เหยื่อพายุแห่งการทำลายล้าง ภาพชนะป่าชายเลนแห่งปี 2024 โครงการ Mangrove Action Project

ภาพถ่ายป่าชายเลน 2024 มุมมองแห่งความมหัศจรรย์และความเปราะบางของระบบนิเวศชายฝั่งที่สำคัญที่สุดของโลก

รูปถ่ายของผู้ชนะจากการประกวดภาพถ่ายป่าชายเลนประจำปี 2024 หรือ Mangrove Photography Awards 2024 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์ป่า ชุมชนชายฝั่ง และป่าชายเลน ท่ามกลางภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ทั่วโลก ในโครงการ Mangrove Action Project

“ปัจจุบันป่าชายเลนเดิมของโลกเหลืออยู่ไม่ถึงครึ่ง และการส่งเสริมการอนุรักษ์ระบบนิเวศที่เปราะบางเหล่านี้ก็มีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม” ผู้จัดการประกวด Mangrove Action Project ระบุผ่านเว็บไซต์ และเหตุนี้ “รางวัลภาพถ่ายป่าชายเลน” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้สร้างสรรค์สามารถกระตุ้นจินตนาการพร้อมกับให้มีการดำเนินการอนุรักษ์

“ทุก ๆ ปี เราได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานที่ส่งเข้าประกวด ซึ่งช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผู้คนและสัตว์ป่าที่พึ่งพาป่าชายเลน ภัยคุกคามที่กำลังเผชิญอยู่ และตอบคำถามว่าเหตุใดจึงต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อปกป้องป่าชายเลนเหล่านี้”

ในการประกวดปี 2024 นี้มีผลงานเข้าประกวดจำนวนมากถึง 2,500 รายการจากทั้งหมด 74 ประเทศ ซึ่งทำลายสถิติเดิม พร้อมกับแสดงให้เห็นถึงความสวยงามและความสำคัญระดับโลกของระบบนิเวศป่าชายเลน โดยภาพถ่ายชนะเลิศจากทุกประเภทคือภาพอันทรงพลังของเด็กสาวคนหนึ่งในอินเดียหลังเกิดพายุรุนแรง

นอกจากนี้ยังมีรางวัลอีก 6 ประเภทได้แก่ ผู้คน ทิวทัศน์ ใต้น้ำ ภัยคุกคาม สัตว์ป่า และเรื่องราว รวมไปถึงรางวัลสำหรับกลุ่มเยาวชนเพื่อมอบให้กับช่างภาพที่มีอายุต่ำกว่า 24 ปี โดยที่ทางคณะกรรมการผู้ตัดสินระบุว่า ภาพถ่ายเหล่านี้เป็นเครื่องเตือนใจถึงความสำคัญของป่าชายเลนที่มีต่อความหลากหลายของชีวิตตามแนวชายฝั่งโลก

“เรื่องราวเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้เข้าใจ จดจำ และเรียนรู้จากโลก” มอร์แกน ไฮม์ (Morgan Heim) ช่างถ่ายภาพสัตว์ป่า หนึ่งในคณะกรรมการกล่าว “และว่า การอนุรักษ์ก็เป็นเรื่องราวที่ซับซ้อน การถ่ายภาพช่วยให้เรารับรู้และรู้สึกใกล้ชิดกับเรื่องราวเหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะพูดภาษาใดก็ตาม และทุกครั้งที่ผมดูภาพถ่ายประเภทนี้ ผมคิดว่ายังคงมีความหวังอยู่”

เช่นเดียวกับ คริสเตียน เซียลเกอร์ (Christian Ziegler) ช่างภาพมืออาชีพและหนึ่งในคณะกรรมการก็ได้ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า “ผมสนใจเป็นพิเศษกับภาพสัตว์ป่า มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมายเกี่ยวกัชีวิตในป่าชายเลน ตั้งแต่ข้อมูลเชิงลึกทางวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงการฟื้นฟูระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากที่ผู้คนต้องเผชิญ”

ต่อไปในคือรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศในแต่ละประเภท

รางวัลชนะเลิศประเภท Overall

“ซุนดาร์บันส์ที่กำลังจมลง” (Sinking Sundarbans) จากประเทศอินเดีย โดย สุประติม ภัฏจาจรี (Supratim Bhattacharjee)

