อินสตาแกรม @natgeo มียอดผู้ติดตามพุ่งทะลุ 100 ล้านคน

อินสตาแกรม @natgeo มียอดผู้ติดตามพุ่งทะลุ 100 ล้านคน

ต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของภาพถ่ายเกือบ 20,000 ภาพที่ผู้ติดตาม อินสตาแกรม 100 ล้านคนของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ชื่นชอบที่สุด

เรื่อง  ซิดนีย์ คอมบ์ส

นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ประกาศความสำเร็จหลังยอดผู้ติดตาม (follower) ใน อินสตาแกรม @natgeo พุ่งทะลุ 100 ล้านคน  ที่ผ่านมา ช่างภาพ 135 คนในเครือข่ายของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก โพสต์ภาพรวมกันเกือบ 20,000 ภาพ  แต่ละภาพถ่ายทอดเรื่องราวและช่วงเวลาแห่งความประทับใจที่ช่างภาพประสบพบเจอระหว่างการเดินทาง ภาพถ่ายเหล่านี้มีพลังเชื่อมโยงผู้คนต่างภาษาและวัฒนธรรมได้ราวกับเป็นภาษาสากล

การบอกเล่าเรื่องราวเปรียบเหมือนลมหายใจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก มาตั้งแต่นิตยสารฉบับแรกได้รับการตีพิมพ์เมื่อกว่า 130 ปีก่อน ไม่เพียงเท่านั้น ยังเปรียบเหมือนการเดินทางที่ไม่เคยหยุดนิ่ง จากยุคแรกๆ ภาพถ่ายใช้เวลานานกว่าจะปรากฏแก่สายตาของผู้อ่าน และช่างภาพก็แทบไม่ได้รับคำติชมหรือการตอบสนองจากผู้อ่านเลย วันนี้ ด้วยแพลตฟอร์มอย่างอินสตาแกรม ช่างภาพสามารถแบ่งปันภาพถ่ายและผลงานกับผู้อ่านได้โดยตรง และการตอบสนองก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก

ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ภาพถ่ายที่ช่างภาพในเครือข่ายของเราช่วยกันโพสต์บนอินสตาแกรม @natgeo ได้รับยอดไลก์มากกว่า 4,000 ล้านครั้ง และความคิดเห็นหรือคอมเมนต์มากถึง 20 ล้านความคิดเห็น ภาพถ่าย เช่น ภาพสุนัขกับรอยเท้ามนุษย์ของวินเซนต์ มูซี มีผู้คลิกไลก์ถึงเกือบหนึ่งล้านครั้ง และมากกว่า 3,000 ความคิดเห็นที่อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวส่วนบุคคล “ผมชอบความเชื่อมโยงที่เราสามารถสื่อสารกับผู้อ่านได้โดยตรง เป็นอะไรที่พิเศษ และคุณรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนา แทนที่จะเป็นคนพูดอยู่ฝ่ายเดียว” มูซี กล่าว

ต่อไปนี้คือภาพถ่ายบางส่วนที่ผู้ติดตามอินสตาแกรมของเราชื่นชอบมากที่สุด

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์โลก : ความเชื่อมโยงอันแท้จริงระหว่างคนกับธรรมชาติ

