ชาวสวิสมีเทือกเขา พวกเขาจึงออกไปปีนป่าย ชาวแคนาดามีทะเลสาบ พวกเขาจึงออกไปพายเรือแคนู ส่วนชาวออสเตรเลียมีแคนยอนหรือหุบผาชัน พวกเขาจึงออกไปปีนหุบผา (canyoneering) นี่คือความกล้าบ้าบิ่นอันเป็นลูกผสมระหว่างการไต่เขากับการสำรวจถ้ำ เพียงแต่งานนี้คุณต้องไต่ลงแทนที่จะไต่ขึ้น และบ่อยครั้งที่ต้องปีนป่ายไปตามอุโมงค์ชุ่มโชกและซอกเขาแคบ ๆ ออสเตรเลียต่างจากส่วนอื่น ๆ ของโลกที่มีหุบผาแคบลึกอย่างจอร์แดนหรือคอร์ซิกา ตรงที่มีการสืบสานวัฒนธรรมการปีนหุบผามายาวนานและล้ำลึก จะว่าไปแล้ว นี่อาจเรียกได้ว่าเป็นการเดินป่าชนิดสุดโต่งรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ชาวพื้นเมืองอะบอริจินปฏิบัติมานับหมื่น ๆ ปีก่อนที่ชาวยุโรปจะมาถึงดินแดนแถบนี้ทุกวันนี้ อาจมีชาวออสเตรเลียหลายพันคนนิยมการปีนหุบผา หลายร้อยคนใช้เชือกโรยตัวลงสู่หุบผา แต่คงมีเพียงแค่หยิบมือที่ได้สำรวจหุบผาใหม่ ๆ
นักสำรวจไฟแรงเหล่านี้มักจะมีท่อนขาแข็งแรงแบบนักรักบี้ หัวเข่าเต็มไปด้วยรอยแผลเป็นนับไม่ถ้วน ความอึดต่อน้ำเย็นเยือกราวกับนกเพนกวิน ลีลากระโดดข้ามโขดหินอย่างแคล่วคล่องราวตัววอลลาบี และเต็มใจที่จะคืบคลานเข้าหลุมมืดชื้นแฉะราวกับตัวตุ่น พวกเขาโปรดปรานรองเท้าผ้าใบพื้นยางกางเกงขาสั้นขาด ๆ สนับแข้งเก่า ๆ ขาดวิ่น และเสื้อแจ็กเก็ตผ้าหนาราคาถูก แถมยังนิยมตั้งแคมป์ข้างกองไฟเล็ก ๆ และทำ “แจฟเฟิล” กินทั้งมื้อเช้า กลางวัน และเย็น แจฟเฟิลเป็นแซนด์วิชที่ใส่เครื่องได้สารพัด ปิ้งด้วยแม่พิมพ์เหล็กเหนือกองไฟ เหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาออกค้นหาแคนยอนที่ห่างไกลและเข้าถึงยากสุด ๆ เดฟ โนเบิล นักสำรวจหุบผาผู้มากประสบการณ์ของออสเตรเลียบอกว่า “ยิ่งมืด ยิ่งแคบ ยิ่งลดเลี้ยวเคี้ยวคดเท่าไหร่ก็ยิ่งดีครับ”
ในช่วง 38 ปีที่ผ่านมา โนเบิลได้ “เปิดประเดิม” หุบผาราว 70 แห่งในทิวเขาบลูเมาน์เทนส์ ซึ่งอยู่ห่างจากนครซิดนีย์ไปทางตะวันตกเพียงไม่กี่ชั่วโมงทางรถยนต์ พื้นที่ขรุขระทุรกันดารเกินบรรยายในแถบนี้เต็มไปด้วยหุบผาลึกนับร้อย ที่จริงแล้ว “บลูอีย์ส” (Blueys — ภาษาสแลงที่ชาวออสซีใช้เรียกบลูเมาน์เทนส์) หาใช่ทิวเขา หากแต่เป็นที่ราบดึกดำบรรพ์ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอน ผ่านการกัดกร่อนจากสายน้ำจนเว้าลึก และปกคลุมไปด้วยดงยูคาลิปตัสหนาทึบ