เด็กสาวที่กำลังยืนอยู่หน้าสถานที่ที่เคยเป็นบ้านและร้านน้ำชาของเธอในเมือง เฟรเซอร์กันจ์ (Frazerganj) เขตซุนดาร์บันส์ ประเทศอินเดีย แต่ปัจจุบันที่แห่งนั้นได้หายไปอย่างสิ้นเชิงโดยพายุกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และ สุประติม ภัฏจาจรี ได้บันทึกเรื่องราวเหล่านั้นไว้อย่างทรงพลัง

“หลังจากพายุไซโคลนไอลา (Aila) ได้พัดถล่มซุนดาร์บันส์เมื่อปี 2009 ก็เป็นที่ชัดเจนว่าเหตุการณ์พายุไซโคลนจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยในซุนดาร์บันส์กลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โดยในระหว่างเดือนพฤษภาคม 2019 ถึงเดือนพฤษภาคม 2021 ซุนดาร์บันส์เองก็ได้เผชิญพายุไซโคลนถึง 4 ลูกได้แก่ ฟานิ, บุลบูล, อำพัน และยาอาส ซึ่งแต่ละลูกสามารถสร้างความเสียหายเพียงพอที่จะทำให้ผู้คนจำนวนมากหวาดกลัวต่อการอพยพ” สุประติม ภัฏจาจรี กล่าว

ขณะที่ ดริติแมน มุกเคอร์จี (Dhritima n Mukherjee) ช่างภาพอนุรักษ์และหนึ่งในคณะกรรมการให้ความเห็นว่า “(เป็น)ภาพที่ทำให้เกิดคำถามนับพันข้อ ในขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงคุณเข้ากับหัวใจของเด็กสาว ความเปราะบางของเธอเผยให้เห็นถึงผลกระทบทั้งหมดของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นซึ่งชุมชนชายฝั่งหลายแห่งได้ประสบ”

ซุนดาร์บันส์ นั้นเป็นเขตที่ตั้งอยู่ในอ่าวเบงกอล มันเป็นป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในป่าที่เปราะบางที่สุด สถานที่แห่งนี้เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้พิทักษ์ธรรมชาติแต่ปัจจุบันกลับต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่ไม่หยุดหย่อนจากการพัฒนาของมนุษย์และวิกฤตสภาพอากาศ

ขณะเดียวกันการตัดไม้ทำลายป่าก็เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้ดินถูกกัดเซาะมากยิ่งขึ้นและทำให้พื้นที่กว้างใหญ่ต้องเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมขึ้นโดยเฉพาะในช่วงที่มีพายุไซโคลน อีกทั้งยังทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศย่ำแย่ลงอย่างน่าเศร้า

รางวัลชนะเลิศประเภท ป่าชายเลนและผู้คน

พิธีกรรมอาบโคลน, อินโดนีเซีย โดย โจฮานเนส พันจิ คริสโต (Johannes Panji Christo)

เขาได้เฝ้าดูชายชาวบาหลีท้องถิ่นคนหนึ่งเต็มไปด้วยโคลนราวกับกำลังอาบน้ำอยู่ ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวท้องถิ่นเรียกว่า ‘เมบุก บูกัน’ (Mebuug Buugan)

“ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กต่างสวมโสร่งกับผ้าคลุมศีรษะแบบดั้งเดิม เก็บโคลนจากป่าชายเลยในหมู่บ้านเกโดงกานัน นอกเมืองเดนปาซาร์ มาคลุมตัวเองเพื่อชำระล้างร่างกาย” พันจิ คริสโต กล่าว

เมบุก บูกัน นั้นได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อไม่นานมากนี้หลังจากต้องหยุดจัดไปกว่า 60 ปี ซึ่งจะจัดขึ้นในวันรุ่งขึ้นถัดไปของเทศกาล ‘วันแห่งความเงียบ’ ประจำปีซึ่งเป็นเทศกาลที่ผู้คนจะอยู่บ้านและไตร่ตรองถึงตนเอง ขณะที่พิธีกรรมนี้ผู้คนจะสวดภาวนาขอความกตัญญูและความอุดมสมบูรณ์ของโลก