Joseph Wachira เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าวัย 26 ปี ปลอบประโลมเจ้าซูดาน แรดขาวเหนือเพศผู้ตัวสุดท้ายของโลก ไม่นานก่อนที่มันจะหมดลมหายใจเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2018 (ภาพถ่ายโดย AMI VITALE (@AMIVITALE), NAT GEO IMAGE COLLECTION)
แพนด้าที่ได้รับการเพาะเลี้ยงที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าวู่หลง ได้รับการดูแลโดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสมนุษย์โดยตรงเพื่อให้พวกมันสามารถดำรงชีวิตในธรรมชาติได้ หากได้รับการปล่อยสู่ธรรมชาติ ผู้ดูแลรายนี้ต้องสวมชุดแพนด้าและทาเนื้อตัวด้วยกลิ่นจากมูลและปัสสาวะของแพนด้า ระหว่างการตรวจสุขภาพเจ้าแพนด้าน้อยตัวนี้ (ภาพถ่ายโดย AMI VITALE (@AMIVITALE), NAT GEO IMAGE COLLECTION)
“ฟ้าใหม่” ลูกช้างอายุสองขวบ ในอ้อมกอดของ เล็ก ผู้ก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์ช้างในจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย ซึ่งให้การดูแลช้างที่ได้รับความช่วยเหลือจากการแสวงหาผลประโยชน์และการได้รับบาดเจ็บ (ภาพถ่ายโดย RENA EFFENDI/@RENAEFFENDIPHOTO)

สัตว์โลกผู้อยากรู้อยากเห็น: มนุษย์หาใช่สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่สนใจใคร่รู้ในโลกรอบตัว

หมาป่าชื่อ “บลู” ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน ความสามารถพิเศษอย่างหนึ่งของมันคือ การปรับตัวให้เข้ากับฝูงหมาป่าอื่นๆ ในอุทยาน (ภาพถ่ายโดย RONAN DONOVAN /@RONAN_DONOVAN)
“ซือเสว” แพนด้ายักษ์เพศเมียอายุ 12 ปี ขณะสำรวจที่อยู่ของมันในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติวู่หลงประเทศจีน ความที่แพนด้ากินอาหารที่ให้พลังงานต่ำ พวกมันจึงมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรง (ภาพถ่ายโดย AMI VITALE /@AMIVITALE)
แมวน้ำสีเทาพับครีบราวกับกอดอกอยู่ในอ่าวเมน ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่กำลังถูกคุกคามจากมลพิษ การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย การประมงเกินขนาด และเรืออวนลาก ตลอดหลายสิบปี (ภาพถ่ายโดย BRIAN SKERRY /@BRIANSKERRY)

มองสู่เบื้องบน : นี่คือช่วงเวลาที่โลกกับสรวงสรรค์มาบรรจบกัน

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่คุณควรจองที่นั่งริมหน้าต่างเวลาขึ้นเครื่องบิน ภาพนี้ถ่าย ณ จุดใดจุดหนึ่งเหนือตอนกลางของอ่าวเม็กซิโก (ภาพถ่ายโดย Jimmy Chin /@JIMMYCHIN)
สิงโตจ่าฝูงเพศผู้พักผ่อนขณะพระอาทิตย์ตกดิน ณ ทะเลทรายคาลาฮารี ซึ่งได้รับปริมาณฝนระหว่าง 12-25 เซนติเมตรในแต่ละปี  (ภาพถ่ายโดย KEITH LADZINSKI /@LADZINSKI)

ผู้คนบนเส้นด้าย : ความเสี่ยงแฝงอยู่ในการค้นพบทุกครั้ง

ฉลามเสือเผชิญหน้ากับนักดำน้ำในบาฮามาส  ฉลามเสือมักถูกมองว่าเป็นสัตว์ดุร้ายไร้สมองและเป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่วิทยาศาสตร์เผยว่า ฉลามชนิดนี้เป็นสัตว์ที่มีความซับซ้อนและมีวิวัฒนาการที่สูงมาก (ภาพถ่ายโดย BRIAN SKERRY /@BRIANSKERRY)
ช่องแสงคู่อันเป็นเอกลักษณ์ของถ้ำ Kacna jama ในประเทศสโลวีเนีย เป็นทางเข้าสู่ถ้ำที่ยาวที่สุดเป็นอันดับสามของประเทศ และมีความลึกเกือบ 300 เมตร (ภาพถ่ายโดย ROBBIE SHONE /@SHONEPHOTO)

