ผลงานเข้ารอบ 10 ภาพเล่าเรื่อง Season 8: เรื่องเล่า จากสองสมุทร

ผลงานเข้ารอบ การประกวดภาพถ่ายสารคดี 10 ภาพเล่าเรื่อง Season 8

โดย Supachai Veerayutthanon

แนวคิดของสารคดี

เรื่องราวเกิดขึ้นระหว่างแม่น้ำท่าจีนแม่น้ำที่แตกสายจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลขนานคู่กันมาสู่อ่าวไทย หนึ่งลงสมุทรสาครหนึ่งลงสมุทรปราการ…บนคุ้งน้ำเล็กๆที่แตกสายจากแม่น้ำท่าจีนคือคลองครุ คลองครุโอบล้อมผืนดินผืนหนึ่งเกิดเป็นเกาะขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียก “เกาะสมุทร”ปฐมบทของเรื่องเล่านี้ …เกาะสมุทรเดิมเคยมีป่าจากปกคลุมไปทั่วบริเวณ ปัจจุบันเป็นพื้นที่ตัวอย่างของภัยคุกคามป่าจากแหล่งที่อยู่อาศัยของปลากัดป่ามหาชัย จัดเป็นปัญหาร้ายแรงที่จะส่งผลทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพหมดไป ซ้ำปัญหาที่สองรุมเร้าจากการปนเปื้อนทางชีวภาพ ยังมีตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงป่าจากผลจากโครงสร้างภาษีที่ดินรกร้าง และการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดป่าเพื่อการพนันการพัฒนาปลาให้สวยงาม เกิดการปนเปื้อนในแหล่งอาศัยธรรมชาติ ปัจจุบันจากการสำรวจของนักเพาะเลี้ยง สมาคมปลากัด และนักสำรวจสมัครเล่นพบปลากัดป่ามหาชัยในบริเวณรอยต่อ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ตามแนวเขตป่าจากเท่านั้น ด้วยเหตุเหล่านี้จึงเป็นที่มาของ “เรื่องเล่า จากสองสมุทร” ที่ท่านจะได้รับชมภาพและบทบรรยายในลำดับต่อไป