โนเบิล วัย 57 ปี เป็นคนแหวกแนว เขาไม่เคยขับรถยนต์ และขี่จักรยานวันละเกือบ 30 กิโลเมตรผ่านเขตชานเมืองของซิดนีย์เพื่อไปสอนวิชาฟิสิกส์ในโรงเรียนมัธยม แม้ว่าเขาจะทำแผนที่ภูมิประเทศของแคนยอนต่าง ๆ ที่ได้สำรวจพร้อมคำอธิบายไว้อย่างละเอียด รวมทั้งตั้งชื่อให้ด้วยเช่น แคนนิบอล แบล็กคริปต์ ครูซิฟิกชัน และรีเซอร์เร็กชัน ทั้งยังได้นำภาพถ่ายขึ้นเว็บไซต์ของตนเอง แต่ไม่ยอมบอกใครว่าแคนยอนเหล่านั้นอยู่ที่ไหนบ้าง เขาไม่ยอมแม้แต่จะให้ผมดูแผนที่เหล่านั้น ด้วยเหตุผลว่า “นี่เป็นจรรยาบรรณของพวกเราครับ แคนยอนที่เข้าไม่ถึงเหล่านี้สมควรถูกปล่อยไว้เพื่อให้คงความบริสุทธิ์ และเป็นความท้าทายให้นักสำรวจอื่น ๆ ได้ออกค้นหาด้วยตนเอง”
คู่ปรับคนสำคัญของโนเบิลคือนักปีนหุบผานาม ริก เจมีสัน ผู้ที่เมื่อหลายปีก่อนโนเบิลแสดงความไม่พอใจกับการเขียนหนังสือนำเที่ยวที่เผยความลับบางอย่างของภูมิทัศน์แคนยอน เป็นเวลากว่าสิบปีมาแล้วที่เจมีสันซึ่งเป็นครูสอนวิชาฟิสิกส์เช่นกัน ได้พาผมไต่ลงจนสุดหุบผาใหญ่สองแห่งในทิวเขาบลูเมาน์เทนส์เป็นครั้งแรก ทั้งเบนเนตต์ กัลลีและโอรองโก ชายร่างกำยำ นิสัยดี วัย 70 ปีผู้นี้ ยังคงปีนหุบผาและหัวเราะร่วน
การปีนหุบผาของพวกคนผิวขาวตัวเกรียมแดดเริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษ 1940 แต่กว่าที่กลุ่มหุบผาขนาดใหญ่ที่สุดจะได้รับการสำรวจก็ล่วงเลยมาถึงทศวรรษ 1960 เมื่อมีการนำเชือกและอุปกรณ์ปีนเขาสมัยใหม่มาใช้งานดานาอีบรูกแคนยอนที่ซ่อนตัวอยู่ในเขาวงกตใจกลางทิวเขาบลูเมาน์เทนส์ ได้ชื่อว่าเป็นหุบผาที่พิชิตยากที่สุดแห่งหนึ่งในหนังสือนำเที่ยวของเจมีสัน เขาบรรยายถึงหุบผานี้ไว้ว่าเป็น “วันที่แสนยาวนาน” เพราะนักปีนหุบผาต้องใช้เชือกโรยตัวอย่างยากลำบากถึงเก้าช่วงหรือมากกว่านั้น ทั้งเจมีสันและโนเบิลพิชิตหุบผานี้มาแล้ว แต่ไม่มีใครว่างไปกับผมเลย ยกเว้นจอห์น โรเบนส์ ชายร่างผอมแกร่งที่อยากลองดูสักครั้ง
