โฉมใหม่นิวยอร์ก

เรื่อง พีต แฮมิลล์
ภาพถ่าย จอร์จ สไตน์เมตซ์

นานมาแล้ว ตอนยังเป็นเด็กชายวัยแปดขวบ ขณะยืนอยู่บนหลังคาอาคารห้องเช่าสูงสามชั้นในย่านบรุกลิน ผมได้สัมผัสกับความรู้สึกอัศจรรย์ใจเป็นครั้งแรก

ผมยังไม่เคยขึ้นไปบนหลังคาตามลำพังมาก่อน แม่ผมบอกว่า มันเป็นหน้าผาที่มนุษย์สร้างขึ้นและอันตรายเกินไป

ตอนโพล้เพล้ พอเพื่อนฝูงแยกย้ายกันกลับบ้านไปกินข้าว ส่วนแม่ผมก็ออกไปซื้อของพอดี ผมเสี่ยงไต่บันไดขึ้นไปอย่างกล้าๆกลัวๆ ปลดกลอนประตู แล้วก้าวออกไป ชั่วขณะนั้นเองที่ผมรู้สึกว่าชีวิตผมเปลี่ยนไปแล้ว

ทางทิศตะวันตก ไกลโพ้นเลยอ่าวออกไป ดวงอาทิตย์กำลังคล้อยลงสู่ภูมิทัศน์ที่ผมรู้จักแค่ในชื่อ “เจอร์ซีย์” หมู่เมฆเคลื่อนตัวช้าๆ ส่วนที่อยู่ใกล้ดูดำทะมึน ส่วนที่อยู่ไกลออกไปมีขอบเรืองแสงสีส้ม เรือบรรทุกสินค้าแล่นเอื่อยๆทิ้งเส้นสายสีขาวไว้บนผืนน้ำดำมืด ในแมนแฮตตัน หมู่อาคารสูงกำลังกลืนหายไปกับฟ้าที่มืดสลัวลง ไม่มีแสงไฟสว่างไสวในยามสงครามเช่นนั้น เบื้องล่างผมเป็นหลังคาบ้านราวห้าสิบหลัง ทั้งหมดรวมกันเป็นภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจของรูปทรง สีสัน และเงามืดเร้นลับ ทอดยาวเหนือขอบเขตของสิ่งที่เราเรียกกันว่า “ย่านนี้”

ผมพยายามนึกหาถ้อยคำ แต่ไม่มีคำใดผุดขึ้นมา ตอนนั้นผมยังบรรยายความรู้สึกตัวเองไม่เป็น แน่นอนครับว่า คำคำนั้นคือ “ความอัศจรรย์ใจ”

ความอัศจรรย์ใจอีกมากจะตามมาหลังจากนั้น ตลอดช่วงชีวิตอันรุ่มรวย เข้มข้น และยาวนาน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นได้ด้วยการข้ามพรมแดนในจินตนาการของย่านตัวเองออกไป “สู่นิวยอร์ก” อย่างที่เราพูดกันเมื่อเอ่ยถึงแมนแฮตตัน

เกาะกัฟเวอร์เนอร์สซึ่งเคยเป็นที่ตั้งฐานทัพ ได้รับการเปลี่ยนโฉมให้กลายเป็นสวนสาธารณะประดับประดาด้วยเส้นสายลวดลายทางเดินที่มองเห็นทัศนียภาพของอ่าวและอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ

ในช่วงหลายปีต่อมา ผมตกหลุมรักการเดิน หนังสือการ์ตูน การวาดรูป ทีมเบสบอลบรุกลินด็อดเจอร์ และการอ่าน รวมถึงบทเพลงของบิลลี ฮอลิเดย์, เอดิต ปียัฟ และที่โปรดปรานที่สุดคือ แฟรงก์ ซีนาตรา ผมถังแตก เช่นเดียวกับคนอื่นๆทุกคนในยุคและย่านนั้น  บางครั้งในช่วงวัยรุ่น ผมจะนั่งรถไฟใต้ดินไปลงสถานีที่ไม่เคยไปมาก่อน และแค่เดินเล่น เรื่อยเปื่อย ผมจะมองดูบ้านเรือน อาคารห้องเช่า โรงเรียน ร้านค้า โบสถ์ และสุเหร่ายิว พลางพยายามนึกภาพชีวิตของผู้คนเหล่านั้นซึ่งผมไม่รู้จัก แน่นอนว่าผมกำลังฝึกหัดเพื่อจะกลายเป็นนักเขียนโดยไม่รู้ตัว