รองชนะเลิศ ประเภท ป่าชายเลนและผู้คน

ความหวังที่ถูกติดแท็กดาวเทียมได้กลับสู่ธรรมชาติ, อินเดีย โดย อุปมะนิว จักรบอร์ตี (Upamanyu Chakraborty)

จักรบอร์ตี ได้จับภาพเต่ากระอาน (Northern river terrapin ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Batagur baska) ก่อนปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพาะพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในซุนดาร์บันส์

“หลังจากที่ป่าชายเลนของโอริสสาอาจสูญพันธุ์หายไปจากพื้นที่ ปากแม่น้ำซุนดาร์บันส์ จึงกลายเป็นที่พึ่งสุดท้ายของเต่าสี่นิ้วที่อาศัยอยู่ในน้ำกร่อยแห่งนี้ ซึ่งพวกมันถูกล่าเพื่อเอาเนื้อและเก็บไข่อยู่ตลอดเวลา” จักรบอร์ตี กล่าว

“อย่างไรก็ตาม โครงการเพาะพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์ก็ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2012 โดยเริ่มจากจำนวนเต่าที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยในสระน้ำหมู่บ้าน ปัจจุบัน โครงการที่ครอบคลุมนี้ได้บรรจุมุ่งหมายที่สำคัญแล้วด้วยพรจาก ‘บอนบิบี’ (Bonbibi) เทพเจ้าของทั้งชาวฮินดูและมสุลิมนับถือ”

พร้อมกับเสริมว่า “ซึ่งช่วยปกป้องพวกมันจาก ‘ดักชินเรย์’ (Dakshinray) เสือโคร่งเบงกอลที่กลับชาติมาเกิด โปรแกรมกลับสู่ธรรมชาติดังกล่าวประสบคำวามสำเร็จโดยตัวไม่เต็มวัยหลายตัวมีแท็กดาวเทียม ซึ่งถูกปล่อยในเดือนมกราคม 2022 พร้อมกับติดตามอย่างเข้มงวด”

“ด้วยการรวบรวมข้อมูลจากการปล่อยสัตว์นำร่องครั้งนี้ เราหวังว่าจะสามารถนำประชากรสัตว์ที่สามารดำรงชีวิต ได้กลับคืนสู่แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของป่าซุนดาร์บันส์ได้”

รางวัลชนะเลิศ ป่าชายเลยและทิวทัศน์

ริบบิ้นแห่งธรรมชาติ, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดย อัมมาร์ อัลซายิด อาห์เหม็ด (Ammar Alsayed Ahmed)

เผยให้เห็นภาพป่าชายเลยที่สวยงามพร้อมกับมุมมองที่เป็นเอกลักษณ์ ตั้งแต่ทัศนียภาพอันกว้างไกล ไปจนถึงพืชและสัตว์แต่ละชนิดในระดับจุลภาค อยู่ในอ้อมกอดของธรรมชาติ ช่องน้ำที่คดเคี้ยวอย่างสง่างาม ซึ่งล้อมรอบด้วยต้นโกงกางเขียวขจีที่เรียงรายอยู่ริมช่องทางน้ำ

“ฉากอันเงียบสงบนี้ชวนให้ใคร่ครวญ ในขณะที่สายน้ำซึ่งไหลเอื่อย ๆ ได้ผ่านใจกลางป่าโกงกาง” อัลซายิด อาห์เหม็ด บรรยาย “รากไม้ที่พันกันเป็นลวดลายอันซับซ้อน ได้สร้างสรรค์เป็นผีนผ้าทอธรรมชาติที่กลมกลืนกับความลื่นไหลของน้ำ”

“ในโอเอซิสที่เงียบสงบนี้ รูปภาพได้ถ่ายทอดความงามและความสงบสุขที่ไร้กาลเวลาของทิวทัศน์ซึ่งได้รับการหล่อหลอมจากการเคลื่อนไหวอย่างละเอียดอ่อนของน้ำกับป่าโกงกาง”

