ดอกไม้ : ของขวัญที่ไม่มีวันโรยรา

ดอกไม้ : ของขวัญที่ไม่มีวันโรยรา

ในการหาของขวัญวันเกิดที่ดีกว่าเดิม ช่างภาพใช้ความคิดสร้างสรรค์ประดิษฐ์ช่อ ดอกไม้ จากจินตนาการอันลึกล้ำ และจะคงอยู่ไปแสนนาน

แทนที่ อาเบลาร์โด มอเรลล์ ช่างภาพร่วมสมัย จะให้ดอกไม้เป็นของขวัญวันเกิดแก่ภรรยาเหมือนปีที่ผ่านๆ มา เขากลับตัดสินใจเลือกสิ่งที่จะอยู่ยงกว่า อย่างภาพถ่ายดอกไม้

ช่างภาพผู้เกิดในคิวบาและพำนักอยู่ในบอสตัน เริ่มจากถ่ายภาพหุ่นนิ่ง (still life) ของช่อดอกไม้หลากชนิด แล้วจัดดอกไม้ใหม่ ก่อนจะถ่ายอีกภาพ เขาทำกระบวนการนี้ซ้ำๆ อีก 20 ครั้ง แล้วจึงนำภาพที่ได้มาซ้อนกัน

ภาพหุ่นนิ่งของดอกไม้คือตัวแบบคลาสสิกสำหรับช่างภาพ แต่มอเรลล์ยังมีชื่อเสียงจากแนวทางการถ่ายภาพที่โดดเด่นอีกอย่าง นั่นคือการใช้กล้องทาบเงา (camera obscura)  ซึ่งเป็นเทคนิคการถ่ายภาพกลับหัวผ่านรูเข็มโดยฉายภาพลงบนพื้นผิวในห้องมืด  ดังนั้น เขาจึงมองโปรเจกต์ที่เขาตั้งชื่อว่า ดอกไม้แด่ลิซา เป็นโอกาสสำหรับทั้งการขยายขอบเขตความคิดสร้างสรรค์ และการประดิษฐ์ของขวัญให้กับ ลิซา แมกเอเลนีย์ ผู้เป็นภรรยา

ภาพแต่ละภาพเป็นแรงบันดาลใจให้ภาพอื่นๆ ตามที่มอเรลล์เท้าความหลังว่า  “ผมคิดตลอดว่า ถ้าผมถ่ายภาพนี้ได้ ผมก็น่าจะถ่ายภาพอื่นได้” เมื่อปี 2017 หลังใช้เวลาสี่ปี เขาปิดงานนี้ด้วยภาพถ่าย 76 ภาพ ซึ่งเหมือนกันตรงที่ใช้ดอกไม้เป็นสื่อกลาง แต่กลับแตกต่างในแง่ความคิดสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัด

ช่อดอกไม้อาจแห้งเหี่ยวไปนานแล้ว แต่ภาพถ่ายยังอยู่ต่อไปใน Flower for Lisa: A Delirium of Photographic Invention หนังสือรวบรวมผลงานของโปรเจกต์ชื่อเดียวกันซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2018 ในบทส่งท้าย แมกเอเลนีย์ อธิบายความแตกต่างของมุมมองที่เธอและมอเรลล์มีต่อภาพถ่ายเหล่านั้น “ฉันเห็นพวกมันเป็นเหมือนเครื่องเตือนความทรงจำที่ช่วยตอกย้ำว่า สิ่งที่เชื่อมโยงเราทั้งสองคนเข้าด้วยกันมีอยู่จริง เธอเขียนไว้  “ส่วนเอบมองพวกมันเป็นเครื่องมือที่ช่วยบำรุงรักษาความรักและพันธสัญญาระหว่างเรา”

มอเรลล์สร้างเค้าโครงใบหน้าของลอรา ผู้เป็นลูกสาว ด้วยแผ่นไม้อัดและกลีบกุหลาบ
เพื่อหาวิธีถ่ายภาพดอกไม้อย่างสร้างสรรค์ อาเบลาร์โด มอเรลล์ ฉายภาพทิวทัศน์ลงบนประตูบานเก่า
บนและล่าง: สีและอุปกรณ์ประกอบช่วยให้มอเรลล์จัดภาพดอกไม้ซึ่งชวนให้นึกถึงภาพวาดอันโด่งดังและลักษณะเด่นทางศิลปะที่ถูกขับเน้นด้วจินตนาการของเขา

มอเรลล์สังเกตเห็นว่า ภาพวาดแบบดัตช์จากสมัยศตวรรษที่สิบเจ็ดมักวางตำแหน่งแจกันไว้ในที่ที่ดูหมิ่นเหม่ เขาจัดวางดอกไม้ให้กระจายบนฉากหลัง แล้ววางฉากนี้ราบไปกับพื้นเพื่อให้ดูเหมือนดอกไม้ร่วงหล่นลงพื้น
เทคนิคการถ่ายภาพซ้อนทำให้ภาพนี้ดูเหมือนภาพวาดสีน้ำ การใช้โปรแกรมปรับแต่งภาพช่วยให้มอเรลล์ซ้อนภาพช่อดอกไม้ช่อเดียวกัน แต่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ทำให้เกิดภาพสะท้อนที่เรียกว่า โกสต์เอฟเฟ็กต์
มอเรลล์ตั้งชื่อภาพนี้ว่า “ตาม พิศวาสหลอน ของฮิตช์ค็อก” (After Hitchcock’s Vertigo) เพราะช่อดอกไม้ในภาพดูเหมือนช่อดอกไม้ที่ปรากฏในภาพยนตร์คลาสสิกปี 1958 เรื่องนี้

***อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ใน นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2563


สารคดีแนะนำ

24 ภาพถ่ายน่าทึ่งของสายรุ้งจากทั่วทุกมุมโลก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.