ช่างภาพเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กับสุดยอด “เทคนิคถ่ายภาพ” ต้นไม้ให้ ว้าว!

ภาพ : ไดแอน คุก, เลน เจนเชล
เรื่อง : อเล็กซา คีฟ

ไม่มีใครต้องกังวลว่าต้นไม้จะยุกยิก เปลี่ยนท่า ทำหน้าหงิก หรือถึงช่างภาพต้องหามุมงามๆ ต่างเวลาอยู่นานเป็นวัน ต้นไม้ก็จะไม่บ่นเพราะยืนเมื่อย  แต่ว่าเราถ่ายภาพต้นไม้ได้ง่ายๆ จริงๆ หรือ  เลน เจนเชล หัวเราะแล้วบอกว่า “ได้ในความฝัน”  เจนเชลกับคู่หูช่างภาพ ไดแอน คุก ร่วมทีมถ่ายภาพภูมิทัศน์ด้วยกันมานาน 25 ปี สร้างงานที่ทั้งเล่าเรื่องเชิงสารคดีและมีคุณค่าเชิงศิลปะ  ทั้งคู่เดินทางทั่วโลกนาน 2 ปีถ่ายภาพต้นไม้เพื่อเล่าถึงความสำคัญของต้นไม้ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และเพิ่งตีพิมพ์ลง เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทยเดือนมีนาคม 2560  เราจะถ่ายภาพต้นไม้ให้งามๆ ได้อย่างไร ลองฟัง 7 สุดยอดเทคนิคถ่ายภาพต้นไม้ของคุกและเจนเชลดู

ซุ้มลวดช่วยเพิ่มคุณค่าทางศิลปะของภาพต้นซากุระ ที่โตเกียว ญี่ปุ่น
  1. ค้นคว้าๆๆๆๆๆๆๆๆ

คำถามแรกตั้งแต่เริ่มถ่ายต้นไม้ไม่ใช่แค่จะถ่ายภาพสวยที่สุดได้อย่างไร แต่ภาพนั้นจะสื่อถึงความสำคัญของต้นไม้แต่ละต้นได้อย่างไรด้วย  เจนเซลแนะว่ามันเชื่อมโยงกับฤดูกาล คุณค่าทางวัฒนธรรม และลมฟ้าอากาศที่ต้นไม้จะออกดอกสะพรั่งสุด  อย่างภาพต้นแอ๊ปเปิ้ลของนิวตัน ทั้งคู่ต้องอีเมลไปมาถึงผู้เชี่ยวชาญหลายรอบเพื่อหาว่าตอนไหนแอ๊ปเปิ้ลจะแดงที่สุด แถมยังใช้เครื่องมืออย่างกูเกิลเอิร์ทดูว่าพื้นที่รอบๆ เป็นอย่างไร และตารางดูตำแหน่งดวงอาทิตย์เพื่อหาว่าแสงเวลาไหนที่ดีที่สุด  ทั้งหมดนี้ทำก่อนออกไปถ่าย

จะถ่ายต้นแอ๊ปเปิ้ลของนิวตันที่ลิงคอร์นเชอร์ อังกฤษ สิ่งสำคัญคือต้องอยู่ถูกที่ถูกเวลา ตอนผลแอ๊ปเปิ้ลมีสีแดงสดที่สุด ก่อนจะร่วงหล่นจากต้น
  1. ตามด้วยอดทนๆๆๆๆๆๆๆๆ

การเดินดูรอบๆ ต้นไม้ในเวลาที่ต่างกันไปเป็นเรื่องจำเป็น  คุกกับเจนเชลให้เวลากับต้นไม้แต่ละต้นอย่างน้อยสองวัน  เพราะรู้สึกว่าทุกต้นถ่ายยากสุด แต่เวลาจะช่วย “เผยความลับ” ให้  ต้นเชอรีที่ไทดัลเบซินตอนที่งามน่าประทับใจที่สุด ก็มีคนมาดูล้นหลามที่สุดด้วย  ถึงทั้งคู่จะตื่นแต่ตีสามเพื่อลุกมาถ่ายภาพ แต่ที่ต้นเชอรีก็มีขาตั้งของช่างภาพกางจองเต็ม  สิ่งที่สองคนทำคือเลือกจุดที่ต้องการ รอจนสว่างเพื่อถ่ายตอนแสงสวยที่สุด และเพิกเฉยกับคำบ่นจากข้างหลัง

ทุกๆ ปี คนเป็นพันๆ จะแห่ไปชมความงามต้นเชอรี่ที่ไทดัลเบซิน วอชิงตันดีซี การหาจุดปลอดคนเป็นเรื่องอาศัยความเพียร
  1. ถ่ายให้เหมือนถ่ายภาพบุคคล

ไม่ว่าจะเป็นคนหรือต้นไม้ ช่างภาพต้องอยากรู้สิ่งที่ตัวเองจะถ่ายภาพให้มากที่สุด ก็เหมือนพอร์เทรตที่อาจเป็นภาพเต็มตัว ครึ่งตัว หรือรายละเอียดอื่นๆ ที่สื่อถึงแก่นของบุคคลนั้นได้ดี  ตอนเห็นต้นมอนเทซูมาไซเปรส ที่เม็กซิโก ก็รู้ว่าไม่มีทางเก็บภาพทั้งหมดด้วยเลนส์มุมกว้าง ซึ่งจะทำให้ภาพบิดเบี้ยวไปด้วย  ทั้งคู่จึงเลือกส่วนโดดเด่นที่สุดคือเส้นรอบวงของต้นแทน  “เหมือนถ่ายภาพใครสักคนที่ตามีเสน่ห์ แค่สนใจแต่ส่วนนั้นพอ”