รองชนะเลิศ ป่าชายเลนและทิวทัศน์

พรมสีส้ม ของเซียงคาอัน (Sian Kaan), เม็กซิโก โดย ซานเทียโก จิเบิร์ท ไซเอิร์น (Santiago Gibert Isern)

ภาพถ่ายลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของเขตสงวนชีวมณฑลเซียงคาอันในคาบสมุทรยูกาตัน ประเทศเม็กซิโก ในระหว่างเที่ยวบินหลายเที่ยวเพื่อบันทึกสถานะการอนุรักษ์ของเขตสงวนในช่วงต้นฤดูฝน ช่างภาพและนักเล่าเรื่องการอนุรักษ์ได้สังเกตเห็นสีสันที่เข้มข้นด้านล่าง

“ผมได้ถามนักบินว่าเราสามารถสร้างวงกลมเหนือทะเลสาบเพื่อจับภาพกระบวนการที่มีลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของป่าชายเลยได้เหรือไม่ นั่นก็คือการย่อยสลายของใบไม้แห้งที่ทำให้สีในน้ำเปลี่ยนไปด้วยแทนนิน และในขณะเดียวกันก็หล่อเลี้ยงระบบนิเวศที่สำคัญดังกล่าว” จิเบิร์ท ไซเอิร์น กล่าว

“ผลลัพธ์ที่ได้คือผลงานศิลปะที่ผสมผสานสีอันทรงพลังสองสีเข้าด้วยกัน ซึ่งได้แก่สีเขียวและสีส้ม โดยสีแรกแสดงถึงชีวิตในความงดงาม และสีที่สองแสดงถึงการกำเนิดใหม่ของชีวิต”

รางวัลชนะเลิศ ป่าชายเลนและสัตว์ป่า

การกินอาหารแห่งวงแหวนโคลน, สหรัฐอเมริกา โดยมาร์ก เอียน คุก (Mark Ian Cool)

นักวิทยาศาสตร์ด้านการฟื้นฟูและช่างภาพ มาร์ก คุก ได้เห็นโลมาปากขวดกำลังคว้าปลาที่กระโดดขึ้นไปในอากาศระหว่าง ‘การกินอาหารแห่งวงแหวนโคลน’ ซึ่งเป็นสายพันธุ์พิเศษที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลยทั่วโลกทั้เหนือและใต้ผิวน้ำ

“การกินอาหารในโคลนเป็นพฤติกรรมการกินปลาที่หาได้ยากและไม่เหมือนใคร ซึ่งโลมาปากขวดได้ทำขึ้นในบริเวณน้ำตื้นของอ่าวที่รายล้อมไปด้วยป่าชายเลนในฟลอริดา และอีกเพียงไม่กี่แห่งในแถบแคริเบียน” คุก กล่าว

“เมื่อพบเหยื่อ โลมาหนึ่งตัวจากฝูงจะวนรอบปลาแล้วเตะตะกอนขึ้นมาด้วยหาง ซึ่งจะทำให้ปลารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนที่แน่นขึ้นเรื่อย ๆ แต่ปลาไม่ชอบถูกขังหรือว่ายน้ำผ่านตะกอน ดังนั้นพวกมันจึงมักจะพยายามกระโดดออกจากน้ำและข้าม ‘ตาข่าย’ ไปสู่อิสรภาพ”

พร้อมกับเสริมว่า “โลมาสามารถรู้ได้อย่างน่าทึ่งว่าปลาจะกระโดดไปที่ใด และจะคว้าปลาจากอากาศในขณะที่พยายามหลบหนี ความสามารถในการวางแผนและประสานงานการล่าอาหาร รวมถึงความสามารถในการแบ่งปันอย่างเท่าเทียม ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความฉลาดอันน่าทึ่งของสัตว์เหล่านี้”

รองชนะเลิศ ป่าชายเลนและสัตว์ป่า

ปลาตีนในออโรร่า, อินเดีย โดย จายันตา กูฮา (Jayanta Guha)

