกหลายชีวิต ตั้งแต่ผู้ล่าไปจนถึงสัตว์กินซาก

เรื่องและภาพ ชุตินันท์ โมรา
รางวัลชมเชย โครงการประกวดสารคดีภาพ “10 ภาพเล่าเรื่อง” ปี 2015

โดยนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

แอ่งนํ้า Okaukuejo พร้อมจะเป็นฉากให้เรื่องราวบทต่อไปของชีวิตสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติ Etosha ของนามิเบีย
แอ่งนํ้า Salvadora มีพุ่มหญ้าสูงริมนํ้าเหมาะแก่การซุ่มล่า แม่สิงโตพาลูกทั้งหกมาซุ่มรออยู่ที่นี่
ขณะที่ม้าลายใช้เวลาในการดื่มนํ้าอย่างระมัดระวัง เพราะอาจโดนซุ่มโจมตีจากผู้ล่า
แม่ลูกสปริงบ็อก (springbok) คู่นี้ตัวใหญ่เกือบจะเท่าๆ กันแล้ว แต่ผู้เป็นลูกยังคงต้องกินนมแม่อยู่
แรดเป็นสัตว์หวงถิ่น แรดดำตัวนี้เป็นขาประจำของแอ่งนํ้า แต่วันนี้เวลาประจำของมันถูกรบกวนจากโขลงช้างป่า

อ่านเพิ่มเติม พิทักษ์อุทยานแห่งแอฟริกา

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.