“ไขข้อข้องใจ เล่าเรื่องแบบไหนให้ถูกใจกรรมการ” เวทีประกวดภาพถ่าย 10 ภาพเล่าเรื่อง Photography contest 2025

“เล่าเรื่องแบบไหนให้โดนใจกรรมการ 10 ภาพเล่าเรื่อง

Photography contest 2025 โดย National Geographic ภาษาไทย” 

เวทีเสวนานี้จัดขึ้นในงาน บ้านและสวนแฟร์ Shopping Week 2025  เพื่อเปิดมุมมองในการคัดเลือกภาพถ่ายและถอดบทเรียนจากทีมงานเบื้องหลังการประกวดภาพถ่ายสารคดีของ National Geographic Thailand ภายใต้หัวข้อ “Water of Life สายน้ำแห่งชีวิต” โดยมีบรรณาธิการบริหาร นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ช่างภาพอาวุโส และเจ้าของผลงานที่เคยคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 เมื่อปีที่แล้ว มาร่วมพูดคุยถึง “สิ่งที่กรรมการมองหา” และ “วิธีเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายให้ทรงพลัง” พร้อมแนะแนวทางการต่อยอดผลงานจากเวทีนี้สู่โอกาสในวงการจริง 

ผู้เข้าฟังส่วนใหญ่เป็นผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดโครงการประกวดสารคดีภาพถ่าย ที่จะปิดรับผลงานในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ หรืออาจเป็นช่างภาพที่กำลังมองหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในการเล่าเรื่องผ่านภาพ เวทีเสวนาอันเข้มข้นนี้พาไปหาคำตอบว่า ภาพถ่ายที่ “เล่าเรื่องเชิงสารคดี”  ต้องเป็นอย่างไร และอะไรคือสิ่งที่ทำให้ภาพหนึ่งชุดแตกต่าง โดดเด่น เข้าตากรรมการ 

มองให้ลึก เล่าให้ถึง: สิ่งที่กรรมการอยากเห็น

“ผมมองหาเรื่องดีๆ” คือคำตอบสั้น ๆ แต่ลึกซึ้งจากคุณโกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ บรรณาธิการบริหาร National Geographic ฉบับภาษาไทย เป็นสิ่งที่บรรณาธิการและคณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญมากที่สุด หากคุณมีเรื่องอยากทำและสามารถแตกประเด็นออกมาเป็นชุดภาพถ่าย 10 ภาพได้ นั่นคือสัญญาณว่าเรื่องนั้นมีศักยภาพมากพอที่จะพัฒนาเป็นสารคดีภาพที่ดีได้ สิ่งที่เขาให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ “passion” เพราะ “ถ้าคุณมี passion กับเรื่องที่อยากเล่า คุณจะอยู่กับมันได้เป็นเดือน เป็นปี” 

คุณโกวิทย์แนะว่า อย่ามองการประกวดเป็นเพียงเวทีแข่งขัน แต่ให้มองว่านี่คือโอกาสที่ได้ทำโปรเจคส่วนตัว เรื่องที่คุณอยากรู้ อยากเห็น อยากเข้าใจ ทำให้คุณอยู่กับมันได้นาน และลงลึกได้มากพอ จนสร้างความหมายที่แท้จริงผ่านภาพได้้ 

เพราะเกณฑ์การตัดสินซึ่งแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ เกณฑ์ด้านองค์ประกอบศิลป์และความความงาม ความคิดสร้างสรรค์ในการคิดประเด็น และการเล่าเรื่องที่มีความเป็นสารคดี  ซึ่งการประกวดนี้ให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่องเชิงสารคดีและความคิดสร้างสรรค์เป็นพิเศษ 