“จายันตา พาเราไปสู่ภาพอันสวยงามราวกับความฝันท่ามกลางหญ้าสูงหลากสีสัน” คริสเตียน เซียลเกอร์ กล่าว ปลาตีนเป็นปลาชนิดหนึ่งที่พบในป่าชายเลนและโคลนตม โดยจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่นอกน้ำ พวกมันปรับตัวเองให้สามารถอยู่บนบกได้แม้น้ำจะลงแล้ว พวกมันหายใจโดยกลั้นน้ำไว้ในปากและช่องเหงือก

ขณะเดียวกันการที่มีความชื้นทำให้พวกมันหายใจผ่านผิวหนังได้เช่นกัน ในส่วนของดวงตาขนาดใหญ่ก็ทำให้มันเป็นนักล่าที่ยอดเยี่ยม ขณะที่ครีบอกทำหน้าที่เป็นขาช่วยให้พวกมันคลานไปบนโคลนและต้นไม้ตามพื้นป่าชายเลนได้

รางวัลชนะเลิศ ป่าชายเลนและภัยคุกคาม

กำแพงป่าชายเลนที่ถูกทำลาย, อินเดีย โดย ไดภาญาณ โบเสซ์ (Dipayan Bose)

ภาพชาวบ้านที่ยืนอยู่ภายในบ้านซึ่งกำลังจมน้ำอยู่ครึ่งหลังระหว่างเกิดน้ำท่วม ซึ่งเกิดจากพายุหมุนเขตร้อนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นในอ่าวเบงกอล เขื่อนกั้นน้ำจึงแตกไปท่วมหมู่บ้านและฟาร์ม ผู้คนจึงถูกบังคับให้อพยพออกไป ทั้งหมดนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

“คุณรู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้นเมื่อมองดูภาพนี้ ชายคนนี้ไม่มีทางหนีจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ในตอนนั้น เขากำลังคิดหาวิธีที่จะดำรงชีวิตต่อไป ภาพทุกภาพได้รับการการจัดวางอย่างตั้งใจเพื่อส่งเสริมความรู้สึกเหล่านี้ ภาพนี้แสดงถึงช่วงเวลาแห่งความเห็นอกเห็นใจอย่างแท้จริงของช่างภาพ” มอร์แกน ไฮม์ หนึ่งในคณะกรรมการ กล่าว

รางวัลรองชนะเลิศ ป่าชายเลนและภัยคุกคาม

ธรรมชาติและอวกาศ, สหรัฐอเมริกา โดย เจฟฟ์ ธาเมิร์ด (Jeff Thamert)

“ภาพนี้ถ่ายใกล้กับฐานปล่อยยานอวกาศของ SpaceX ที่มีการปล่อยยานอวกาศบ่อยเกินไป ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อทะเลสาบกับเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอินเดียนริเวอร์ เราได้เห็นคุณภาพน้ำและหญ้าทะเลที่เสื่อมลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล พืช และสัตว์ต่าง ๆ” ธาเมิร์ด กล่าว

“ภาพนี้สวยงามและน่าสะพรึงกลัวในเวลาเดียวกัน ระบบนิเวศกำลังถูกทำลายโดยอุตสาหกรรมอวกาศที่กลายเป็นเอกชนไปเกือบหมดแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการรายงานเกี่ยวกับความเสียหายมากนัก” มอร์แกน ไฮม์ หนึ่งในคณะกรรมการ กล่าว

รางวัลชนะเลิศ ป่าชายเลนและใต้น้ำ

ผู้พิทักษ์แห่งป่าชายเลน, บาฮามาส โดย โอลิเวียร์ คลีเมนท์ (Olivier Clement)

ภาพได้นำเสนอโลกที่ซับซ้อนของรากโกงกางในบาฮามาส คริสเตียน เซียลเกอร์ หนึ่งในคณะกรรมการระบุว่าชื่นชอบการใช้รากโกงกางเป็น ‘กรอบ’ ที่น่าดึงดูดใจ “มันทำให้รู้สึกสงบและสันติ” เขากล่าว

“เต่าทะเลค่อย ๆ ว่ายไปตามรางโกงกางที่ซับซ้อนอย่างสวยงามในช่วงน้ำขึ้น เพื่อหาที่หลบภัยในตอนกลางคืน เมื่อน้ำขึ้น น้ำก็จะสูงจนท่วมกลืนรากโกงกาง และเปลี่ยนพื้นที่นี้ให้กลายเป็นที่พักพิงสำหรับสัตว์ทะเลที่แสวงหาที่ปลอดภัย” เขาเสริม

