เชาวน์ปัญญา (intelligence) คือคุณลักษณะที่มักถือกันว่าเป็นมาตรวัดของอัจฉริยะ เป็นคุณสมบัติวัดได้ที่ทำให้เกิดความสำเร็จใหญ่หลวง ลูอิส เทอร์แมน นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้ร่วมบุกเบิกการทดสอบเชาวน์ปัญญา หรือไอคิว (IQ) เชื่อว่า ผลการทดสอบเชาวน์ปัญญาบ่งชี้ถึงอัจฉริยภาพได้ด้วย ย้อนหลังไปในทศวรรษ 1920 เขาเริ่มติดตามนักเรียนในแคลิฟอร์เนียกว่า 1,500 คนซึ่งมีผลทดสอบเชาวน์ปัญญาเกิน 140 อันเป็นขีดที่เขากำหนดว่า “ใกล้อัจฉริยะหรืออัจฉริยะ (near genius or genius)” เพื่อดูว่าเด็กเหล่านี้ใช้ชีวิตอย่างไรโดยปรียบเทียบกับเด็กอื่นๆ เทอร์แมนกับเพื่อนร่วมงานติดตามผู้เข้าร่วมวิจัยเหล่านี้ไปตลอดชีวิต และบันทึกความสำเร็จของพวกเขาไว้ในรายงานต่อเนื่องเรื่อง การศึกษาพันธุกรรมของอัจฉริยะ (Genetic Studies of Genius) คนกลุ่มนี้มีทั้งสมาชิกสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ นักการเมือง แพทย์ อาจารย์ และนักดนตรี
แต่ลำพังการมีเชาวน์ปัญญาดีเยี่ยมใช่ว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จใหญ่หลวงเสมอไป ผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวนมากซึ่งมีผลทดสอบเชาวน์ปัญญาสูงลิ่วต้องดิ้นรนที่จะประสบความสำเร็จ หลายสิบคนถูกให้ออกจากวิทยาลัยในปีแรก ทว่าหลายคนที่มีผลทดสอบไม่สูงพอหรือถึงเกณฑ์ที่จะอยู่ในโครงการศึกษากลับโตขึ้นมาประสบความสำเร็จ กรณีการถูกมองข้ามเช่นนี้มีตัวอย่างให้เห็นก่อนหน้าแล้ว นั่นคือ ชาร์ลส์ ดาร์วิน เขาจำได้ว่าตัวเองเคยถูกมองเป็น “เด็กธรรมดามากๆ สติปัญญาออกจะทึบกว่ามาตรฐานทั่วไป” แต่เมื่อเติบใหญ่ ดาร์วินคือผู้ไขปริศนาว่า ความหลากหลายอันน่าทึ่งของสรรพชีวิตเกิดขึ้นได้อย่างไร
การค้นพบสำคัญๆ ทางวิทยาศาสตร์ เช่น ทฤษฎีวิวัฒนาการที่อาศัยการคัดเลือกโดยธรรมชาติของดาร์วิน จะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเปรียบเหมือนด้ายเส้นหนึ่งของความเป็นอัจฉริยะที่เทอร์แมนวัดไม่ได้
เร็กซ์ ยุง นักประสาทวิทยาศาสตร์ บอกว่า กระบวนการคิดสร้างสรรค์ขึ้นอยู่กับการปฏิสังสรรค์อย่างมีพลวัตของโครงข่ายประสาทที่ทำงานร่วมกันและมาจากส่วนต่างๆ ของสมองพร้อมๆ กัน ทั้งซีกซ้ายและซีกขวา โดยเฉพาะเปลือกสมองกลีบหน้าผากส่วนหน้า โครงข่ายหนึ่งในนั้นเสริมสมรรถภาพการตอบสนองความต้องการภายนอกของเรา นั่นคือกิจกรรมที่ต้องลงมือทำ เช่น การไปทำงานและการจ่ายภาษี โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณส่วนนอกของสมอง ส่วนอีกโครงข่ายหนึ่งบ่มเพาะกระบวนการคิดภายใน รวมถึงการฝันกลางวันและการใช้จินตนาการ ซึ่งหลักๆ จะอยู่ในบริเวณส่วนกลางของสมอง
ลักษณะหรือสัญญาณหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์ คือความสามารถในการเชื่อมโยงแนวคิดที่ดูไม่ปะติดปะต่อกัน การสื่อสารที่เข้มข้นกว่าระหว่างส่วนต่างๆ ของสมองอาจช่วยให้การเชื่อมโยงเหล่านั้นเป็นไปได้ แอนดรูว์ นิวเบิร์ก ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยจากสถาบันมาร์คัสเพื่อการบูรณาการสุขภาวะ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยทอมัสเจฟเฟอร์สัน ใช้การสร้างภาพด้วยแรงดึงการซึมผ่าน (diffusion tensor imaging) ซึ่งเป็นเทคนิคเอ็มอาร์ไอที่ใช้สารทึบแสงช่วยติดตามเส้นทางของระบบประสาทในสมองของบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ ผู้เข้าร่วมวิจัยจะได้รับแบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์มาตรฐานที่ขอให้คิดวิธีใช้งานใหม่ๆ สำหรับของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ไม้เบสบอลและแปรงสีฟัน นิวเบิร์กมุ่งจะเปรียบเทียบการเชื่อมโยงในสมองของบุคคลที่ประสบความสำเร็จสูงเหล่านี้กับของกลุ่มควบคุมเพื่อดูว่า ปฏิสัมพันธ์ในสมองส่วนต่างๆ มีประสิทธิภาพต่างกันหรือไม่
การเปรียบเทียบเบื้องต้นระหว่างสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่ม “อัจฉริยะ” ซึ่งนิวเบิร์กใช้ในความหมายกว้างๆ เพื่อแยก กลุ่มตัวอย่างสองกลุ่ม กับสมาชิกอีกคนจากกลุ่มควบคุม เผยให้เห็นความแตกต่างที่น่าสนใจ ผลการสแกนสมองของทั้งคู่พบปื้นสีแดง เขียว และน้ำเงิน สว่างเป็นลำในเนื้อขาว (white matter) ซึ่งเป็นส่วนของใยประสาทขาออกที่ยอมให้เซลล์ประสาทส่งผ่านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกัน ปื้นสีแดงในแต่ละภาพคือคอร์ปัสคอลโลซัม (corpus callosum) หรือกลุ่มใยประสาทตรงส่วนกลางกว่า 200 ล้านเส้นที่เชื่อมสมองซีกซ้ายกับซีกขวาและช่วยให้สมองสองซีกเชื่อมโยงถึงกัน นิวเบิร์กบอกว่า “ยิ่งเห็นปื้นสีแดงมากเท่าไร ก็แสดงว่าใยประสาทเชื่อมต่อกันมากเท่านั้นครับ” ความแตกต่างนั้นเห็นได้ชัด กล่าวคือพื้นที่สีแดงในสมองของ “อัจฉริยะ” ดูกว้างเกือบสองเท่าของพื้นที่สีแดงในสมองของกลุ่มควบคุม
ขณะที่นักประสาทวิทยาศาสตร์พยายามทำความเข้าใจว่า สมองส่งเสริมพัฒนาการของกระบวนการคิดแบบปรับกระบวนทัศน์ได้อย่างไร นักวิจัยคนอื่นๆ ก็พยายามหาคำตอบว่า ความสามารถนี้พัฒนาขึ้นเมื่อไรและพัฒนาขึ้นจากอะไร อัจฉริยะเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดหรือฝึกฝนได้กันแน่ ฟรานซิส กอลตัน ญาติของดาร์วิน คัดค้านสิ่งที่เขาเรียกว่า“การเสแสร้งของความเสมอภาคทางธรรมชาติ” โดยเชื่อว่าอัจฉริยะสืบทอดทางสายเลือด เขาพิสูจน์ด้วยการไล่เรียงสายตระกูลของผู้นำด้านต่างๆของยุโรป ตั้งแต่โมซาร์ทและไฮเดินไปจนถึงไบรอน, ชอเซอร์, ตีตุส และนโปเลียน ในปี 1869 กอลตันตีพิมพ์ผลการศึกษาในหนังสือ อัจฉริยะทางกรรมพันธุ์ (Hereditary Genius) ซึ่งจะจุดประกายการถกเถียงเรื่อง “ธรรมชาติกับการเลี้ยงดู” (nature versus nurture) และทำให้เกิดสุพันธุศาสตร์ (eugenics) หรือการปรับปรุงลักษณะทางพันธุกรรมของมนุษย์