“บ้านหลังคามุงจาก” บ้านเราปลูกติดกัน ปลูกติดกันพอดี ฟากหนึ่งมนุษย์อาศัย อีกฟากเป็นแหล่งของปลาเฉพาะถิ่นที่ไม่เหมือนใคร…บ้านมนุษย์สมัยก่อนใช้ใบจากสมัยนี้ใช้กระเบื้องมุงแทน ต่างกับบ้านอีกหลังต่อให้นานกี่หมื่นกี่พันปีก็ต้องใช้ใบจากเป็นหลังคาเท่านั้น …สระน้ำในบ้านมนุษย์มีไว้ผ่อนคลายความร้อนและสันทนาการ…แต่สระน้ำใต้ต้นจากคือบ้านของปลา
“แยกจาก…” ตัวอย่างพื้นที่ป่าจากเกาะสมุทร ในจังหวัสมุทรสาคร มีคลองครุโอบล้อมจนเป็นเกาะ แต่เดิมป่าจากขึ้นอยู่ทั้งสองฝั่งคลองจนแน่นขนัด ปัจจุบันโดนถมเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยและโรงงาน ป่าจากที่เคยเป็นเป็นผืนใหญ่เดียวบัดนี้โดนตัดแบ่งแยกจากกัน แบ่งผืนป่าเป็นผืนเล็กผืนน้อย ซอยตัดขาดออกจากกัน…คูคลองบึงหนองน้ำที่เคยเชื่อมต่อไหลเวียนถ่ายเทกันกลับหยุดนิ่ง น้ำเกิดเน่าเสีย สิ่งมีชีวิตภายใต้ป่าจากต้องล้มหายตายจากกันไปในที่สุด
พระราชบัญญัติที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 เก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชนเป็นตัวเร่งปฎิกิริยาในการทำให้ป่าจากหายไปจากพื้นที่ เกิดการเปลี่ยนแปลงถมพื้นที่ป่าเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย…บ้างก็ถมไถนำต้นมะพร้าวไม่กี่ต้นมาปลูกบนพื้นที่ด้วยความเกรงกลัวภาระภาษีที่สูงขึ้น
ปลากัดป่ามหาชัย เป็นปลากัดกลุ่มก่อหวอด ขึ้นทะเบียนเป็นปลากัดชนิดใหม่ของไทย Betta mahachaiensis เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยมีวิวัฒนาการเป็นล้านๆปีมาจากปลากัดป่าภาคกลาง เมื่อก่อนพบได้โดยมากในพื้นที่รอยต่อจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ปัจจุบันพื้นที่ที่พบลดลง เหลือบริเวณสมุทรสาคร กรุงเทพฯ (บางขุนเทียน, แสมดำ) และสมุทรปราการ อาศัยก่อหวอดในพกจาก เพื่อป้องกันการรุกรานของศัตรูตามธรรมชาติ
ในกระพกจาก รอบสะโพกหรือโคนต้นจากสามารถพบปลากัดป่ามหาชัยได้จากหวอดบนผิวน้ำ แต่ในช่วงฤดูแล้งปลากัดอาจอยู่ลึกลงไปในโพรงกอต้นจากที่ตายไปแล้ว เฝ้ารอความชุ่มฉ่ำในยามวสันตฤดูกลับมาเยือนอีกครั้ง
“ลูกช้อน”ใช้เรียก ปลากัดป่าที่ได้จากการจับหรือช้อนจากป่าจาก ตลาดซื้อขายปลากัดมีความต้องการลูกช้อนในการนำเอาไปเป็นพ่อแม่พันธ์ุสำหรับการพัฒนาสายพันธ์ุ ตลอดจนมีนักเลี้ยงนักสะสมปลาเพื่อการอนุรักษ์นิยมชมชอบสายพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม แต่เมื่อแหล่งอาศัยของปลากำลังจะสูญหายปลากัดป่าก็อาจจะสูญหายไปไม่ช้า เมื่อเวลานั้นใกล้เข้ามาถึง…ราคา และความต้องการของปลากัดป่าก็จะถีบตัวสูงขึ้น
ปลากัดแต่เดิมได้มาจากการช้อนลูกปลาธรรมชาติ นำมากัดเล่นเป็นเกมพนัน ต่อมามีการสาดพันธุ์ปลากัดหม้อลงไปในแหล่งน้ำปลากัดป่า…จากภาพคือลูกผสมปลากัดมหาชัยกับปลากัดหม้อซึ่งจับได้ในเกาะสมุทร ลูกผสมที่มีสีโดดเด่นไม่อาจอยู่รอดในธรรมชาติได้ดีเพราะเป็นจุดเด่นให้ศัตรูพบเห็นได้ง่าย การปนเปื้อนในธรรมชาติ อาจเกิดขึ้นเพราะต้องการสร้างสายพันธ์ที่กัดเก่ง แต่ยังคงลักษณะดั้งเดิมทางกายภาพของปลาป่าในท้องที่ไว้ เพื่อความแนบเนียนเวลากัดพนัน แต่ปัจจุบันรัฐบาลไม่ได้สนับสนุนบ่อนพนันปลากัดอีกต่อไป ทำให้การปนเปื้อนแบบนี้มีแนวโน้มลดลง การเพาะเลี้ยงปลากัดให้เป็นปลาสวยงาม เมื่อผู้ซื้อเลิกเลี้ยงบ้างก็มาปล่อยในจุดธรรชาติ ผู้เพาะเลี้ยงเช่นกันอาจมีการปล่อยปลาพัฒนาให้เป็นปลาสวยงาม แล้วทิ้งสู่ธรรมชาติหากปลาที่เพาะรุ่นนั้นมีลักษณะหรือสีไม่ตรงอย่างที่ตั้งใจไว้ หรือว่าเลิกกิจการทำฟาร์มเพาะเลี้ยง