ผมไม่ใช่เด็กแปดขวบหรือสิบแปดอีกต่อไปแล้ว ผมอายุแปดสิบปี และถ้าเดี๋ยวนี้ความตื่นตาตื่นใจกับอัศจรรย์ของนิวยอร์กจะหายากยิ่งกว่าทุกยุคสมัยที่ผ่านมา นั่นไม่ใช่เพราะความเย้ายวนใจอันวูบไหวของอารมณ์ถวิลหาอดีต พวกเรา ชาวนิวยอร์กรู้ดีว่า เราอาศัยอยู่ในเมืองอันเปี่ยมไปด้วยพลวัต ที่มีการเปลี่ยนแปลง วิวัฒนาการ และการก่อสร้างเกิดขึ้นตลอดเวลา บางครั้งในทางที่ดีขึ้น แต่บางครั้งก็ไม่เป็นเช่นนั้น

แน่นอนว่าย่านต่างๆแปรเปลี่ยนไป และเรายังสูญเสียบางย่านไปด้วยเช่นกัน

ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ ผมหยั่งรากลึกอยู่ในนิวยอร์ก แต่ผมยังเป็นคนพเนจรในดินแดนต่างถิ่นด้วย ผมชอบเม็กซิโกเพราะผู้คนที่นั่น รวมทั้งดนตรี อาหาร และวรรณกรรม นอกจากนี้ ผมยังไปใช้ชีวิตอยู่ในบาร์เซโลนา โรม เปอร์โตริโก และไอร์แลนด์ ผมไปทำข่าวสงครามที่เวียดนาม ไอร์แลนด์เหนือ นิการากัว และเลบานอน ในทุกหนแห่งที่ไป ผมเป็นนักเดิน ผมพยายามมองให้เห็น ไม่ใช่แค่ดู

เมื่อสองสามปีก่อน ผมอ่านถ้อยคำของเชมัส ฮีนีย์ กวีรางวัลโนเบลชาวไอริช ซึ่งช่วยให้ผมมองเห็นบางสิ่งเกี่ยวกับนิสัยใจคอของตัวเอง รวมทั้งของคนอื่นๆที่เหมือนผม “หากคุณมีโลกใบแรกที่มั่นคง และมีความสัมพันธ์ชุดหนึ่งที่มั่นคง” เขาเขียนไว้ “เช่นนั้นแล้ว ในบางซอกหลืบของคุณ คุณจะพบอิสรภาพเสมอ คุณจะเดินทางไปไหนก็ได้ในโลก เพราะคุณรู้ว่าคุณเป็นคนที่ไหน คุณมีบ้านให้กลับไปหาได้เสมอ”

บ้านที่ผมกลับไปหาได้เสมอยังคงเป็นนิวยอร์กอย่างไม่ต้องสงสัย

ทว่าขณะย่างเข้าสู่ความคลุมเครือแห่งวัยชราที่ซึ่งความอัศจรรย์ใจมักเจือด้วยความเสียดาย บ่อยครั้งหัวใจผมหนักอึ้งเพราะสิ่งที่เห็นนิวยอร์กอันเป็นที่รักของผมกำลังอยู่ในสภาพย่ำแย่  แน่นอนว่าหลายสิ่งหลายอย่างดีขึ้น นิวยอร์กมั่งคั่งและสมบูรณ์แข็งแรงกว่าเมื่อสมัยผมยังเด็ก แต่โฉมหน้าทางสถาปัตยกรรมของที่นี่ดูจืดชืดห่างเหินขึ้น เป็นมนุษย์น้อยลง และดูเหมือนกำลังเย้ยหยัน ในแมนแฮตตัน เหล่าตึกระฟ้าซึ่งผุดขึ้นมาใหม่กำลังบดบังท้องฟ้า

พายุฤดูหนาวขับเส้นสายรูปทรงเรขาคณิตของทางเดิน ร้านกาแฟ และลานสเก็ตน้ำแข็งที่เลอแฟรกเซ็นเตอร์แอตเลกไซด์ในสวนสาธารณะพรอสเปกต์ปาร์กของบรุกลิน

จากมุมมองของสมาชิกตัวจริงคนหนึ่งของบรรดาสามัญชนคนเดินถนน อาคารใหม่เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นตัวอย่างของอัจฉริยภาพทางวิศวกรรม ไม่ใช่ความงามทางสถาปัตยกรรม แม้แต่ในย่านบรุกลินอันเป็นที่รักของผม ก็กำลังมีการก่อสร้างอาคารทรงกล่องขนาดใหญ่แห่งใหม่ๆอยู่เช่นกัน ความอัศจรรย์ของผืนฟ้าไร้ขอบเขตของบรุกลินกำลังอันตรธานไป ทุกวันนี้จะเห็นได้เฉพาะจากตึกชั้นสูงๆที่อยู่ไกลๆเท่านั้น

ตึกใหม่ๆที่สร้างขึ้นแทนที่ตึกเก่าและเป็นที่คุ้นเคย เสียดแทงสูงลิ่วถึง 90 ชั้นสู่อากาศเหนือนิวยอร์กราวกับพุ่งขึ้นไปกัดกินท้องฟ้าอย่างหิวกระหาย เกาะแมนแฮตตันทั้งเกาะ ตั้งแต่ย่านอินวูดทางเหนือสุดจรดย่านแบตเตอรี่ปาร์กทางใต้สุด แลดูระยิบระยับวับวาวไปด้วยตึกใหม่ๆ วันไหนแดดแรง ผนังด้านนอกอาคารที่เป็นกระจกทำเอาผู้คนตาพร่ากันถ้วนหน้า

แน่นอนว่าเป็นไปได้ที่ในอนาคตอันไกลโพ้น ตึกเสียดฟ้าใหม่ๆเหล่านี้จะเฉิดฉายด้วยพลังความรู้สึกทำนองเดียวกันเมื่อกาลเวลาผ่านไป ก็คงเป็นไปได้ แต่ผมยังสงสัยอยู่ หน้าตาตึกพวกนี้ส่วนใหญ่ว่างเปล่า ผนังด้านหน้าตึกบ่งบอกชัดแจ้งถึงการต่อต้านความเขลา การซุบซิบนินทา ความบกพร่อง หรือความต้องการของมนุษย์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แฝงเร้นด้วยประเด็นทางชนชั้นมาแต่ไหนแต่ไร ทว่าสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่นี้ดูเหมือนตกอยู่ภายใต้การครอบงำของเงินก้อนโต  มีรายงานว่าผู้อยู่อาศัยตามตึกเหล่านี้ปกติมาอยู่กันเพียงชั่วครั้งชั่วคราว จึงไม่น่าเป็นไปได้ว่าจะมีใครเป็นสมาชิกสมาคมครูและผู้ปกครอง หรือคณะกรรมการชุมชน  หรือรู้จักเจ้าของร้านขายอาหารตรงหัวมุมถนนของตัวเอง แต่ผมอาจจะผิดก็ได้  พวกเขาอาจเป็นมนุษย์ที่ดีเลิศ หัวเราะร่าเริง และจิตใจโอบอ้อมอารี แต่ถึงอย่างไรก็ดูไม่มีแนวโน้มว่าจะให้กำเนิดหรือสร้างนักเขียนอย่างเฮนรี เจมส์, อีดิท วอร์ตัน หรือหลุยส์ ออกินคลอส ผู้รู้จักแปลงชีวิตอภิสิทธิ์ชนของตนให้เป็นบทกวีร้อยแก้ว ผู้มาใหม่อาศัยอยู่บนปราการสูงเสียดฟ้า ตัดขาดจากเราทุกคนที่เหลือ พวกเขาน่าจะรู้สึกเหงาและอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวอย่างแน่นอน


อ่านเพิ่มเติม สวนสวรรค์เหนือ แมนแฮตตัน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.