ทว่าลำพังศักยภาพทางพันธุกรรมไม่อาจนำพาเราไปสู่ความสำเร็จได้เสมอไป มนุษย์ยังต้องอาศัยการเลี้ยงดูเพื่อบ่มเพาะอัจฉริยะ อิทธิพลทางสังคมและวัฒนธรรมอาจให้สารอาหารหล่อเลี้ยงจนเกิดกลุ่มอัจฉริยะขึ้นในบางยุคสมัยและบางสถานที่ในประวัติศาสตร์ เช่น แบกแดดช่วงยุคทองของอิสลาม โกลกาตาสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในเบงกอล และซิลิคอนแวลลีย์ในปัจจุบัน
พรสวรรค์และสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดูยังอาจไม่มากพอที่จะสร้างอัจฉริยะได้ หากไม่มีแรงจูงใจและความมุ่งมั่นอย่างดื้อรั้นที่ส่งให้ใครสักคนก้าวไปข้างหน้า ลักษณะทางบุคลิกภาพเหล่านี้ซึ่งผลักดันให้ดาร์วินใช้เวลา 20 ปีขัดเกลา กำเนิดแห่งชีวิต (Origin of Species) จนสมบูรณ์แบบ และส่งให้ศรีนิวาสะ รามานุชัน นักคณิตศาสตร์ชาวอินเดีย คิดสูตรคำนวณหลายพันสูตร อีกทั้งเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานของแอนเจลา ดั๊กเวิร์ท นักจิตวิทยาผู้เชื่อว่า การผสมผสานระหว่างความรักกับความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่เธอเรียกว่า “ความอึด” ผลักดันให้ผู้คนประสบความสำเร็จ ดั๊กเวิร์ทเองเป็น “อัจฉริยะ” ของมูลนิธิแมกอาร์เทอร์และเป็นอาจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เธอเชื่อว่า มีความแตกต่างเมื่อพูดถึงพรสวรรค์ของแต่ละบุคคล แต่ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะฉลาดแค่ไหน ความอดทนและการฝึกฝนคือกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ “เวลาที่เราเห็นใครบางคนทำเรื่องเจ๋งๆได้สำเร็จ นั่นไม่ใช่ว่าเขาไม่ใช้ความพยายามนะคะ” เธอบอก
โอกาสของว่าที่อัจฉริยะอาจสะดุดถ้าไม่ได้รับการสนับสนุน เพราะพวกเขาไม่เคยมีโอกาสได้ผลิตผลงาน ตลอดประวัติศาสตร์ ผู้หญิงไม่ได้รับโอกาสให้เล่าเรียนอย่างเป็นทางการ ถูกกีดกันจากความก้าวหน้าทางอาชีพ และไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร มาเรีย อันนา พี่สาวของโมซาร์ท เป็นนักดนตรีฮาร์ปซิคอร์ดดาวรุ่ง แต่ถูกบิดาตัดโอกาสทางอาชีพเมื่ออายุ 18 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่สมควรมีครอบครัว ผู้หญิงครึ่งหนึ่งในงานวิจัยของเทอร์แมนลงเอยด้วยการเป็นแม่บ้านคนที่เกิดมาจนหรือถูกกดขี่ไม่มีโอกาสทำงานใดๆ มากไปกว่าการประทังชีวิต “ถ้าคุณเชื่อว่าอัจฉริยะคือความโดดเด่นที่สามารถดึงออกมาและอบรมบ่มเพาะได้จริงๆ แล้วละก็” แดร์ริน แมกมาฮอน นักประวัติศาสตร์ บอก “ก็ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างเหลือเชื่อที่อัจฉริยะหรือว่าที่อัจฉริยะหลายพันคนต้องแห้งเหี่ยวและตายไป”
เรื่อง คลอเดีย คัลบ์
ภาพถ่าย เปาโล วูดส์
อ่านเพิ่มเติม