ศึกษาภาพสามมิติของถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน โดยจิสด้า

ศึกษาภาพสามมิติของ วนอุทยานถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน โดยจิสด้า

ภาพที่คุณผู้อ่านได้เห็นนี้ เป็นแบบจำลองของ วนอุทยานถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่เกิดขึ้นจากการนำข้อมูลของภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง มาประมวลผลรวมกับข้อมูลด้านอื่นๆ เช่น ข้อมูลชั้นความสูงของพื้นที่ และข้อมูลด้านภูมิศาตร์สารสนเทศ จากนั้นนำมาแสดงผลเป็นภาพ 3 มิติที่สามารถเห็นมุมมองได้รอบ เพื่อช่วยให้ข้อมูลในภาพรวมของพื้นที่นั้นๆ มากขึ้นโดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า (GISTDA) เรียกเทคโนโลยีนี้ว่า “ภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูงที่ผ่านกระบวนการภาพ 3 มิติ” ซึ่งให้ความละเอียดจนสามารถมองเห็นวัตถุที่มีขนาด 50 x 50 เซนติเมตรได้

คุณศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล รักษาการผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริการภูมิสารสนเทศ เล่าให้ฟังว่า การนำภาพนี้ไปใช้งานจริงจะมีสองลักษณะ หนึ่งคือการพรินต์แผนที่ออกมาในหลายมุมมอง เพื่อนำไปใช้งานในพื้นที่จริงซึ่งอินเตอร์เน็ตเข้าถึงได้ยาก สองนำข้อมูลที่ได้มาทำเป็นแบบจำลองที่สามารถหมุนดูได้รอบ เพื่อใช้ในการประเมินหาจุดที่ต้องการสำรวจ “กองบัญชาการสามารถซูมดูได้ว่า จะหาช่องทางเข้าถ้ำเพิ่มบริเวณจุดไหน” คุณศิริลักษณ์ยกตัวอย่างว่า ภาพ 3 มิตินี้จะมีส่วนช่วยในภารกิจค้นหา 13 ชีวิตที่ยังคงติดอยู่ในถ้ำได้อย่างไร

“อุปสรรคอย่างหนึ่งคือทางจิสด้าเองไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ แต่ใช้การวิเคราะห์รวบรวม ดังนั้นแล้วข้อมูลนี้จึงเป็นตัวช่วยในภารกิจสำรวจเท่านั้น” คุณศิริลักษณ์กล่าว พร้อมเสริมว่า ด้วยความที่พื้นที่เป็นป่าทึบ ดังนั้นยังคงต้องพึ่งพาการสำรวจภาคพื้นเป็นหลัก “เหมือนมองภาพรวม แล้วประเมินว่าจุดนี้ หรือจุดนี้น่าจะเข้าได้” ทั้งนี้ภาพถ่ายดาวเทียมของวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ถูกบันทึกไว้เมื่อหลายปีก่อน แต่ยังคงนำมาใช้งานได้เนื่องจากสภาพภูมิประเทศยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก (ขณะนี้อยู่ในฤดูฝน มีเมฆมากจึงไม่สามารถถ่ายภาพของ ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จากดาวเทียมใหม่ได้)

 

เทคโนโลยีดาวเทียมในปัจจุบัน

นอกเหนือจากการมีส่วนช่วยภารกิจสำรวจแล้ว เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมของจิสด้ายังสามารถใช้ในการสำรวจพื้นที่เกษตรที่รุกล้ำ, สำรวจพื้นที่ป่า ไปจนถึงแนวชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะได้อีกด้วย โดยขึ้นอยู่กับกรณีว่าต้องใช้ภาพถ่ายความละเอียดสูงมากน้อยแค่ไหน

ในช่วงหลายปีมานี้ เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมมีส่วนช่วยอย่างมากในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ ตลอดจนชาวบ้านท้องถิ่น คุณศิริลักษณ์ยกตัวอย่างกรณีของหมอกควันที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมช่วยตรวจจับ และแจ้งข้อมูลไปยังชาวบ้านเพื่อลดปัญหาได้ ตลอดจนใช้เพื่อประโยชน์ทางการเกษตรเพื่อตรวจสอบว่าแปลงผลผลิตนั้นๆ มีภาพรวมเป็นอย่างไร หรือใช้ในการตรวจสอบแปลงข้าวที่กำลังจะถูกน้ำท่วม เพื่อช่วยให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทัน ทั้งนี้ยังคงต้องพึ่งพาข้อมูลอื่นๆ มาประกอบ เนื่องจากภาพถ่ายจากดาวเทียมเป็นเพียงแค่การมองภาพรวมทั้งหมดเท่านั้น

ทว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาแบบก้าวกระโดดก็ไม่ต่างจากดาบสองคม ในหลายประเทศมีความกังวลว่าความคมชัดรายละเอียดสูงของภาพถ่ายดาวเทียมอาจนำไปสู่การรุกล้ำ หรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เมื่อประชาชนสามารถถูกจับตามองได้อยู่ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน คุณศิริลักษณ์อธิบายว่า โดยมาตรฐานแล้วทั้งในต่างประเทศและบ้านเราดาวเทียมที่ให้ข้อมูลในระดับสูงมักถูกใช้เพื่องานทางการทหารเพียงอย่างเดียว อีกทั้งในการถ่ายภาพจะมีหน่วยงานกำหนดกฎระเบียบ และพื้นที่ต้องห้าม เพื่อปกป้องสิทธิส่วนบุคคล เช่น พื้นที่ที่มีการสู้รบ หรือบริเวณพระราชวัง ประกอบกับในการถ่ายภาพแต่ละครั้งต้องมีการควบคุมโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อป้องกันไม่ให้สิทธิส่วนบุคคลถูกละเมิดด้วยเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วนี้ จึงไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะสามารถนำเทคโนโลยีดาวเทียมไปใช้จับตา สอดส่อง โดยไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม

ขอบคุณข้อมูลจาก

GISTDA 

คุณศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล รักษาการผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริการภูมิสารสนเทศ

และ ภาคภูมิ เหล่าตระกูล นักสื่อสารองค์กร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

 

 

อ่านเพิ่มเติม

โลกไซเบอร์ : เมื่อเราถูกจับตามองมากขึ้นเรื่อยๆ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.