เมฆ : เมื่อศิลปินเนรมิตเมฆลอยฟ่องแล้วถ่ายภาพไว้

เมฆ อาจเป็นสิ่งที่เราเห็นจนชินตา แต่ศิลปินคนหนึ่งสร้างเมฆขึ้นเองเพื่อจุดประกายให้เราชื่นชมความงามอันไม่จีรังของมัน

เรื่อง  แดเนียล สโตน

ภาพถ่าย  แบร์นาวต์ ชมิลเดอ

ด้วยเครื่องพ่นหมอกและละอองน้ำ แบร์นาวต์  ชมิลเดอ ศิลปินชาวดัตช์  เนรมิตปุยเมฆลอยฟ่องแล้วถ่ายภาพไว้

ชมิลเดอสร้างปุยเมฆในที่ที่ธรรมชาติไม่เคยส่งมา ชิ้นงานประติมากรรมของศิลปินชาวดัตช์ผู้นี้คงอยู่เพียงห้าวินาที หรืออย่างมากไม่เกินสิบวินาที ก่อนที่ทุกสิ่งจะอันตรธานไป

โครงการที่ยังดำเนินอยู่ของชมิลเดอที่เรียกว่า “นิมบัส” (Nimbus) นี้ มุ่งสำรวจผลเชิงทัศนมิติที่เกิดจากเมฆ พื้นที่ภายในโบสถ์หรือพิพิธภัณฑ์ดูแปลกตาออกไปเมื่อมีเมฆเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ละฉากยิ่งดูน่าสนใจเพราะจะปรากฏให้เห็นเพียงไม่กี่อึดใจ

องค์ประกอบในการสร้างเมฆของชมิลเดอมีเพียงหมอกควันและละอองน้ำ เขาต้องการเพียงพื้นที่ปิดที่เย็นและชื้น  ไม่มีอากาศถ่ายเท หาไม่แล้วเมฆจะไม่มีทางก่อตัวและสลายไปในพริบตา เขาเริ่มจากพ่นละอองน้ำเข้าไปในอากาศ  แล้วจึงเปิดเครื่องพ่นหมอกที่ปล่อยอนุภาคเล็กๆ ออกมา ไอน้ำจะควบแน่นรอบๆ อนุภาคเหล่านั้น

ชมิลเดอพยายามเลี้ยงเมฆที่กำลังก่อตัวให้ได้รูปทรงกว้างราวสามเมตรและสูงสองเมตร จากนั้นเขาจะถอยออกมานานพอให้ช่างภาพเก็บภาพได้หลายภาพ เมื่อเมฆสลายตัวไปและอากาศปลอดโปร่ง เขาจะเริ่มลงมือสร้างเมฆอีกครั้ง ทำเช่นนี้อยู่หลายสิบรอบจนกว่าจะพอใจกับผลที่ได้ หลังจากนั้น เขาจะรีทัชภาพถ่ายที่ได้เพื่อลบอุปกรณ์ต่างๆ ออกไป

แม้จะมีคนร้องขอให้เขาไปช่วยสร้างเมฆบ่อยๆ เช่น ในงานปาร์ตี้ แต่ชมิลเดอมักปฏิเสธ เขาบอกว่าจะสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ก็ต่อเมื่อสถานที่นั้นเปิดโอกาสให้เขาสร้างอะไรแปลกใหม่แบบศิลปินทั่วไป สำหรับชมิลเดอ หัวใจสำคัญของงานนี้ไม่ใช่ความอัศจรรย์ของเมฆที่สร้างขึ้น หากอยู่ที่ความไม่จีรังของมันต่างหาก

งานแต่ละชิ้นที่สร้างขึ้นจึงเป็นเรื่องของ “การอยู่ถูกที่ ถูกเวลา” ชมิลเดอบอกก่อนจะทิ้งท้ายว่า

“ถ้าคุณดูภาพนั้นอยู่ นั่นแปลว่า สิ่งที่คุณเห็นอยู่นั้นไม่มีอยู่แล้ว”

แบร์นาวต์ ชมิลเดอ สร้างเมฆขึ้นในสถานที่แปลกๆ เพื่อถ่ายภาพไว้ เช่น พิพิธภัณฑ์หิมาลัยแห่งนี้ในมหานครเซียงไฮ้ โดยใช้เพียงเครื่องพ่นหมอกและละอองน้ำ (เขาจะรีทัชภาพเพื่อลบอุปกรณ์ที่ใช้ออกไปในภายหลัง)  ภาพถ่าย: นีนา เฉิน
ผลงานที่ชมิลเดอสร้างสรรค์ขึ้นปรากฏในหอศิลป์ต่างๆ เช่น ปุยเมฆที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเดอครูน ในเมืองอาร์เนม ประเทศเนเธอร์แลนด์ (ภาพถ่าย: กัสซันเดอร์ เอฟทิงค์ ชัตเตนแกร์ก)
เมฆลอยต่ำในศูนย์ทัศนศิลป์ เมืองคาร์โลว์ ประเทศไอร์แลนด์ (ภาพถ่าย: ไมเคิล ฮอลลี)
ฉากที่ชมิลเดอใช้มีตั้งแต่วิจิตรอลังการ เช่น “ห้องเขียว” หรือ Green Room ที่ศูนย์ศิลปะการแสดงและอนุสรณ์สงคราม ในแซนแฟรนซิสโก (บน) ไปจนถึงเรียบหรูอย่างห้องจัดนิทรรศการที่โรงแรมมาเรียคาเพล (ล่าง) ในเมืองโฮร์น ประเทศเนเธอร์แลนด์  (ภาพถ่ายบน: อาร์. เจ. มูนา และล่าง: กัสซันเดอร์ เอฟทิงค์ ชัตเตนแกร์ก)

ที่เมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนี เมฆล่องลอยอยู่ซังค์ปีเตอร์โคล์น วิหารยุคกอทิกตอนปลาย ซึ่งใช้ประโยชน์ทั้งทางจิตวิญญาณ ศิลปะ และดนตรี (ภาพถ่าย: กัสซันเดอร์ เอฟทิงค์ ชัตเตนแกร์ก)
ช่างภาพ กัสซันเดอร์ เอฟทิงค์ ชัตเตนแกร์ก ถ่ายภาพเมฆที่ชมิลเดอสร้างขึ้นในโรงอาบน้ำไดโอเคลเชียนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติโรมัน ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี (ภาพถ่าย: แอนกริต เกลเนอร์)

อ่านเพิ่มเติม

ทำความรู้จักกับ “เมฆ” แต่ละประเภท

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.