การจัดเรียงภาพให้น่าสนใจคืออีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ โดยคุณโกวิทย์แนะนำให้ยึดหลัก “Variety” หรือความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายของระยะภาพ ทั้งการใช้ภาพมุมกว้าง ระยะใกล้ ระยะกลาง เพื่อให้การเล่าเรื่องที่ไม่จำเจ ความหลากหลายของอารมณ์ภาพ เช่น การใช้แสงของแต่ละช่วงเวลาที่ให้อารมณ์ต่างกัน และที่ขาดไม่ได้คือ “Sense of Place” ภาพควรสื่อถึงบริบท หรือสภาพแวดล้อม หรือการสร้าง “Surprise” ก็สำคัญเพื่อให้คนดูรู้สึกได้ว่ามีบางอย่างที่คาดไม่ถึง รอการค้นพบอยู่ในเรื่องที่คุณเล่า 

ภาพสารคดีที่ใช่: ไม่ใช่แค่สวย แต่ต้องสื่อสาร

สำหรับคุณเอกรัตน์ ปัญญะธารา ช่างภาพอาวุโสของ National Geographic ฉบับภาษาไทย เขาคิดว่าเราไม่อาจมองข้าม “ภาพที่สวย” ได้ เพราะความงามของภาพคือสิ่งแรกที่ดึงดูดสายตาผู้คน แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือประเด็น ว่าสามารถจุดประกายความคิดให้กับผู้ชมได้มากน้อยเพียงใด ภาพถ่ายสารคดีต้องมีพลังพอจะสื่อสารอะไรบางอย่างให้เกิดความรู้สึกหรือความคิดในใจคนดู

ส่วนภาพทั้ง 10 ภาพควรมีลักษณะอย่างไร เขาแนะนำให้ลองคิดเหมือนกับ “การขายของชิ้นหนึ่ง” คุณจะเล่าเรื่องสินค้าให้คนเข้าใจและอยากฟังได้อย่างไร หรือลองจินตนาการเหมือนคุณกำลังทำหนัง ที่อาจเริ่มจากผลลัพธ์ของเรื่องเป็นตัวตั้งต้น แล้วค่อยพาคนดูไปรู้จักเนื้อเรื่องข้างใน แม้ว่าการอธิบายผ่านภาพนิ่งอาจยากกว่า แต่แก่นของมันคือคุณต้องรู้ว่าภาพแต่ละใบพูดอะไร สื่อความอย่างไร

เขาพูดถึงเรื่องการเรียงภาพ หรือ editing ว่าให้คิดเหมือนการกำกับหนัง ควรมีการสลับระยะ เช่นภาพมุมกว้าง ภาพระยะกลาง ภาพระยะใกล้ เพื่อสร้างจังหวะให้การเล่าเรื่องไม่น่าเบื่อ และต้องไม่ลืม sense of place ความรู้สึกถึงสถานที่ที่เรื่องนั้นเกิดขึ้น คุณเอกรัตน์เปรียบการเรียงภาพเหมือนการออกแบบ ‘ฮวงจุ้ย’ เวลาคนเดินเข้าไป เขาจะรู้สึกอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนั้นต้องอาศัยการทดลองเรียงภาพครั้งแล้วครั้งเล่า จนรู้สึกว่ามันใช่ และคุณจะเข้าใจว่า ภาพไหนควรต่อด้วยภาพอะไร เพื่อให้เรื่องราวดำเนินไปได้ดีที่สุด 

สำหรับการส่งภาพถ่ายสารคดีเข้าประกวด ช่างภาพสามารถใช้ภาพเดิมที่เคยถ่ายไว้แล้วได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นภาพใหม่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม คุณเอกรัตน์ย้ำว่าวิธีการ “ปรุงใหม่” นี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการนำภาพเก่ามาใช้ ต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ว่าแต่ละภาพสื่ออะไร สามารถเชื่อมโยงกับภาพอื่น ๆ ได้หรือไม่ เช่น เรื่องโทนสี เป็นต้น ดังนั้น แม้จะใช้ภาพเก่าได้ แต่ต้องมั่นใจว่า เรื่องราว และอารมณ์ภาพ ยังกลมกลืนเป็นเรื่องเดียวกัน 