เรานัดกันที่บ้านของเขาในซิดนีย์ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาโรเบนส์ ชายผู้ไว้ผมยาวรุงรัง พูดเสียงเบา และทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านคอมพิวเตอร์อิสระวัย 39 ปี ใช้เวลาสุดสัปดาห์ส่วนใหญ่หลีกหนีจากเมืองไปปีนหุบผากลางป่าแทน โรเบนส์ไม่ต่างจากโนเบิลตรงที่ชอบปั่นจักรยานไปทั่วเมืองอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม เห็นได้ชัดจากต้นขาที่แกร่งราวกับของแลนซ์ อาร์มสตรอง นักแข่งจักรยานชาวอเมริกันเขาอยู่กับภรรยา ชูอิน นี อูอี นักปีนหุบผาชั้นแนวหน้าและโปรแกรมเมอร์มืออาชีพเช่นกัน บ้านกลางเมืองขนาดกะทัดรัดของพวกเขาระเกะระกะไปด้วยอุปกรณ์ปีนผาและเสื้อผ้าเปื้อนโคลนที่กระจัดกระจายปะปนอยู่กับคอมพิวเตอร์ฮาร์ดไดรฟ์ แผ่นดิสก์ ถ้วยกาแฟ และแกรนด์เปียโน
โรเบนส์กับผมขับรถไปทางตะวันตกของซิดนีย์เป็นเวลาสี่ชั่วโมง ตั้งแคมป์กันในอุทยานแห่งชาติคานันกราบอยด์ และออกเดินย่ำไปตามแนวเส้นทางกันไฟของเมานต์ทูแรต ในช่วงย่ำรุ่ง เรามีชุดดำน้ำ เชือก และอาหารกลางวันพร้อมอยู่ในเป้ หลังจากข้ามธารน้ำคานันกราครีก เราเดินดุ่มไปตามป่ารกที่ไม่มีทางเดินชัดเจน อาศัยแผนที่และจีพีเอสนำทางนักปีนหุบผามีพรสวรรค์ในการแทรกตัวผ่านพุ่มไม้หนาทึบ โรเบนส์พลิ้วตัวแทรกผ่านพุ่มไม้ทึบเหล่านี้อย่างคล่องแคล่วจนผมตามแทบไม่ทัน เรากระโดดข้ามไม้ล้มและกิ่งก้านระเกะระกะบนพื้นโดยอาศัยเข็มทิศบอกทิศทาง และลัดเลาะฝ่าป่าละเมาะ ใยแมงมุมขนาดมหึมา รวมทั้งแมงมุมตัวเท่าหนูที่วิ่งพรวดพราดผ่านต้นคอ
โรเบนส์อธิบายเสียงใสว่า “มีแต่แมงมุมที่อยู่บนดินเท่านั้นละครับที่กัดแล้วถึงตาย” ไม่ถึงชั่วโมงดี โรเบนส์ก็พาเรามาถึงยอดน้ำตกดานาอีได้อย่างแม่นยำ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมาที่นี่เลย สายน้ำไหลรี่ไปจนสุดทางก่อนจะทิ้งตัวลงสู่เบื้องล่าง “เราจะเริ่มโรยตัวกันตรงนั้น” โรเบนส์บอก พลางชี้ไปยังต้นไม้ที่ทอดตัวยื่นไปอย่างหมิ่นเหม่เหนือหน้าผา เราจัดแจงสวมชุดดำน้ำที่เหนียวหนืดติดตัว ใส่หมวกนิรภัย ผูกโยงเชือกเข้ากับลำตัว ก่อนจะทิ้งตัวลงสู่ความเวิ้งว้างเบื้องล่าง
ที่ระดับความสูงขนาดนี้ สายน้ำของดานาอีบรูกยังไม่กัดเซาะหน้าผาหินจนกลายเป็นช่องโพรง ทำให้เราต้องโรยตัวผ่านม่านละอองน้ำข้างน้ำตก ฝ่าเท้าลื่นไถลไปตามใบเฟินยักษ์ พอเรามาถึงจุดที่จะโรยตัวช่วงต่อไป ดานาอีบรูกแคนยอนถูกกัดเซาะเป็นรอยแยกกว้างกว่าหนึ่งเมตร แต่ลึกเข้าไปในเนื้อหินถึง 15 เมตร เราโรยตัวลงทางด้านหลังของรอยแยก สายตาจับจ้องไปยังท้องฟ้าที่ปรากฏผ่านร่องหิน
