“หากไม่เปิดเปลือยจะไม่รู้ว่ามีความงามใดซ่อนอยู่ หากไม่สังเกต อาจหลงเข้าใจว่า บุรุษนุ่งเตี่ยวยืนกลางลำธารใสเย็น”
ผมเดินทางมาที่อมก๋อย อำเภอริมสุดทางใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ด้วยความเชื่อ จากพื้นราบผ่านเส้นทางคดโค้งหลายสิบยอดดอย หลายสิบหย่อมชุมชนของชาวกะเหรี่ยง 2 กลุ่มใหญ่ที่ตั้งถิ่นฐานมายาวนาน เพื่อหวังทำความเข้าใจในคติความเชื่อและรากทางความคิดต่อศิลปะเฉพาะที่กำลังจะสาบสูญในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า
ในอดีตทุกชุมชนในกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เมื่อบุรุษย่างเข้าสู่วัยฉกรรจ์ ทุกคนล้วนอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดลวดลายโบราณที่มีแบบแผนจากรุ่นสู่รุ่น แต่ต้องแลกมาด้วยความอดทนซึ่งอาจหมายถึงชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในทุกสิบคนจะมีคนเสียชีวิตสองถึงสามคนเสมอ ถือว่าคุ้มค่าที่จะเสี่ยงสำหรับชาวกะเหรี่ยง เป็นความภาคภูมิใจที่จะปรากฏอยู่บนเรือนร่างและคงอยู่ตราบลมหายใจสุดท้ายของชีวิต
สิ่งนี้คือความงามและรูปแบบเฉพาะ ถือเป็นตัวแทนของศิลปะบนเรือนร่างของชายชาวกะเหรี่ยง พวกเขาเรียกสิ่งนี้ว่า หมึกขาลายหรือการสับขาลาย คือการสักบริเวณใต้หัวเข่าขึ้นมาจนถึงบริเวณเอวเหนือสะดือ ขาทั้งสองข้างมีกรอบสี่เหลี่ยมหรือกรอบวงกลมเว้นช่องว่างให้เห็นเนื้อหนังบางส่วน ภายในเป็นลวดลายภาพสัตว์ต่าง ๆ หมึกสีดำที่ใช้มีส่วนผสมจากน้ำดีของสัตว์หลายชนิดร่วมกับว่าน
ปัจจุบันความภาคภูมิใจเหล่านี้กลายเป็นเพียงสิ่งตกค้างจากวันเวลา ชาวกะเหรี่ยงอายุน้อยกว่า 50 ปีในพื้นที่อำเภออมก๋อย คิดเป็นประชากรส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 แทบไม่ปรากฏการสับขาลายอีกเลย
เรื่องและภาพถ่าย ชาญพิชิต พงศ์ทองสำราญ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง จากโครงการประกวดสารคดีภาพ “10 ภาพเล่าเรื่อง” ปี 2016 โดยนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย