ภาพถ่ายที่เผยให้เห็นชีวิตภายในห้องพักทรงลูกบาศก์ขนาดจิ๋วแห่งอนาคต

ภาพถ่ายที่เผยให้เห็นชีวิตภายในห้องพักทรงลูกบาศก์ขนาดจิ๋วแห่งอนาคต [ ตึกแคปซูลนะกะงิน ]

นอกเขตย่านกินซาอันหรูหราของกรุงโตเกียวเป็นที่ตั้งของ ตึกแคปซูลนะกะงิน (Nakagin Capsule Tower) สิ่งก่อสร้างแปลกตาซึ่งเคยเป็นวิสัยทัศน์แห่งอนาคตของญี่ปุ่น

ตึกนี้ออกแบบโดยคิโช คุโระกะวะ ผู้บุกเบิกสถาปัตยกรรมแนว “metabolist” ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในช่วงทศวรรษ 1960 ที่เน้นแนวคิดเรื่องอาคารแบบพลวัตและสามารถปรับให้เหมาะกับอนาคตที่ก้าวย่างอย่างรวดเร็วและค่อยๆพัฒนากลายเป็นเมืองอย่างต่อเนื่อง

เมื่อมองจากด้านนอก ตึกนี้ดูเหมือนเครื่องซักผ้าที่กองซ้อนกัน โดยประกอบด้วยแกนคอนกรีตสองแกน สูง 11 และ 13 ชั้น ยึดติดกับลูกบาศก์ที่ “สามารถเคลื่อนย้ายได้” ห้องทรงลูกบาศก์แต่ละห้องมีพื้นที่ราว 10 ตารางเมตร ซึ่งสร้างสำเร็จรูปมาจากโรงงาน จากนั้นนำมาติดกับแกนโดยใช้สลักเกลียวแรงดันสูง 4 ตัว ห้องที่เรียกว่าห้องแคปซูลเหล่านี้ตกแต่งด้วยข้าวของเครื่องใช้พื้นฐานที่จำเป็นและห้องน้ำขนาดเท่ากับห้องน้ำบนเครื่องบิน

ตึกแคปซูลนะกะงินก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 1972 และวางแผนว่าจะมีอายุการใช้งาน 25 ปี เมื่อคุโระกะวะเสียชีวิตในปี 2007 ผู้อยู่อาศัยในตึกนี้ที่รู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการที่คอนกรีตกะเทาะและท่อน้ำรั่ว จึงลงคะแนนให้รื้อตึกทิ้ง แล้วสร้างอพาร์ตเมนต์แบบดั้งเดิมขึ้นแทน แต่พอถึงปี 2008 แผนการต้องหยุดชะงักเพราะตลาดหลักทรัพย์ล่ม

ช่างภาพ โนะริตะกะ มินะมิ เริ่มบันทึกเรื่องราวชีวิตและชะตากรรมของตึกนะกะงินในปี 2010 ในช่วงเจ็ดปีต่อมา เขากลับไปที่ตึกนี้เกือบ 10 ครั้ง “แต่ละครั้งที่ไปเยือนตึกนี้ ผมเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างทั้งที่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและผู้พักอาศัยครับ” เขาบอก

เจ้าของห้องแคปซูลบางคนย้ายออกไปหรือเปลี่ยนห้องพักเป็นสำนักงาน ขณะที่คนอื่นๆเลือกจะปรับปรุงห้องและยังคงพักอาศัยอยู่ที่นั่น ด้านมินะมิหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพผู้พักอาศัยโดยตรง เขาชอบให้การมีตัวตนของคนเหล่านั้นแสดงออกผ่านทางสิ่งของต่างๆมากกว่า

เรื่อง เย่หมิง

ภาพถ่าย โนะริตะกะ มินะมิ

ตัวอย่างห้องแคปซูลที่มีผู้อยู่อาศัยแบบเต็มเวลา
อีกมุมหนึ่งของห้องแคปซูลห้องเดียวกัน แสดงให้เห็นการแก้ไขเพิ่มเติมบนตู้เก็บของดั้งเดิม
เจ้าของปรับปรุงห้องแคปซูลนี้ และยังคงรักษาหน้าตาตู้เก็บของให้เหมือนเดิมเป็นส่วนใหญ่
ตู้เก็บของในห้องแคปซูลห้องนี้มีโทรทัศน์สี โคมไฟ โทรศัพท์ นาฬิกา วิทยุ และเครื่องเสียง
พื้นที่ที่จำกัดในห้องแคปซูลแต่ละห้อง (ราว 10 ตารางเมตร) ท้าทายผู้เป็นเจ้าของในการจัดการพื้นที่นั้นๆ
แต่ละแคปซูลสร้างสำเร็จรูปมาจากโรงงาน ก่อนจะนำมายึดกับตึก และติดตั้งห้องน้ำเล็กๆตรงสุดปลายห้องด้านหนึ่ง
แม้ว่าห้องแคปซูลทุกห้องจะสร้างขึ้นโดยมีรายละเอียดเหมือนกันในปี 1972 แต่บางห้องก็ได้รับการปรับปรุงขนานใหญ่มาตั้งแต่นั้น
มุมห้องแคปซูลนี้แสดงชั้นวางของขนาดใหญ่ที่ผู้พักอาศัยสร้างขึ้นด้วยไม้เก่า
ห้องแคปซูลยังใช้เป็นสำนักงานสำหรับธุรกิจขนาดเล็กด้วย ตึกแคปซูลนะกะงินตั้งอยู่บนทำเลทองในกรุงโตเกียว
ห้องแคปซูลนี้เคยใช้เป็นสำนักงานออกแบบเมื่อปี 2015
ห้องแคปซูลยังสามารถเป็นพื้นที่ในการแสดงออกถึงความสนใจของเจ้าของห้องผ่านทางเครื่องเรือนที่ใช้ตกแต่งภายใน
ห้องแคปซูลนี้มีโบราณวัตถุที่สะท้อนความสนใจในสมัยไทโชของเจ้าของห้อง
ห้องแคปซูลหลายห้องออกแบบให้มีหน้าต่างอยู่ทางด้านข้าง แทนที่จะอยู่ตรงสุดปลายห้อง
อีกฝั่งหนึ่งข้างในห้องแคปซูลก่อนหน้านี้ ผู้พักอาศัยปรับให้เป็นห้องนั่งเล่นภายในพื้นที่จำกัด
ห้องแคปซูลนี้เคยเป็นที่พักอาศัยแบบเต็มเวลาของสถาปนิกคนหนึ่งเมื่อปี 2012
หนังสือบนชั้นสะท้อนอาชีพและความสนใจของผู้พักอาศัย
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ห้องแคปซูลเกือบ 20 ห้องได้รับการปรับปรุงขนานใหญ่โดยความพยายามของเจ้าของเพียงคนเดียว
เจ้าของซ่อมแซมภายในห้องแคปซูลเหล่านี้เพื่อส่งเสริมการบูรณะและอนุรักษ์ตึกนี้ในอนาคต
เจ้าของค่อยๆซ่อมแซมห้องแคปซูลเหล่านี้โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะนำแคปซูลใหม่มาแทนที่ของเก่าทั้งหมดในท้ายที่สุด แคปซูลออกแบบมาให้เคลื่อนย้ายได้เพื่อจะได้เปลี่ยนเป็นของใหม่เมื่อเวลาผ่านไป
มีการแจกแบบจำลองขนาดเล็กของตึกนี้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงการเปิดตึกเมื่อปี 1972

 

อ่านเพิ่มเติม

สถาปัตยกรรมเซอเรียลยุคหลังโซเวียต

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.