ผลงานรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 10 ภาพเล่าเรื่อง Season 9 : ชาวจีนข้ามทะเล (Overseas Chinese)

ผลงานเข้ารอบ การประกวดภาพถ่ายสารคดี 10 ภาพเล่าเรื่อง Season 9

โดย ปิติวัฒน์ อังวัฒนพานิช

แนวคิดสารคดี

การอพยพครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีน เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2482 ถึง 2492 ประชาชนจีนหนีผลกระทบจากความยากจนและขาดแคลนอาหารจากสงครามจีน-ญี่ปุ่นและสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเรือกลไฟทางทะเลจีนใต้ ก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนนำโดย เหมา เจ๋อ ตุง จะปฏิวัติและปิดการเดินทางเข้า-ออกประเทศในปี พ.ศ. 2492 ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหมุดหมายหลักของชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพเข้ามาแสวงหาโอกาสเพื่อสร้างตัว จากทะเลจีนใต้เข้าทางปากอ่าวไทยสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเรือสำเพ็งและวัดยานนาวา บ้างหางานทำในกรุงเทพฯ บ้างกระจายตัวออกต่างจังหวัด ขณะที่บางกลุ่มล่องเรือต่อไปขึ้นฝั่งยังบริเวณภาคใต้ของประเทศ เวลาผ่านไปกว่า 80 ปี ในปัจจุบัน ปี พ.ศ.2567 มีประชากรที่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนกว่า 9,000,000 คนอาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมถึงตัวผู้เขียนด้วยที่เป็นหนึ่งในลูกหลานของคนจีนโพ้นทะเล ภาพชุดนี้ผู้เขียนจึงต้องการถ่ายทอดเส้นทางการอพยพของคนจีนที่ข้ามทะเลเข้าสู่ประเทศไทยผ่านหลักฐานต่างๆ เล่าเรื่องราวตั้งแต่การเข้ามาของคนจีนทางเรือในอดีต จวบจนถึงปัจจุบัน

มือของอากง เก้าแช แซ่โง้ว ปัจจุบันอายุ 90 ปี ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว แนบรูปตอนอายุ 12 ปี ที่ใช้สำหรับอพยพเข้ามาประเทศไทย ด้วยการอาศัยอยู่ใต้เรือสินค้า ล่องเข้ามาทางแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นฝั่งที่ท่าเรือวัดยานนาวา เมื่อปี พ.ศ. 2489
โค้งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเรือสำเพ็งและหวั่งหลี เมื่ออดีตช่วงรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2394 – พ.ศ. 2492) เคยเป็นท่าเรือสำคัญในการอพยพเข้ามาด้วยเรือสำเภาและเรือกลไฟ แต่ในปัจจุบันมีเพียงท่าเรือราชวงศ์ เรือด่วนเจ้าพระยาและกลายเป็นเส้นทางสำหรับเรือท่องเที่ยว เป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน
สำเภายานนาวา ที่วัดยานนาวาถูกสร้างสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อจำลองให้เห็นว่าสำเภาจีนหน้าตาเป็นอย่างไร อีกทั้งเป็นท่าเรือสำคัญที่รองรับการอพยพเข้ามาของคนจีนด้วยเรือกลไฟ สมัยรัชกาลที่ 5 หรือตั้งแต่ปี พ.ศ.2411 โดยชาวจีนแต้จิ๋วเรียกสำเภายานนาวาว่า เล่งจุ๊งอวก แปลว่าวัดสำเภามังกร
ตุ๊กตาหินแบบจีนหรือตุ๊กตาอับเฉาเป็นสินค้าจำนวนมากที่ถูกนำเข้าทางเรือ พร้อมชาวจีนที่อพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อถ่วงน้ำหนักใต้เรือสำเภา เนื่องจากสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศจีน ส่วนใหญ่เป็นผ้าและแพรที่น้ำหนักเบา
ชาวจีนโพ้นทะเลประกอบไปด้วยหลากหลายกลุ่ม แบ่งตามมณฑลที่จากมา ประกอบด้วย จีนแต้จิ๋ว จีนกว้างตุ้ง จีนฮักกา จีนฮกเกี้ยน และ จีนไหหลำ โดยกลุ่มจีนฮกเกี้ยนรวมตัวกันสร้างศาลเจ้าโจวซือกงริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีเป้าหมายเพื่อรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ ด้วยการเชิญคณะงิ้วมาแสดงทุกปีช่วงเทศกาลกินเจ
การแสดงมังกรทอง เฉลิมฉลองแห่พระลุยไฟที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จังหวัดยะลา ปี พ.ศ. 2566 สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมจีนจากชาวจีนโพ้นทะเล ที่นอกจากจะขึ้นฝั่งทางแม่น้ำเจ้าพระยา ยังมีบางกลุ่มที่ไปขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของประเทศไทยและไปขึ้นฝั่งบริเวณประเทศมาเลเซีย สิงค์โปร์ และ อินโดนีเซีย
กระดาษเงินกระดาษทองในยุคปัจจุบันในชุมชนเมืองเจริญไชย ย่านเยาวราช แหล่งรวมกระดาษไหว้เจ้าและบรรพบุรุษทุกรูปแบบ โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากโรงงานประเทศจีน แสดงให้เห็นว่าเส้นทางอพยพของชาวจีนได้ถูกพัฒนาไปสู่เส้นทางค้าขายระหว่างประเทศไทยและจีนอย่างเห็นได้ชัด
งานตรุษจีนปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่ที่แม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งคนไทยและจีนต่างแต่งกายด้วยเสื้อสีแดงพาลูกหลานออกมาร่วมงาน แห่กลางคืน เฉลิมฉลองวันปีใหม่จีน จัดงานต่อเนื่อง 12 วัน 12 คืน ตั้งแต่ 3-14 กุมภาพันธ์ 2567
ท่าเรือวัดยานนาวาบริเวณที่อากงเก้าแชขึ้นฝั่งเมื่อ 78 ปีที่แล้ว จากเรือสำเภาและกลไฟที่อพยพคนจีนโพ้นทะเลมาขึ้นฝั่งในอดีต ปัจจุบันได้ถูกพัฒนามาเป็นเรือโดยสารไฟฟ้าที่จ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตแทน อีกทั้งยังสามารถเดินเรือได้แม้จะมีฝนตกหนักและลมกระโชกแรงในวันที่พายุเข้า
ปัจจุบันในประเทศไทย มีจำนวนสมาคมตระกูลมากกว่า 500 สมาคม เป็นศูนย์รวมตัวของชาวจีนโพ้นทะเลตามแต่ละกลุ่ม ในภาพนี้เป็นป้ายดวงวิญญาณของชาวจีนแต้จิ๋วภายในสมาคมตระกูลโต๋ว สลักชื่อและแซ่ของบรรพบุรุษที่อพยพมาจากมณฑลกวางตุ้ง โดยมีป้ายชื่ออาเหล่ากงหรือทวดของผู้เขียนวางอยู่ด้วย

เจ้าของผลงาน : Pitiwat Angwatanapanich


อ่านเพิ่มเติม : ผลงานเข้ารอบ 10 ภาพเล่าเรื่อง Season 9 : ตำนานแขกแพสายน้ำริมฝั่งเจ้าพระยา สู่คูคลองสายใยแห่งมัสยิด

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.