. เด็กประถมหกจากโรงเรียนโกเลเคียมโนโตลีนีอาเดอันเตเกรายืนเรียงแถวหน้าต้นสนมอนเทซูมาไซเปรส เส้นรอบวง 36 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 11.5 เมตร ค้ำจุนเรือนยอดที่แผ่กว้างเกือบเท่าสนามเทนนิสสองสนาม

  1. ไม่มีอากาศไม่ดี

วันที่ทั้งคู่ไปถ่ายต้นแปะก๊วยให้ลูกที่โตเกียวนั้น ฝนตกหนักมาก แต่แสงของฟ้าหลังฝนกลับช่วยฉายสีเหลืองของใบแปะก๊วยที่ตกกระจายบนพื้นจนสดใส  “ถ้าเป็นวันแดดดี ภาพคงมีคอนทราสต์มากเกินไป” คุกว่า “ข้อดีของการไปเป็นสองคนคือคนหนึ่งถ่ายภาพ อีกคนถือร่มกันฝนให้กล้อง”

วันถ่ายต้นแปะก๊วยในสวนของวัดโซะชิงะยะคิชิโมะจิน โตเกียว ที่ฝนตกฉ่ำกลับเป็นข้อได้เปรียบ เพราะพอแดดหุบ ใบแปะก๊วยก็มีสีสุกสว่างขึ้นมา
  1. อย่าเป็นทาสของ “นาทีทอง”

กฎเหล็กข้อสำคัญของช่างภาพคืออย่าถ่ายภาพตอนเที่ยงที่ตะวันตรงหัว ควรถ่ายด้วยแสงแรกกับแสงสุดท้ายตอนตะวันขึ้นกับตะวันตก  แต่มันไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ได้ภาพดีที่สุดในเวลาอื่นๆ ของวันด้วย  ตอนที่คุกกับเจนเชลเจอจุดที่เหมาะสุดสำหรับถ่ายต้นสนบริสเซิลโคนไพน์ กลับมีควันจากไฟป่าในพื้นที่ใกล้เคียงลอยมา ทั่วไปถือว่าควันเป็นสิ่งรบกวนภาพ แต่ในกรณีนี้ควันไฟป่าช่วยบังแสงแดดแรงกล้าตอนบ่ายสองและช่วยทำให้บรรยายกาศมีมิติ  “ทุกรูปที่เราถ่ายคือการแปลความของแสงและดึงสิ่งดีสุดจากต้นไม้”

รุ้งเหนือต้นเบาบับดาร์บี เวสเทิร์นออสเตรเลีย
  1. ตั้งกล้องให้พร้อม รอสิ่งไม่คาดฝัน

สิ่งไม่คาดฝันอย่างหมอกในป่า รุ้งน่าตะลึง ฝูงนกบินข้ามหัว กลุ่มเด็กนักเรียนทัศนศึกษา ล้วนช่วยเพิ่มเรื่องราวให้ภาพ  หลังจากถ่ายภาพจากทุกมุมทุกเวลาในวันแรกแล้ว ช่างภาพทั้งคู่จะนั่งดูภาพจากแล็ปท็อป แล้วปรับภาพเพื่อจะเตรียมถ่ายวันรุ่งขึ้นให้ดีกว่าเดิม

จากตำนาน “ต้นโอ๊ควิวาห์” ในซานซาบา เท็กซัส เป็นจุดที่สภาชาวอเมริกันพื้นเมืองประชุมกันและจัดพิธีกรรม ซึ่งรวมทั้งงานแต่งงาน ผู้ตั้งรกรากรุ่นแรกยังสืบทอดประเพณีดังกล่าวด้วยการเดินทางไปยังต้นโอ๊คนี้ด้วยม้าและรถม้าขนาดเล็กเพื่อสาบานใต้ต้นไม้วัย 400 ปี
  1. จงเปิดใจ อดทน ทำการบ้าน ค้นคว้า พอไปถึงต้นไม้ก็จงสร้างสรรค์ให้สุดฤทธิ์

สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้ยากจะเดาลมฟ้าอากาศ  จงยืดหยุ่น  ช่างภาพทั้งสองเคยหมดเวลาไปสองวันเพื่อถ่ายต้นโอ๊ควิวาห์ แต่ฝนตกหนักติดต่อกันและไม่มีแสงเลย จนทั้งคู่เกือบถอดใจและขับรถออกไป  “พอมองในกระจกแล้วเห็นแสงไฟท้ายสาดไปที่ต้นไม้  เราก็มองหน้ากันแล้วบอกว่า ‘ไฟท้ายนี่แหละ’”  ภาพที่มีรถจอดอยู่ยังให้อารมณ์รถของคู่รักที่จอดอยู่ใต้ต้นไม้ด้วย

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.