“การเดินทางของเต่าทะเลเป็นเครื่องเตือนใจถึงบทบามสำคัญของระบบนิเวศเหล่านี้ในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล เมื่อวันค่อย ๆ มืดลง การค้นหาที่พักพิงที่ปลอดภัยของเต่าทะเล ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสมดุลที่ละเอียดอ่อนของชีวิตภายในป่าชายเลน ซึ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการอนุรักษ์ เพื่อให้แน่ใจว่าแหล่งที่อยู่อาศัยอันล้ำค่าเหล่านี้จะคงอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไป”

รางวัลรองชนะเลิศ ป่าชายเลนและใต้น้ำ

ผู้พิทักษ์แห่งอ่าว, สหรัฐอเมริกา โดย นิก คอนโซน (Nick Conzone)

เขาได้จับภาพวินาทีที่เต่าน้ำหลังเพชร (Diamondback Terrapin) โผล่ออกมาจากโพรงใต้ดินในอ่าวเม็กซิโกของเกาะโกงกางฟลอริดา

“เต่าน้ำหลังเพชรเป็นสายพันธุ์หลักที่มีความสำคัญในการปกป้องป่าชายเลนจากหอยทาก ปู หอยกาบ และปลาตัวเล็ก การควบคุมประชากรของเต่าเหล่านี้จะช่วยป้องกันไม่ให้(สัตว์อื่น ๆ)กินหญ้าจนเกินขนาด ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับป่าชายเลนและทำลายระบบนิเวศได้” คอนโซน กล่าว

“เต่าปรับตัวให้เข้ากับแห่งที่อยู่อาศัยได้ดี โดยเคลื่อนตัวไปตามระบบรากใต้น้ำได้อย่างคล่องแคล่ว เท้าพังผืดและจะงอยปากที่แข็งแรง ทำให้เต่าล่าเหยื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยรักษาความสมบูรณ์ของป่าชายเลนด้วยการรักษาประชากรเหยื่อให้สมดุล”

พร้อมเสิรมว่า “บนเกาะโกงกาง เต่าจะสร้างโพรงตื้น ๆ ที่ขุดไว้ในโคลนอ่อน โพรงเหล่านี้จะช่วยปกป้องและเป็นจุดชมวิวในการเฝ้าสังเกตสภาพแวดล้อม หากไม่มีป่าชายเลน เต่าจะต้องอาศัยอยู่ใกล้ชายฝั่ง มากขึ้น และเผชิญกับความเสี่ยงจากการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ มลพิษ และการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลมากขึ้น”

รางวัลชนะเลิศ ป่าชายเลนและการอนุรักษ์

ซิมไบโอซิส, อินโดนีเซีย โดย จาโคโม ดิออร์ลันโด (Giacomo d’Orlando)

ดิออร์ลันโด ได้ถ่ายทอดชีวิตในหนึ่งในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมากที่สุด

“ในเขตการปกครองเดมาค กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์และแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกำลังคุกคามชุมชนชายฝั่งซึ่งถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง และป่าชายเลนที่เคยปกป้องชายฝั่งก็ได้ถูกตัดโค่นพร้อมกับแทนที่ด้วยบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่งผลให้ทะเลกลืนกินบ้านเรือนของผู้คน” เขากล่าว

“แม้จะมีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก แต่ผู้อาศัยในเดมาคส่วนใหญ่ไม่ต้องการย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากศักยภาพในการสร้างรายได้ของพวกเขาขึ้นอยู่กับที่ตั้งที่อยู่ใกล้ทะเล อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาตระหนักได้ว่าทางออกเดียวกคือการฟื้นฟูระบบนิเวศโดยการปลูกป่าชายเลนที่ถูกตัดโค่นไปทดแทน”

