ศึกษาผลกระทบทางใจหลังออกจากถ้ำผ่านเหตุการณ์ในชิลี

ศึกษา ผลกระทบทางใจหลังออกจากถ้ำ ผ่านเหตุการณ์ในชิลี

ขอแสดงความยินดีกับ 13 ชีวิตทีมหมูป่าที่ในที่สุดก็สามารถออกมาจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนได้หลังติดอยู่นานถึง 17 วัน และขอขอบคุณในความพยายามของเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องมา ณ ที่นี้ รวมไปถึงกำลังใจจากทั่วโลกที่ช่วยให้ภารกิจครั้งนี้ประสบความสำเร็จ

หลังออกมาจากถ้ำพวกเขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยและพักฟื้นร่างกาย ทั้งนี้ผู้ประสบภัยทั้ง 13 คน ปัจจุบันมีสภาพร่างกายและสภาพจิตใจที่แข็งแรงดี ดูได้จากภาพในคลิปวิดีโอของหน่วยซีลที่พวกเขาแนะนำตัวกับกล้อง และจดหมายที่พวกเขาเขียนถึงครอบครัวที่รออยู่ด้านนอกเพื่อให้ทุกคนสบายใจ ไม่ต้องเป็นห่วง

ทว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสภาพจิตใจของบรรดาผู้ประสบภัยเหล่านี้ เมื่อเหตุการณ์ทั้งหมดสิ้นสุดลง? แม้การประเมินผลกระทบทางจิตใจยังไม่สามารถทำได้ในตอนนี้ แต่เราสามารถศึกษากรณีที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กๆ และโค้ชได้ ผ่านเหตุการณ์ในอดีต พร้อมเรียนรู้วิธีการป้องกัน ตลอดจนเยียวยาจิตใจของพวกเขา

 

ทำความรู้จักกับ PTSD

PTSD หรือ Post – Traumatric Stress Disorder คืออาการความเครียดและเจ็บป่วยหลังเผชิญกับเหตุการณ์ที่มีผลกระทบทางใจอย่างรุนแรง ซึ่งเหตุการณ์สะเทือนใจเหล่านั้นครอบคุลมตั้งแต่การสูญเสียคนรัก ไปจนถึงการประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรืออุบัติเหตุ บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยยังคงไม่สามารถลืมภาพของเหตุการณ์นั้นๆ หรือไม่สามารถสลัดออกไปจากหัวได้ บางครั้งอาจมาในรูปแบบของความฝัน หรือเกิดความเครียดอย่างรุนแรงเมื่อพบเจอกับสิ่งกระตุ้น เช่น ในกรณีของผู้ที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ การกลับไปนั่งรถยนต์อีกครั้งอาจทำได้ยาก เพราะรถยนต์ชวนให้คิดถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่เคยประสบมา

อาการอื่นๆ ทางจิตที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากการไม่สามารถสลัดความคิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ออกไปจากหัวก็ได้แก่ อาการวิตกกังวล, นอนไม่หลับ, หวาดระแวง หรือซึมเศร้า กล่าวโทษตนเองหากมีผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ ซึ่ง PTSD นั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้ว่าบุคคลนั้นๆ จะไม่เคยมีแนวโน้มว่าเป็นคนคิดมาก หรือซึมเศร้ามาก่อนก็ตาม ในหลายประเทศ อาการทางจิตนี้พบได้มากในกลุ่มทหารผ่านศึก และมีหลายกรณีที่จบลงด้วยความรุนแรงเช่น ใช้อาวุธปืนทำร้ายผู้อื่น หรือฆ่าตัวตาย

Sebastian Pinera ประธานาธิบดีชิลีในช่วงเวลานั้น (คนที่สามจากขวามือ) ชมการสาธิตใช้แคปซูลเพื่อช่วยชีวิตคนงานที่ติดอยู่ใต้เหมือง เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2010
ภาพถ่ายโดย Hugo Infante

 

เกิดอะไรขึ้นกับคนงานเหมืองในชิลี

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2010 เกิดอุบัติเหตุในเหมืองทองแดงกลางทะเลทรายอาตากามา เมืองซานโฮเซ ของชิลี ส่งผลให้เหมืองถล่มและปิดทางเข้าออกขังคนงานจำนวน 33 คนไว้ใต้ดินที่ระดับความลึกถึง 700 เมตร พวกเขาต้องใช้ชีวิตในเหมืองนาน 69 วัน กว่าทีมกู้ภัยจะเจาะเปิดช่อง และส่งแคปซูลลงไปรับตัวคนงานขึ้นมาทีละคนได้

