มนุษย์ทุกคนต้องนอนหลับ ร่างกายของเราไม่สนใจว่าขณะนั้นเราจะงานยุ่ง, มีเรื่องราวให้กังวลมากแค่ไหน หรือแม้แต่อยู่ในสถานที่สุดอันตรายก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วความง่วงก็เอาชนะเราได้ทุกครั้ง ทว่าบรรดา นักสำรวจ หลายคนข่มตาหลับลงได้อย่างไรเมื่ออยู่เหนือพื้นดินหลายพันฟุต หรือแม้กระทั่งบริเวณหัวเรือกลางทะเล เรื่องนี้ช่างน่าฉงนนัก
การนอนหลับคือกลไกของร่างกายและสิ่งมีชีวิตทุกชนิดใช้เพื่อซ่อมแซมเซลล์ ปรับระดับสารเคมี กำจัดของเสีย ไปจนถึงการเตรียมสมองให้พร้อมสำหรับกิจกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในวันต่อมา Corey Arnold ชาวประมงและช่างภาพของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก รู้ดีว่าการนอนหลับมีประโยชน์ต่อร่างกายมากแค่ไหน แต่ในระหว่างฤดูจับปลา เมื่อต้องเลือกระหว่างการนอนกับกิจกรรมที่เพิ่มรายได้มากถึงหลายพันดอลลาร์สหรัฐฯ แน่นอนว่า Arnold เลือกอย่างหลัง เขาฝืนความง่วงและยังคงมุ่งมั่นทำงานต่อไป ทว่าแม้จะงีบหลับเป็นช่วงเวลาสั้น 1- 2 ชั่วโมงแล้ว นั่นก็ไม่เพียงพอสำหรับสมองที่ทำงานมาอย่างหนัก
“หลังจากที่ร่างกายหลั่งอะดรีนาลีนมาทั้งวัน สมองของคุณเหนื่อยล้า” เขากล่าว และในความฝันเขายังคงเผชิญกับคลื่นที่ซัดโถมเข้าใส่เรือประมงไม่ต่างจากในความเป็นจริง บางครั้งการนอนหลับก็กลายมาเป็นการฉายภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นซ้ำอีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ Arnold จับปูได้ เขาใช้เวลาทั้งวันหมดไปกับการนับจำนวนปูที่ดึงออกมาจากอุปกรณ์จับ ก่อนจะโยนลงไปยังที่เก็บของเรือ “ทีนี้เมื่อคุณหลับตาลง คุณก็จะเริ่มนับปูใหม่อีกครั้ง มัน…บ้ามาก”
Arnold เคยชินกับการหลับสนิทเนื่องจากร่างกายหมดเรี่ยวแรง เมื่อปีที่ผ่านมา หลังใช้เวลาจับปลาไป 30 ชั่วโมง เขากับกลุ่มเพื่อนก็กลับมาขึ้นฝั่ง “เรามีภาวะ Dream state (ภาวะฝ้าฟางของระดับความรู้สึกตัวร่วมกับมีอาการประสาทหลอน) เราปรบมือดีใจอย่างบ้าคลั่ง กู่ร้องตะโกน” ก่อนจะตั้งแคมป์ตรงท่าเรือนั่นเองและผล็อยหลับไปอย่างหมดแรงท่ามกลางแสงอาทิตย์
Jaime Devine นักวิจัยด้านการนอนหลับจากสถาบัน Walter Reed Army ในรัฐแมริแลนด์ ระบุว่านี่คือผลกระทบจากการอดนอน บางครั้งทหารที่เธอพูดคุยด้วยอ่อนเพลียเสียจนพวกเขาคิดว่าตนเองนอนหลับไปแล้ว ทั้งๆ ที่ยังตื่นอยู่ นั่นคือความอ่อนล้าของร่างกายและสมองในระดับที่คนธรรมดาไม่เคยพบเจอ
ทว่าสำหรับนักสำรวจคนอื่นๆ การข่มตาหลับบนยอดเขาสูง หรือในถ้ำลึกใต้ดินหาใช่ประสบการณ์เลวร้าย ตรงกันข้ามพวกเขาหลับได้หลับดีเลยทีเดียว
“มันเป็นคืนที่ผมหลับดีที่สุดตลอดชีวิตที่ผ่านมา 38 ปีเลยครับ” Robbie Shone ช่างภาพและนักสำรวจกล่าวถึงประสบการณ์ในถ้ำของมาเลเซีย ตัวเขาและทีมตั้งแคมป์ในจุดที่มีชื่อเรียกกันว่า Hotel California มันเป็นห้องผนังหินปูนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และมีพื้นเป็นทรายหนานุ่ม
“เป็นทรายคนละแบบกับที่เราเคยเจอบนหาด” เขาอธิบาย “มันร่วนมาก แต่ก็แน่น ความรู้สึกเหมือนอยู่บนพรมเลย” พื้นที่เขานอนในตอนนั้นให้สัมผัสที่สมบูรณ์แบบจน Shone ไม่ต้องใช้เบาะรองนอนเลยด้วยซ้ำ และในวันต่อๆ มาเมื่อการสำรวจสิ้นสุดลง พวกเขาจะพากันกลับไปที่ห้องนั้น แขวนโคมไฟกับผนังถ้ำ เปิดเพลง และชงชา
Devine มองว่ากิจวัตรประจำวันและความสงบเช่นนี้คือกุญแจสำคัญของการนอนหลับที่มีประสิทธิภาพ หาใช่ขึ้นอยู่กับสถานที่ “มันยากที่จะหยุดความคิดเราไม่ให้ฟุ้งซ่าน” เธอกล่าว และการผ่อนคลายสมองก่อนการนอนหลับทุกครั้ง จะช่วยให้การนอนหลับนั้นๆ ดีขึ้น โดยมีเป้าหมายง่ายๆ คือ “หยุดคิดเรื่องที่จะทำให้เครียด” เธอกล่าว “ปัญหาก็คือแค่พูดมันง่าย แต่ทำจริงมันยาก”
เรื่อง Alejandra Borunda
อ่านเพิ่มเติม