เมื่อถึงจุดโรยตัวช่วงที่สาม เราอยู่ในร่องหินลึกอันมืดมิดพยายามทรงตัวเหนือชะง่อนหินลื่น ๆ ท่ามกลางสายน้ำตกที่ถั่งโถมลงมา โรเบนส์ตะโกนบอกว่า “ถ้าจะไม่ให้เชือกติดเราต้องแทรกตัวผ่านเข้าไปในหินเดี้ยงตัวแสบนั่นให้ได้ “หินเดี้ยงอะไรนะครับ” ผมตะโกนกลับ “ก็หินกลิ้งไง” โรเบนส์ยิ้มกว้าง พยักพเยิดไปทางก้อนหินใหญ่ขนาดเท่าตู้เย็นที่กลิ้งหล่นลงไปค้างอยู่ด้านล่าง นี่เป็นมุกตลกร้ายในแวดวงนักปีนหุบผาที่เรียก “หินกลิ้ง” (roll stone) ว่า “หินเดี้ยง” (ralstone) เพื่อหมายถึงแอรอน รอลสตัน ชาวอเมริกันที่ต้องยอมตัดแขนตัวเอง เพราะถูกก้อนหินใหญ่กลิ้งทับแขนในหุบผาของรัฐยูทาห์
ผนังหินช่วงนี้ปกคลุมไปด้วยมอสส์ การแทรกตัวเข้าสู่ด้านในของก้อนหินใหญ่กลายเป็นเหมือนการเบียดตัวเข้าช่องลิฟต์แคบ ๆ ที่สูงร่วมสิบชั้นท่ามกลางสายน้ำที่เทลงมาไม่ขาดสาย เราต้องเหวี่ยงตัวเข้าหาสายน้ำตกเชี่ยวกราก การเคลื่อนไหวเก้ ๆ กัง ๆ เช่นนี้เหวี่ยงเราทั้งคู่เข้าไปในก้อนหินได้ในที่สุด
ต่ำลงไปจากก้อนหินยักษ์นี้หุบผาเริ่มแคบลง สายน้ำที่ต่อเนื่องราวแพรไหมทอดตัวไปตามโพรงถ้ำแล้วไหลสู่ริมหน้าผา จากตำแหน่งนี้เรายังเหลือระยะทางอีกร่วม 300 เมตร เราโรยตัวผ่านสายน้ำตก เมื่อลงมาได้ครึ่งทาง ผมทำผิดมหันต์โดยการเงยหน้าขึ้นไปมอง สายน้ำที่ถาโถมลงมาทำเอาผมเกือบหัวขาดเสียแล้ว
การโรยตัวอีกสามช่วงที่ตามมาน่าอัศจรรย์ไม่แพ้กันและพาเรามาสู่แอ่งน้ำเล็ก ๆ ที่เย็นเฉียบกลางชะง่อนผาราวกับสระว่ายน้ำที่ผุดขึ้นตรงกลางตึกระฟ้าไม่มีผิด เวลา 10.00 น. เรานั่งกินมื้อเที่ยงกันบนก้อนหินใหญ่ท่ามกลางแสงแดด โดยมีกิ้งก่าหน้าตาคล้ายไดโนเสาร์ตัวยาวร่วมครึ่งเมตร พร้อมหงอนสวยแปลกตาคอยเป็นเพื่อน และดื่มน้ำใสไหลเย็นแสนสดชื่นจากน้ำตกดานาอี เมื่อจุ่มศีรษะลงใต้ผืนน้ำสีเขียวมรกต ผมเห็นแย็บบีเปลือกสีฟ้าซึ่งเป็นกุ้งเครย์ฟิชพื้นเมืองคลานอยู่ตามก้นบ่อ เราจัดแจงถอดชุดดำน้ำออก
โรเบนส์ดูจะสบายอกสบายใจที่จะไปต่อในชุดวันเกิดแต่ผมเลือกสวมกางเกงไนลอนเนื้อหนาแทน สองสัปดาห์ก่อนตอนปีนหุบผาอีกแห่ง ผมพลาดชนเข้ากับต้นสติงกิง (ตำแยชนิดหนึ่ง) ซึ่งฝากรอยผื่นคันและปวดแสบปวดร้อนนานร่วมเดือน ในกรณีของผม เหตุเกิดในจุดที่ไม่สามารถให้ใครเห็นได้