ดำดิ่งสู่ใต้เกลียวคลื่น:  โลกที่เรายังรู้จักน้อยมากอยู่ลึกลงไปเบื้องล่าง

ประชากรเต่าตนุในหลายพื้นที่ของมหาสมุทรแปซิฟิกมีจำนวนลดลง แต่ที่น่าทึ่งคือจำนวนประชากรของพวกมันในน่านน้ำนอกชายฝั่งหมู่เกาะกาลาปาโกสกลับคงที่ (ภาพถ่ายโดย THOMAS P. PESCHAK /@THOMASPESCHAK)
ภูเขาน้ำแข็งรูปเห็ด เปล่งประกายระยิบระยับนอกชายฝั่งเกาะ Ilulissat ทางตะวันตกของเกาะกรีนแลนด์ ภูเขาน้ำแข็งลูกนี้มีจุดกำเนิดอยู่ที่ Ilulissat Icefjord ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก และเป็นธารน้ำแข็งที่มีพลวัตมากที่สุดแห่งหนึ่งในซีกโลกเหนือ (ภาพถ่ายโดย JENNIFER HAYES /@JENNIFERHAYESIG)

เพราะเราคือมนุษย์ : ความท้าทายและความสุขของการใช้ชีวิต

ตอนที่ Avelino ออกมาสารภาพกับครอบครัวว่า เขาเป็นเกย์  พ่อของเขาโกรธมาก ทว่าสิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนไป “ทุกคนในบ้านหันหน้าคุยกัน… และทุกคนต่างต่อต้านพ่อ ผมยังจำความรู้สึกวันนั้นได้ดี วันที่พ่อนั่งลงกับพวกเรา แล้วเอ่ยปากขอโทษ และขอให้ Neston (แฟนหนุ่ม) ย้ายมาอยู่กับเรา” Avelino เปิดใจ (ภาพถ่ายโดย KARLA GACHET /@KCHETE77)
จากคนที่เคยใช้ชีวิตกึ่งเร่รอนสู่การเป็นคุณพ่อมือใหม่ ทำให้ความหมายของคำอย่างเช่น “บ้าน” “ครอบครัว” และ “ความรัก” เริ่มมีความหมายลึกซึ้งขึ้น ไมเคิล คริสโตเฟอร์ บราวน์  ช่างภาพ กล่าวถึงภาพนี้ (ภาพถ่ายโดย Michael Christopher Brown /@MICHAELCHRISTOPHERBROWN)

มองโลกผ่านเลนส์:ไปจนสุดหล้าเพื่อให้ได้มาซึ่งภาพถ่าย 

“ผมคิดอยู่นานว่าจะถ่ายภาพเพนกวินจักรพรรดิในคอโลนีอันห่างไกลของพวกมันบนน้ำแข็งทะเลนอกชายฝั่งแอนตาร์กติกาอย่างไรให้แตกต่างออกไป และสแตนด์ที่ใช้ล่ากวางนี่แหละเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่ผมนึกถึง” ฟรานส์ แลนทิง ช่างภาพ เล่า (ภาพถ่ายโดย Frans Lanting / @FRANSLANTING)
ช่างภาพ พอล นิกเคลน เก็บภาพหมีเคอร์โมดี ซึ่งรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “spirit bear” หรือ หมีศักดิ์สิทธิ์ โดยมีมัคคุเทศก์ชนพื้นเมืองอเมริกันคอยให้คำแนะนำ พวกเขาตั้งชื่อเล่นให้หมีเคอร์โมดีตัวนี้ว่า “Friendly Bear” เนื่องจากมันดูไม่เป็นพิษเป็นภัยแม้แต่น้อย แม้ว่าพวกเขาจะเข้าไปใกล้ก็ตาม

***แปลและเรียบเรียงโดย รชตะ ปิวาวัฒนพานิช
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย 


อ่านเพิ่มเติม

ผลงานยอดเยี่ยมจากเวที ประกวดภาพถ่าย National Geographic Photo Contest 2018

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.