นาฏยโนรา จิตวิญญาณแห่งแดนใต้

เรื่องและภาพ ชาญพิชิต พงศ์ทองสำราญ (รางวัลชมเชยโครงการ 10 ภาพเล่าเรื่องปี 7)

“ให้รักษาไว้ อย่าให้สูญหาย” เป็นพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ตรัสกับนายเฉลิม แก้วพิมพ์ หนึ่งในโนราสามคนที่มีโอกาสรำถวายหน้าพระพักตร์เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว  เป็นสิ่งยืนยันว่าโนราไม่ใช่เป็นเพียงการร่ายรำ หากเป็น “ราก-วิถี-จิตวิญญาณ” ของนาฏยศาสตร์และศิลปะโบราณแห่งแผ่นดินขวานทอง

เชื่อว่าโนราเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 1820 ตรงกับสมัยสุโขทัยตอนต้น แพร่ขยายจากหัวเมืองพัทลุงสู่เมืองอื่นๆ จนกลายเป็นละครชาตรี  ในอดีตคนนิยมรำโนรากันมาก ลูกหลานจึงเรียกบรรพบุรุษที่นับถือว่า “ครูหมอโนรา” หรือ “ครูหมอตายาย” เมื่อทำดีจะได้รับการปกป้อง หากทำสิ่งไม่ควรจะถูกลงโทษ  ความเชื่อดังกล่าวหยั่งลึกดังเห็นจากพิธีกรรม “โนราโรงครู” อันเชื่อมโยงความสมัครสมานสามัคคี การนับถือครูบาอาจารย์ บรรพบุรุษ และการทำความดีไว้ด้วยกัน  แม้ปัจจุบันทุกฝ่ายจะให้ความสำคัญกับศิลปะแขนงนี้จนเกิดคณะโนราเยาวชนมากมาย แต่คุณค่าแบบเดิมของโนรากำลังเปลี่ยนไป เมื่อเด็กรุ่นใหม่ที่ร่ายรำได้งดงามกลับขับกลอนโนราสุดไม่เป็น การแสดงถูกตัดทอนให้สั้นลงเพื่อเน้นความสนุกสนาน ตลอดจนการปรับรูปทรงและสีสันของชุดโนราให้เปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้เกิดคำถามปลายเปิดต่อการอนุรักษ์และการพัฒนานาฏยศาสตร์โนราในอนาคตข้างหน้า

ในอดีตใช้เพียงผู้แสดงชายล้วนเมื่อยุคสมัยเปิดกว้างผู้หญิงจึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสาน
โนราเกิดขึ้นครั้งแรกที่หัวเมืองพัทลุงก่อน โดยเครื่องแต่งกายมีที่มาจากชุดกษัตริย์ในสมัยโบราณ
เชื่อกันว่าจิตแห่งท่าน “พ่อขุนศรีศรัทธา” สถิตถ์อยู่ ณ วัดท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
วันพุธที่สองของเดือนหกทุกปีผู้คนนับพันนับหมื่น เข้าร่วมพิธีกรรมโนราโรงครูตลอด3วัน2คืนด้วยความศรัทธา
ยากหาข้อพิสูจน์ เสน-เนื้องอกที่นูนขึ้นจากผิวหนังหายได้ด้วยการที่โนราใหญ่เอาหัวแม่เท้าไปแตะในพิธีกรรม
7 / 10
ผู้นับถือจะมีหิ้งบูชาเทริดและหน้าพรานบุญที่บ้าน โดยพรานโนราคือความสนุกสนานที่เรียกรอยยิ้มให้ผู้คน
“กำพลัดหน้าม่าน”คือมนต์เสน่ห์ตราตรึงผู้ชมให้ล่องลอยสู่จินตนาการก่อนโนราจะปรากฏออกมาหน้าเวที
กลุ่มเทพศรัทธาคือการรวมตัวของเด็กรุ่นใหม่มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่สร้างชื่อเสียงในระดับประเทศและนานาชาติ
ในอดีตโนราถูกดูแคลนว่าทำอาชีพเต้นกินรำกิน ปัจจุบันคือความภาคภูมิใจที่ชาวใต้อยากให้ลูกหลานสืบสาน

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.