พร้อมเสริมว่า “นโยบายของรัฐบาลที่อิงตามการปลูกป่าชายเลนร่วมกับการลดการสูบน้ำใต้ดิน อาจเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ชุมชนชายฝั่งในพื้นที่มีอนาคตที่ดีได้”

รางวัลรองชนะเลิศ

ป่าชายเลนและการอนุรักษ์ด้วยกัน, มาดากัสกา โดย ราช ฮัสซานลี (Raj Hassanaly)

เขาได้บันทึกช่วงเวลาของความพยายามในการฟื้นฟูโดย อโนซิคาบิจา (Anosikabija) ซึ่งเป็นชุมชนในชนบทของเมือง มาจุนกา (Majunga) แห่งมาดากัสการ์

“บอนดี้ (Bôndy) บริษัทเอกชนที่ทำงานด้านการฟื้นฟูระบบนิเวศ ร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูป่าชายเลน ชุมชนท้องถิ่นตระหนักดีว่าการตัดต้นโกงกางทำให้การประมง จับปู หรือแม้กระทั่งป้องกันตัวเองจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศรวมถึงพายุไซโคลนที่รุนแรงขึ้น ในภูมิภาคเหล่านี้ทำได้ยากขึ้น”

“พวกเขาเดินข้ามป่าชายเลนกันด้วยรอยยิ่ม และกำลังใจที่ดีเสมอเพื่อฟื้นฟูผินดินที่ห่างไกลอันกว้างใหญ่นี้”

รางวัลชนะเลิศ ช่างภาพป่าชายเลนเยาวชนแห่งปี

ค่ำคืนของป่าชายเลน, ออสเตรเลีย โดย นิโคลาส อเล็กซานเดอร์ แฮสส์ (Nicholas Alexander Hess)

ได้ถ่ายภาพซ้อนแสงที่มีองค์ประกอบของป่าชายเลนในที่มืด “ผมมีเลนส์มาโครติดตัวไวเพียงตัวเดียว ดังนั้นจึงอยากถ่ายภาพมากกว่าแค่ลูกตระน้ำเค็มตัวนี้เมื่อผมไปเจอมันในป่าชายเลนช่วงน้ำลง” เขา กล่าว

“ผมใช้โหมดซ้อนแสงในกล้องเพื่อซ้อนภาพดวงตาของจระเข้หลายชั้นเพื่อเก็บภาพบรรยากาศได้มากขึ้นโดยไม่ต้องเสียรายละเอียดของดวงตา เมื่อถ่ายภาพในเวลากลางคืน ภาพที่ได้จะให้ความรู้สึกไม่สบายใจเล็กน้อย เช่น ภาพที่เราอาจจะเจอในป่าชายเลน โดยไม่รู้ว่ามีนักล่าอะไรแอบซ่อนอยู่แถวนั้น ภายใต้ป่าชายเลนที่หนาแน่น”

รางวัลรองชนะเลิศ ช่างภาพป่าชายเลน กลุ่มเยาวชนแห่งปี

อนาคตอันใกล้ของป่าชายเลน, อินเดีย โดย เทจา ญาณตระภาลลิ (Teja Yantrapalli)

รูปภาพที่เน้นย้ำถึงความเสื่อมโทรมของป่าชายเลนในอินเดีย ซึ่งญาณตระภาลลิ อธิบายว่า “แปลงปลูกแต่ละแปลงเปรียบเสมือนผืนผ้าใบสำหรับการเพาะปลูก ที่บอกเล่าเรื่องราวของการอยู่ร่วมกันในดินและน้ำ พื้นที่ซึ่งปัจจุบันเป็นบ่อตกปลาได้เคยปกคลุมไปด้วยป่าชายเลนที่เจริญเติบโต หากแนวโน้มนี้ยังคงอยู่ ขณะเดียวกันป่าชายเลนที่เหลืออยู่ในพื้นที่ก็อาจหายไปในไม่ช้า”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพ : Mangrove Photography Awards 2024

ที่มา 

Mangrove Photography Awards 2024


อ่านเพิ่มเติม : ภาพแห่งความหวัง นิทรรศการ National Geographic Photo Ark การอนุรักษ์สัตว์ป่าผ่านเลนส์ “โจเอล ซาร์โทรี”

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.