ไม่ว่าจะเป็นปลากัดป่า หรือปลากัดสวยงามในกลุ่มก่อหวอด ตัวผู้รับหน้าที่สำคัญในการสร้างหวอดให้เป็นรังสำหรับสืบพันธ์ุเมื่อตัวผู้กับตัวเมียรัดผสมพันธุ์กันแล้วตัวผู้จะเก็บไข่ที่ปฎิสนธิเข้าไปในหวอด เฝ้าดูแลจนกว่าไข่จะเป็นตัวอ่อน ในช่วงวันที่เป็นลูกปลาตัวเล็กๆแต่ยังไม่สามารถว่ายน้ำได้พ่อปลาก็ยังดูแลเก็บลูกปลาที่หล่นลงพื้นกลับขึ้นมาในหวอดอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
“เราต้องสร้างความจดจำที่ถูกต้องให้กับปลากัดป่ามหาชัย” –จิรพันธ์ พรหมรักษา อุปนายกสมาคมปลากัด ปลากัดป่ามหาชัย มีลักษณะทางกายภาพโดดเด่น สันหัวสีเขม่า เยื่อเหงือกสีดำ แผ่นปิดเหงือก/แก้มแบ่งผ่าสีดำ เกล็ดเขียวหรือน้ำเงินคล้ายปีกแมลงทับแวววาวเกล็ดลำตัวจะเป็นเม็ดสีเรียงรายเป็นแถวคล้ายเมล็ดข้าวโพดที่อยู่บนฝัก ครีบท้อง หรือผู้นิยมปลากัดเรียกกันว่าตะเกียบ เส้นด้านหน้าสีฟ้าเขียว ปลายด้านล่างสีขาวคล้ายถุงเท้า บนพื้นน้ำตาลแดงดำ ครีบก้น หรือชายน้ำเป็นชิ้นเดียว ลวดลายสีแดงน้ำตาลแดงดำ สลับเส้นสีน้ำเงินเขียว ครีบหางพัด ทรงมน หรือ หางโพธิ์ มีเส้นสีหลัก และเส้นย้อนแซม ครีบหลัง หรือกระโดง สีเขียวฟ้า มีลายดำแทรกเป็นบั้งๆ เราสามารถแยกชนิดปลากัดมหาชัยด้วยลักษณะทางกายภาพ สีสัน รูปทรงข้างต้นได้อย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับปลากัดชนิดอื่น หรือแม้แต่ปลากัดมหาชัยที่ได้รับการพัฒนาพันธุ์ ตลอดจนพฤติกรรมลักษณะของปลากัดป่าก็จะแตกต่างจากปลากัดป่าพัฒนา
“เพราะพันธุ์ดั้งเดิมสำคัญต่อการพัฒนาใช้ประโยชน์ในอนาคต และการสูญพันธุ์ไม่ควรเกิดขึ้นอีก ไม่ว่าชนิดใดก็ตาม” – ดร.ชวลิต วิทยานนท์ เป็นช่วงพอดีกับการเรียกร้องของทั่วโลกเกี่ยวกับปฏิญญาเพื่อการปกป้องแผ่นดิน แหล่งน้ำ และมหาสมุทรของเราให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 (หรือ พ.ศ. 2573) และสนับสนุนเครือข่ายการอนุรักษ์ที่นำโดยผู้คนและชุมชนในท้องถิ่น เพื่อปกปักรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ อันไทยเองก็ได้ร่วมลงนามไว้ในชื่อแคมเปญ 30×30 หากภาคส่วนรัฐหรือเอกชนส่วนใดส่วนหนึ่งสามารถปฎิบัติให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง ความหวังที่ว่า ปลากัดมหาชัยจะอยู่รอดได้ก็คงอยู่ไม่ไกล เมื่อปลากัดป่ามหาชัยอยู่รอดย่อมหมายถึงป่าจากได้รับการปกป้อง ลำน้ำที่เข้าถึงป่าจากได้รับการดูแล โลกเองก็อาจจะรอด ไม่สิ มนุษย์เองก็จะรอดพ้นวิกฤตหลายๆอย่างนี้ด้วยเช่นกัน สายน้ำสายชีวิตของปลากัดป่ามหาชัยวันเวลาจะนำพาความเจริญให้ย้อนกลับ หรือจะเดินหน้ากลบเรื่องราวสายสัมพันธ์ของปลา ป่า และสายน้ำไปตลอดกาล
© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.