และในส่วนของคุณตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ นายกสมาคมภาพถ่ายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เขายกตัวอย่าง “การทำไข่เจียวว่าการพัฒนาให้มันอร่อยนั้นมีด้วยกันไม่กี่ขั้นตอน เช่นเดียวกับภาพถ่าย หากคุณมีรูปที่ดีสักใบ มันสามารถเป็น “ตัวตั้งต้น” ที่ดีได้ แต่คุณต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ต่อเติมด้วยประสบการณ์ เรียนรู้ในพื้นที่ และใช้สิ่งที่มีผสมเข้ากับเรื่องที่อยากเล่า เหนือสิ่งอื่นใด คุณตุลย์ย้ำว่ากระบวนการนี้ช่วยให้ช่างภาพเกิดการเรียนรู้้ ไม่ใช่แค่ผลิตภาพเพื่อส่งประกวด แต่คือโอกาสที่คุณจะศึกษา สัมผัส และเข้าใจโลกในแบบที่ลึกกว่าเดิม 

ความสร้างสรรค์สำคัญกว่ากล้องราคาแพง

หัวใจของการทำสารคดี สำหรับคุณตุลย์ เขาแนะนำว่าต้อง “คิดก่อนถ่าย” ก่อนหยิบกล้องขึ้นมา ควรสะระตะความคิดทั้งหมดออกมาให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา หรืออารมณ์ที่ต้องการสื่อ หากยังไม่รู้ว่าต้องการถ่ายอะไร ก็ไม่ควรออกไปถ่าย เพราะการคลำหาภาพโดยไร้ทิศทาง มักนำไปสู่ผลงานที่เล่าเรื่องได้ไม่ครบถ้วนหรือขาดพลัง

ในการประกวดภาพถ่ายสารคดี สำหรับคุณตุลย์ “ความสร้างสรรค์” ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เขาไม่ได้มองหาภาพจากกล้องที่แพง แต่มองหาคนที่กล้าคิด กล้ามองต่าง และกล้าเล่าเรื่องในแบบที่ “ไม่ทำให้คนดูรู้สึกชินชา” ยกตัวอย่างเรื่องน้ำ ถ้าภาพเต็มไปด้วยวิวน้ำที่สวย ๆ ทั้งชุด จะดูไม่น่าสนใจ แต่ต้องนำเสนอเรื่องน้ำในมุมคิดใหม่ ๆ ฉะนั้น หากมีเพียงโทรศัพท์มือถือ คุณก็สามารถส่งเข้าประกวดได้ ถ้าไอเดียและการเล่าเรื่องชัดเจน 

การเรียงภาพก็เหมือนการเขียนจดหมายขอเงินแม่ ต้องมีกลยุทธ์และทำให้คนเชื่อ คุณตุลย์แนะนำว่าอย่าเปิดเผยทั้งหมดตั้งแต่ต้น ให้กระตุ้นอารมณ์คล้ายกับการดูหนัง โดยอาจเริ่มต้นด้วยภาพที่กระตุกความสงสัย แล้วค่อย ๆ คลี่คลายเป็นเรื่อง หรือจังหวะภาพที่ทำให้เรื่องราวค่อย ๆ ไหลไปอย่างมีชั้นเชิง จะทำให้เรื่องน่าสนใจ ชวนอ่าน

จากความผูกพันสู่งานสารคดี  

นอกจากกรรมการทั้งสามท่านแล้ว เรายังได้เชิญคุณปิติวัฒน์ อังวัฒนพานิช ช่างภาพอิสระ ที่ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 “10 ภาพเล่าเรื่อง” ปี 2024 มาเล่าถึงประสบการณ์ในการส่งภาพถ่ายเข้าประกวด