Jonathan Franklin ผู้เขียนหนังสือ 33 Men ซึ่งถ่ายทอดประสบการณ์เอาชีวิตรอดขณะติดอยู่ภายในเหมือง และการกู้ภัยเล่าให้สำนักข่าว NPR ฟังในระหว่างการเปิดตัวหนังสือหนึ่งปีหลังเหตุการณ์ว่า เมื่อทุกอย่างสิ้นสุดลงแล้วชายผู้ประสบภัยทั้ง 33 คนนี้ไม่ทราบว่าจะรับมืออย่างไรกับชื่อเสียง และความสนใจที่พุ่งมาที่พวกเขาทุกทิศทาง “พวกเขามีอาการของสคิโซฟรีเนีย (schizophrenic) โรคที่มีความผิดปกติของความคิด จินตนาการดูว่าวันหนึ่งคุณได้พักในโรงแรมระดับ 5 ดาว แต่เมื่อถึงเวลาต้องบินกลับบ้านที่ชิลี บ้านคุณไม่มีน้ำประปาใช้เสียด้วยซ้ำ”

นอกเหนือจากความเปลี่ยนแปลงหลังโด่งดังในชั่วข้ามคืนแล้ว อาการทางจิตจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญคือสิ่งที่หลายคนประสบ “หนึ่งในพวกเขาเล่าให้ผมฟังว่าเขากลับเข้าไปในเหมืองได้แค่สองนาที แต่แล้วก็รู้สึกวิงเวียนศีรษะ และหวาดกลัวสุดท้ายจึงต้องวิ่งออกมา” Franklin กล่าว “คนงานอีกคนเล่าว่าแค่เขามองดูปากทางเข้าเหมืองก็ถึงกับร้องไห้ออกมา ผมบอกเขาว่าคุณรอดชีวิตแล้วนะ เขากลับบอกว่าความสุขทั้งชีวิตของเขาหายไปกับเหมืองนั่นด้วย”

ด้านจิตแพทย์เผยว่า 32 ใน 33 คนของคนงานถูกวินิจฉัยว่าเป็น PTSD บางคนมีอาการฝันร้าย บางคนใช้ความรุนแรงกับลูกและภรรยา และมีอยู่คนหนึ่งที่พยายามก่ออิฐล้อมรอบบ้านของตนเอง

ภาพถ่ายจากกล้องวิดีโอภายในเหมืองแสดงให้เห็นถึงวิธีการขนย้ายคนงานออกไปทีละคนผ่านแคปซูล
ภาพถ่ายโดย Reuters

สำนักข่าว Express ของสหราชอาณาจักรติดตามชีวิตของคนงานเหล่านี้หลังผ่านเหตุการณ์ไปแล้ว 5 ปี พวกเขาพบว่าคนงานบางส่วนใน 33 คนยังคงกลับไปทำงานเหมืองเช่นเดิม บางคนพยายามประกอบอาชีพใหม่ บางคนเผชิญกับการติดแอลกอฮอล์ และยาเสพติด ในขณะที่ส่วนใหญ่เล่าว่าพวกเขายังคงขวัญผวา และเจ็บปวดกับฝันร้ายจากเหตุการณ์

มาริโอ เซพัลเวดา อดีตคนงานเหมืองชิลีผู้ส่งคลิปวิดีโอสั้นๆ ให้กำลังใจทีมหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงว่าให้ทุกคน “สู้ต่อไป และเข้มแข็งเอาไว้!” ให้สัมภาษณ์ว่าตัวเขาต้องต่อสู้กับความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายของตนเอง “ผู้คนเห็นภาพเจ้าหน้าที่ช่วยเราขึ้นมาได้และคิดกันว่านรกสิ้นสุดเสียที” เขากล่าว “อันที่จริงมันเพิ่งจะเริ่มเท่านั้น”

เซพัลเวดาเล่าให้ฟังว่า พวกเขารู้สึกว่าถูกใช้ประโยชน์ จากนั้นก็ทอดทิ้งในเวลาต่อมา โดยบริษัทเหมืองที่ปัดสาเหตุที่เกิดขึ้นไปให้ภัยธรรมชาติ หรือนักการเมืองที่ใช้ปฏิบัติการดังกล่าวเรียกคะแนนนิยมให้ตนเอง ไปจนถึงทนายความที่กันเขาออกจากสิทธิ และการชดเชยที่พวกเขาได้รับ