หลังจากนั้นเป็นการโรยตัวสั้น ๆ หลายช่วง ตามด้วยการกระโดดยาว ๆ อีกสองครั้ง โรเบนส์ทิ้งตัวจากก้อนหินส่งเสียงก้องอย่างเบิกบานใจ กางแขนขากว้างกลางอากาศก่อนจะหุบเข้าราวผีเสื้อเตรียมร่อนลงสัมผัสผืนน้ำที่อยู่ต่ำลงไปราวหกเมตร
เมื่อเรามาถึงด้านล่าง ดานาอีบรูกแคนยอนกลายเป็นที่โล่งดารดาษไปด้วยก้อนหินใหญ่สูงชัน ซึ่งโรเบนส์ผู้นุ่งลมห่มฟ้า เว้นแต่มีเป้สะพายหลังและสวมรองเท้าเทนนิส วิ่งลัดเลาะข้ามไปอย่างแคล่วคล่องราวกับว่าเขาเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ขณะที่ผมล้มลุกคลุกคลานครั้งแล้วครั้งเล่า
เมื่อมาถึงจุดที่ดานาอีบรูกบรรจบกับคานันกราครีก การไต่ลงสู่หุบผาของเราก็สิ้นสุดลง แต่เรายังไม่สามารถเฉลิมฉลองได้ นักปีนเขาไต่ขึ้นไปถึงยอดแล้วต้องกลับลงมาฉันใด นักปีนหุบผาเมื่อลงมาแล้วก็ต้องไต่กลับขึ้นไปฉันนั้น เราเดินข้ามลำธาร หยุดพักราวสิบนาที ก่อนจะเริ่มไต่ฝ่าดงไม้ขึ้นไปอย่างลำบากยากเย็น อันที่จริงจะขึ้นทางร่องธารเมอร์เดอริงที่ลาดเอียงก็ได้ แต่เราเลือกทางที่เต็มไปด้วยปุ่มหิน ซึ่งมีชื่อเล่นว่า “แมนสลอเตอร์ริดจ์” หรือสันเขาสังหารแทน ทางที่ปีนขึ้นตัดตรงตั้งฉากเสียจนเราต้องดึงตัวเองขึ้นไปตามกิ่งไม้ทีละกิ่ง
เนื้อตัวเราชุ่มโชกไปด้วยเหงื่อตอนที่มาถึงที่ราบตรงปลายแหลมของทิวเขาแกงเกอแรง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับดานาอีบรูกแคนยอนพอดี ได้เวลาจับไม้จับมือและโห่ร้องกันพอให้สาแก่ใจ จากจุดนี้เราสามารถเดินตามเส้นทางคิลแพทริกคอสเวย์ ซึ่งเดินง่ายทีเดียว (แม้จะมีนักเดินเขาตกจากหน้าผาสูง 70 เมตรบนเส้นทางนี้และเสียชีวิตเมื่อปี 2006 ก็ตาม)
ระหว่างที่เดินทอดน่องกันมา พระอาทิตย์ส่องแสงไล่หลังเรา ผมฝันหวานถึงแจฟเฟิลไส้อะโวคาโด มะเขือเทศ แฮม และเนยแข็งที่จะทำเมื่อถึงแคมป์คืนนี้ ผมทั้งร้อนและเหนื่อยแต่ร่างกายและห้วงคำนึงกลับได้รับการชำระล้างจากการไต่ลงดานาอีบรูกแคนยอน แล้วผมก็เห็นโรเบนส์บ่ายหน้าเข้าไปในทุ่งข้างทาง “จะให้ดูอะไรหน่อย” เขาตะโกนมาโดยไม่เหลียวหลัง
เราเดินอ้อมปุ่มหินทรายที่ยื่นจากชะง่อนผา ทันใดนั้น สิ่งที่ปรากฏเบื้องหน้าเราคือศิลปะบนผนังหินของชาวอะบอริจิน เป็นภาพโครงร่างมนุษย์สีแดงอมส้ม เห็นชัดว่านุ่งลมห่มฟ้า กางแขนกางขา แลดูเบิกบานกันถ้วนหน้า
เรื่อง มาร์ก เจนกินส์
ภาพถ่าย คาร์สเทน ปีเตอร์
อ่านเพิ่มเติม