ในอนาคต หุ่นยนต์บำบัด อาจกลายมาเป็นผู้ช่วยและคอยปลอบประโลมใจผู้สูงอายุ เพื่อตอบสนองความต้องการผู้ดูแลคนชรา ซึ่งนับวันยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นทุกที
ตอนที่โกลดี เนจาต์ เริ่มพัฒนาหุ่นยนต์เมื่อปี 2005 เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการขอพบผู้คนในวงการแพทย์และการลงทุน ด้วยความหวังจะได้สาธิตหุ่นยนต์ ต้นแบบสุดไฮเทคของเธอ ในขณะนั้น วงการสาธารณสุขยังลังเล “แต่ตอนนี้เป็นคนละเรื่องเลยค่ะ” เนจาต์ อาจารย์สาขาวิศวกรรมเครื่องยนต์ที่มหาวิทยาลัยโทรอนโต บอก “มีคนโทรหาฉันจากทั่วโลกและถามว่า เมื่อไรหุ่นยนต์จะพร้อมใช้งาน”
จักรกลชนิดพิเศษของเนจาต์นี้เรียกว่า หุ่นยนต์บำบัด หรือหุ่นยนต์ช่วยเหลือทางสังคม (socially assistive robot) ได้รับการออกแบบมาเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ และอาจช่วยพวกเราได้ในยามเร่งด่วน นั่นคือดูแลผู้สูงอายุ คาดว่า ประชากรอายุมากกว่า 80 ปีจะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าทั่วโลก จาก 143 ล้านคนเป็น 426 ล้านคน ภายในปี 2050
หุ่นยนต์บำบัด ดังกล่าวมีประโยชน์มากเป็นพิเศษสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อม เพราะหุ่นยนต์จะถูกตั้งโปรแกรมให้ช่วยเหลืองานได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่เตือนให้กินยาจนถึงพาผู้ป่วยออกกำลังกาย หุ่นยนต์ของเนจาต์ยังสามารถนำเกมที่กระตุ้นความจำอื่นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้กระบวนการคิดอยู่เสมอ
อีฟ เจลลี ช่างภาพชาวฝรั่งเศส ผู้ได้แรงบันดาลใจจากศักยภาพของหุ่นยนต์ในการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ใช้เวลาสองปีในการสร้างหนังที่ชนะรางวัลเรื่อง Year of the Robot ในปี 2019 ซึ่งบันทึกปฎิสัมพันธ์ระหว่างคนชรากับหุ่นยนต์ช่วยเหลือทางสังคมในสถานดูแลคนชราระยะยาวในฝรั่งเศสและเบลเยียม ในหนัง เจลลีและมักซีม จาคอปส์ ผู้ช่วย ทำให้หุ่นยนต์ดูมีความเป็นมนุษย์ด้วยการปล่อยให้คนกับหุ่นได้ตอบโต้กันอย่างอิสระ ในฉากที่ดูเหมือนมาจากโลกอนาคต เราเห็นคนเล่นเปียโน เต้นรำ และกระทั่งเปิดอกเล่าความลับให้เพื่อนหุ่นยนต์ของตัวเองฟัง
หลังถ่ายหนังเสร็จ เจลลีเริ่มงานถ่ายภาพที่เป็นโครงการต่อเนื่อง เขาขอให้คนที่ปรากฏในหนังนึกถึงภาพฝันที่มีหุ่นยนต์อยู่ด้วยว่า พวกเขาอยากทำอะไรมากที่สุด เจลลีบันทึกการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับหุ่นยนต์หลังสังเกตการณ์อยู่หลายเดือน โครงการนี้ไม่ได้หวังว่าจะช่วยบำบัด หรือแสดงให้เห็นศักยภาพที่แท้จริงของหุ่นยนต์ แต่เป็นการสำรวจขีดความสามารถของมนุษย์ในการสร้างความสัมพันธ์กับหุ่นยนต์
ที่ผ่านมา นักวิจารณ์แสดงความวิตกว่า หุ่นยนต์ผู้ดูแลอาจทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนหายไปและทำให้คนตกงาน แต่เป้าหมายของหุ่นชนิดนี้ คือการเข้ามาช่วยงานดูแลมนุษย์ ไม่ใช่เข้ามาแทนที่ ไบรอัน สกัสเซลลาติ หัวหน้าห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์ด้านสังคมที่มหาวิทยาลัยเยล บอก เขาทดสอบหุ่นยนต์กับผู้ป่วยหลายประเภทและพบว่า ปฏิสัมพันธ์รายวันกับหุ่นยนต์ช่วยให้เด็กที่เป็นโรคออทิซึมสเปกตรัม (autism spectrum disorder) พัฒนาการสบตาและมีทักษะทางสังคมดีขึ้น
มารีเบล พิโน นักจิตวิทยาการรับรู้ ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการโบรกาลีฟวิงที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกรตเทอร์ปารีส หนึ่งในสถานที่ที่ใช้ถ่ายภาพประกอบสารคดีเรื่องนี้ อธิบายถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับหุ่นยนต์ในภาพถ่ายว่าเป็นของจริงที่ไม่ได้เสริมแต่ง ภายหลังใช้เวลากับหุ่นยนต์แล้ว หลายคนรู้สึกผูกพันกับพวกมันขึ้นมา
สกัสเซลลัตติบอกว่า ประโยชน์ข้อหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ หุ่นยนต์ช่วยดูแลคนตามแบบที่กำหนดไว้ได้และเป็นไปตามความต้องการ นับวันความต้องการใช้หุ่นแบบนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้น
เรื่อง คลอเดีย คัลบ์
ภาพถ่าย อีฟ เจลลี
คลอเดีย คัลบ์ เขียนเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์แห่งอัจฉริยภาพ ปาโปล ปิกัสโซ และเลโอนาร์โด ดา วินชี ที่ตีพิมพ์ใน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก อีฟ เจลลี ถ่ายภาพหมู่เกาะพิตแคร์นในนิตยสารฉบับภาษาฝรั่งเศส
*** อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมกราคม 2563
สารคดีแนะนำ