“ทุกคนได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยกเว้นเรา” เซพัลเวดากล่าว “หลังเหตุการณ์พวกเขาพาเราไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์ หรือเยี่ยมชมสนามของแมนเชสเตอร์ยูไนเตด พาเราไปออกรายการ แต่ไม่ได้ช่วยให้เรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” (5 ปีหลังเหตุการณ์คนงานหลายคนยังคงมีฐานะยากจนไม่ต่างจากเดิม)

Alex Vega วัย 31 ปี คนงานเหมืองเดินออกมาจากแคปซูล เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2010 หลังติดอยู่ใต้เหมืองมานาน 69 วัน
ภาพถ่ายโดย Hugo Infante

ด้าน Edison Pena คนงานเหมืองอีกคนต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้า เข้าออกสถานบำบัด เผยว่าการหางานกลายเป็นเรื่องยาก เนื่องจากหลายบริษัทเชื่อว่าผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นนั้นจะกระทบต่องานไปด้วย ในขณะที่เหมืองอื่นๆ เองก็กังวลว่าการจ้างอดีตผู้ประสบภัยเหล่านี้จะดึงดูดความสนใจมากเกินไป และอาจนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ ในอนาคต

 

เยียวยาจิตใจ

สำนักข่าว newscientist เคยลงบทวิเคราะห์ไว้ว่า คนงานเหมืองเหล่านั้นอาจเผชิญกับความเจ็บป่วยทางจิตใจเมื่อเรื่องราวของพวกเขาค่อยๆ จางหายไปจากสื่อ และความสนใจของโลก

“เมื่อแสงไฟจากสื่อไม่ได้ฉายไปที่พวกเขาแล้ว โลกก็จะลืมพวกเขาอย่างรวดเร็ว แต่ตัวเขาเองไม่มีวันลืม” Sheryl Bishop นักจิตวิทยาสังคมจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ผู้เชี่ยวชาญการเอาชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมที่รุนแรงกล่าว พร้อมระบุว่าหากการสนับสนุนต่างๆ จากหน่วยงานและรัฐบาลจางหายไปด้วย ก็จะยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนถูกทอดทิ้งมากยิ่งขึ้น

Laurence Golborne รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่ของชิลีออกแถลงต่อสื่อมวลชนก่อนเริ่มปฏิบัติการกู้ภัยช่วยเหลือคนงาน 33 คนด้วยแคปซูล
ภาพถ่ายโดย Rodrigo Arangua

สำหรับในกรณีของถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ให้คำแนะนำว่า เมื่อผู้ประสบภัยทั้ง 13 คนออกมาจากถ้ำได้แล้ว สำคัญมากที่ต้องหลีกเลี่ยงการถามถึงเหตุการณ์ซ้ำๆ เนื่องจากเป็นการตอกย้ำถึงความโหดร้ายที่เกิดขึ้น พร้อมระมัดระวังไม่ให้น้องๆ เสพโซเชียลมากเกินไปเนื่องจากมีทั้งคนชื่นชม และคนตำหนิ เสียงวิพากษ์วิจารณ์อาจนำไปสู่ความเจ็บป่วยทางจิตใจที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตในระยะยาวได้

ทั้งนี้อาการ PTSD อาจไม่ได้เกิดขึ้นกับเด็กทุกคน เนื่องจากแต่ละคนมีพื้นฐานชีวิต และการรับมือทางอารมณ์ที่ต่างกัน แต่เป็นเรื่องปกติที่ผู้ประสบภัยจะเกิดความเครียดในช่วงแรก การประเมินสุขภาพจิตในระยะยาวจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคอยติดตามอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าเหตุการณ์จะจบลงไปแล้วก็ตาม รวมไปถึงสุขภาพจิตของครอบครัวด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้พ่อแม่โทษตัวเองว่าเลี้ยงลูกได้ไม่ดี หรือเป็นสาเหตุของเรื่องทั้งหมด

 

อ่านเพิ่มเติม

ศึกษาภาพสามมิติของถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน โดยจิสด้า

 

แหล่งข้อมูล

Chile’s rescued miners: the psychological after-effects

Psychological Issues For Trapped Miners

Underground, Under the Weather

What became of the Chilean miners five years on?

A Year Later, Chilean Miners Sift Through Trauma

การรักษาโรค PTSD

PTSD คืออะไร อาการความเครียดหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ (POST-TRAUMATIC STRESS DISORDER)

จิตแพทย์เด็ก แนะวิธีเยียวยาจิตใจ 13ชีวิตทีมหมูป่า หลังออกจากถ้ำหลวง

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.