วันนั้นเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิ ลมแรงพัดเหนือยอดเขาที่มีหิมะปกคลุมในเมือง Upernavik ประเทศกรีนแลนด์ คนท้องถิ่นมองว่าอุณหภูมิ – 30 องศาก็ถือว่ายังเป็นอากาศที่อบอุ่นในยามเย็นของเดือนมีนาคม ดังนั้นพวกเขาจึงออกไปจัดการกับกิจธุระของตัวเองในช่วงที่อาทิตย์กำลังตกดิน และเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ช่างภาพ เว่ยหมิน ชู (Weimin Chu) ประจำการอยู่ตรงเนินใกล้สนามบิน ที่ทำให้มองเห็นภาพของบรรดาบ้านเรือนสีสันสดใสที่อยู่เบื้องล่าง
“ผมมองเห็นโครงสร้าง สี อารมณ์ของภาพที่ดีจากมุมนี้” เขาเล่าย้อนไป “โดยเฉพาะในช่วงที่แสงของดวงอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้า”
ชูหวังว่าเขาจะได้ถ่ายภาพผู้คนกำลังเดินเล่นหรือภาพบรรยากาศที่เด็กๆ กำลังเล่นสนุก แต่เขากลับตื่นเต้นที่ได้เห็นครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่งกำลังเดินอยู่ภายใต้ไฟริมถนนแทน แม้จะเป็นช่วงเวลาที่แสงน้อย เขาก็บันทึกภาพที่แลเห็นไว้ด้วยความแม่นยำ และได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในการประกวดภาพถ่ายเชิงท่องเที่ยว โดย เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก สหรัฐอเมริกา ประจำปี 2019
ความเป็นพื้นที่ห่างไกลของเมือง Upernavik นั้นทำให้ชูประทับใจเป็นอย่างยิ่ง “ผมสามารถมองเห็นพื้นดินสีขาวโพลนที่ปกคลุมได้ด้วยน้ำแข็งและหิมะระหว่างที่กำลังนั่งเครื่องบิน แต่ทันใดนั้นผมก็เห็นจุดแสงอบอุ่นขนาดใหญ่ตรงส่วนที่ไกลออกไป มันคือเมือง Upernavik หมู่บ้านอันสวยงามในบรรยากาศที่เงียบสงบแห่งนี้มันเหนือจินตนาการของผม มันเป็นช่วงเวลาที่ ‘ว้าว’ สำหรับผม”
เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่ชูมายังเกาะแห่งนี้เพื่อคอยจับภาพทิวทัศน์อันเรียบง่าย และในปี 2019 เขาเริ่มบันทึกเรื่องราวของผู้คนและชุมชนในเกาะกรีนแลนด์ เริ่มจากการไปที่เมือง Upernavik ในเดือนมีนาคม หมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือแห่งนี้มีคนอาศัยอยู่ราว 1,000 คน ทำให้มันเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่เป็นลำดับ 13 ของประเทศ
ในตอนแรก ชูตั้งใจว่าจะอยู่ที่นี่ราวสองวัน แต่เขาก็ยืดทริปนี้ออกไป “ผมต้องอยู่ที่นี่ราวหนึ่งอาทิตย์เพราะว่ามันไม่มีเที่ยวบินออกจากที่นี่ ซึ่งผมถือว่าโชคดี เพราะผมถ่ายภาพที่ชนะการประกวดนี้ในวันที่ 6 ของการอยู่ที่ Upernavik ถ้าหากผมใช้เวลากับที่นี่เพียงแค่สองวัน ผมคงไม่ได้เจอที่แห่งนี้” ชูกล่าว
ชูใช้เวลาอยู่ราว 6 วันเพื่อมองหาสถานที่รอบๆ เมือง Upernavik เพื่อโอกาสในการถ่ายภาพ ทำความรู้จักกับคนท้องถิ่นในห้องเก็บสินค้าในพื้นที่อ่าวหลักของเมือง เขาหวังที่จะถ่ายภาพทิวทัศน์อันกว้างใหญ่ของเมืองและวางตำแหน่งตัวเองให้ไกลจากถนนพอที่จะไม่รบกวนการถ่ายภาพชีวิตประจำวันของที่แห่งนั้น หลังจากถ่ายภาพได้ราว 2-3 ภาพในช่วงเวลาพลบค่ำ ชูเปิดค่าความไวแสง (ISO) และรูรับแสง เพื่อหวังจะจับภาพการเคลื่อนไหวของผู้คน หลังจากนั้น มีครอบครัวหนึ่งออกมาจากบ้าน และเขาก็ได้จับภาพช่วงเวลานั้นไว้
“มันให้ความรู้สึกที่ประสานกันเป็นหนึ่งเดียว พื้นที่ตรงนั้นปกคลุมไปด้วยสีขาว หิมะเย็นยะเยือก และสีฟ้าจางๆ ในช่วงพลบค่ำทำให้ภาพดูเป็นโทนเย็นขึ้นไปอีก แต่แสงจากหน้าต่างอาคารบ้านเรือน แสงไฟถนน และครอบครัวนี้ก็ทำให้บรรยากาศดูอบอุ่นขึ้นมาอีกครั้ง ผมชอบคอนทราสต์และอารมณ์ของบรรยากาศนี้ ในเวลานั้นผมเลยถ่ายภาพไปอย่างต่อเนื่อง พยายามที่จับช่วงเวลาที่ดีที่สุดไว้ให้ได้” เขากล่าว
ชูเริ่มต้นถ่ายภาพในช่วงการท่องเที่ยวเมื่อตอนที่เรียนมหาวิทยาลัย และหลังจากทำงานในฐานะวิศวกรมาได้สามปี เขาเริ่มมุ่งไปที่การถ่ายภาพอย่างจริงจัง จากนั้นเขาได้เข้าร่วมการประกวดถ่ายภาพของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก “เมื่อตอนที่ผมเริ่มเรียนถ่ายภาพ ภาพของผมก็ได้รับรางวัลขวัญใจบรรณาธิการ (Editor’s choice) ในการประกวดของปี 2012 มันเป็นแรงบันดาลใจให้กับผมอย่างมาก และการถ่ายภาพกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผมตั้งแต่นั้น” ชูเล่าย้อนไป
ในตอนนี้ เขาวางแผนที่จะกลับไปที่กรีนแลนด์เพื่อถ่ายภาพซึ่งเน้นไปที่ชุมชมของชาวกรีนแลนด์ และความสัมพันธ์ของผู้คนที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
“ชีวิตสมัยใหม่ส่งผลกับวัฒนธรรมอย่างแตกต่างกันออกไปในแต่ละที่” ชู กล่าว
เรื่องโดย SARAH POLGER
ภาพถ่ายโดย WEIMIN CHU