แม้จะเรียนจบรัฐศาสตร์ แต่เขาหลงใหลในงานภาพถ่ายและการเล่าเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่สะท้อนประเด็นทางสังคม ขณะเดียวกันก็สะท้อนความเป็นตัวเองและเชื่อมโยงกับผู้คนรอบข้างได้ ความตั้งใจดังกล่าวนำไปสู่ผลงานชุด “คนจีนข้ามทะเล” ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องที่ย้อนกลับไปสำรวจรากเหง้าของตนเอง ผ่านสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างเขาและอากง ผู้เป็นญาติใกล้ชิดที่อพยพจากจีนมายังประเทศไทย โดยเริ่มจากการถามตัวเองว่า “อะไรในตัวเขาที่เชื่อมโยงกับอากง” ก่อนจะค่อย ๆ ขยายออกไปสู่เรื่องราวและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่เรือสำเภา จนกระทั่งสมาคมของตระกูล แม้ว่าหลายบางภาพที่คุณเขาส่งเข้าประกวดจะไม่ได้แสดงให้เห็น “น้ำ” โดยตรง แต่ทั้งหมดล้วนสื่อถึงเส้นทางและเรื่องราวของการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลของชาวจีนอพยพได้เป็นอย่างดี 

เคล็ดลับที่นำไปใช้ได้ทันที

คุณปิติวัฒน์แนะนำว่าจุดเริ่มต้นของการทำงาน สามารถเริ่มได้จาก “ต้นทุนที่เรามี” เขาชวนให้ตั้งคำถามว่า เราเหลือเวลาเท่าใดก่อนเวลากำหนดส่งภาพ? เรามีภาพอะไรในมือแล้วบ้าง? อยากเล่าเรื่องอะไร? ควรถ่ายที่ไหน? เวลาใด? และจะถ่ายใคร? เขาเน้นว่าควรเขียนคำตอบเหล่านั้นออกมาให้ชัดเจนเสียก่อน และที่สำคัญคือ ไม่ควรออกไปถ่าย หากยังไม่แน่ใจว่าต้องการถ่ายทอดอะไร เมื่อมีแนวคิดที่ชัดเจนแล้ว จึงค่อยออกไปถ่ายซ้ำ ๆ เพื่อรอจังหวะหรือความรู้สึกที่ใช่ จนกว่าจะได้ภาพที่ถ่ายทอดสารที่ต้องการอย่างแท้จริง 

อย่างไรก็ตาม การประกวดภาพถ่ายสารคดีนี้ไม่ได้จบลงแค่เพียงการรับรางวัลเท่านั้น หากแต่เป็นโอกาสสำคัญที่ช่างภาพจะได้ ‘เปิดประตู’ สู่โลกของงานสารคดีอย่างแท้จริง ผู้ชนะในปีนี้และในปีต่อ ๆ ไป มีโอกาสเข้าร่วม workshop กับนักสำรวจจาก National Geographic Society (สำนักงานใหญ่) เป็นการทำงานร่วมกันกับทีมฉบับภาษาไทย ที่มุ่งสร้างชุมชนนักเล่ามาอย่างต่อเนื่อง และในอนาคตยังมีแผนจัดกิจกรรมอีกมากมาย เพื่อเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ ให้กับคนทำงานสายนี้  

อย่าพลาดโอกาสส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด “10 ภาพเล่าเรื่อง”National Geographic Thailand Photography Contest 2025 หัวข้อปีนี้ “Water of Life สายน้ำแห่งชีวิต” ชวนผู้รักการถ่ายภาพส่งชุดภาพถ่ายสารคดี 10 ภาพ ที่ถ่ายทอดเรื่องราว และความหมายของ “สายน้ำ” ผ่านมุมมองที่ลึกซึ้งและสร้างแรงบันดาลใจ
พร้อมชิงเงินรางวัลรวมกว่า 100,000 บาท ส่งผลงานได้ถึง 16 กรกฎาคม 2568 

อ่านข้อมูลและกติกาฉบับเต็มได้ที่ https://ngthai.com/photography/77241/photo-contest-2025-rules/  

ลงทะเบียนและส่งผลงานได้ที่ https://ngtcontest2025.amarin.co.th/ 

เรื่อง ญาณิศา ไชยคำ

โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

ภาพถ่าย ศุภกร ศรีสกุล


อ่านเพิ่มเติม : ถอดความคิด จากเบื้องหลังภาพถ่ายสารคดี

“10 ภาพเล่าเรื่อง” FOLLOW THE RIVER

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.