จุดราตรีเสมอภาคคืออะไร แล้วเหตุใดจึงเกิดขึ้น?

สโตนเฮนจ์เป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับการเยี่ยมชมปรากฏการณ์ วิษุวัต ซึ่งนำคนต่างศาสนามารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองความสมดุลของแสงแห่งกลางวันและความมืดในช่วงค่ำคืนบนโลก

ภาพถ่าย DONALD SLACK / ALAMY STOCK PHOTO

จุดราตรีเสมอภาคคืออะไร แล้วเหตุใดจึงเกิดขึ้น?

เมื่อทิวาและราตรีบรรจบกัน ปรากฏการณ์วิษุวัตจึงบังเกิดขึ้นโดยฉับพลัน

วิษุวัต เป็นปรากฏการณ์ที่โลกมีช่วงเวลากลางวันยาวนานเท่ากับกลางคืน ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกๆ 6 เดือน โดยครั้งแรกจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม และครั้งที่สองเกิดขึ้นในเดือนกันยายน

ดวงอาทิตย์ขึ้นโดดเด่นกลางเจดีย์แห่งนครวัดในเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ซึ่งเผยให้เห็นปรากฏการณ์วิษุวัต ภาพถ่ายโดย AFP/GETTY IMAGES

ในวันที่ 20 มีนาคม ธรรมชาติจะนำพาให้เรามาพบกับช่วง วสันตวิษุวัต (vernal equinox) อีกครั้ง โดยช่วงเวลาดังกล่าวคือช่วงเริ่มต้นของฤดูร้อนในซีกโลกเหนือและฤดูหนาวในซีกโลกใต้ จากนั้น เมื่อถึงวันที่ 23 กันยายนของทุกปี ซึ่งตรงกับฤดูใบไม้ร่วง ศารทวิษุวัต (autumnal equinox) จะเป็นสัญญาณแห่งการมาเยือนของฤดูหนาวในเขตซีกโลกเหนือและเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูร้อนในเขตซีกโลกใต้

พีระมิดเอลกัสติโยแห่งนครโบราณชีเซนอิตซา ประเทศเม็กซิโก ต้องแสงจากดวงอาทิตย์ โดยแสงแดดบางเบานั้นได้สร้างเงาที่มีลักษณะคล้ายงูเลื้อยบนบันไดพีระมิด ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้คนนับพันได้ ภาพถ่ายโดย DONALD MIRALLE/GETTY IMAGES

 

เพราะเหตุใดวิษุวัตจึงเกิดขึ้น?

ปรากฏการณ์วิษุวัตนั้นเกิดขึ้นปีละ 2 ครั้ง โดยในหนึ่งรอบที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ความเอียงของแกนโลกจะเลื่อนมาอยู่ในระนาบที่ตั้งฉากกับตำแหน่งดวงอาทิตย์พอดี และเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรของโลกอีกด้วย โดยเส้นแบ่งระหว่างด้านกลางวัน-กลางคืนของดาวมีชื่อเรียกว่า ตำเเหน่งเทอร์มิเนเตอร์ (Terminator)

ปราสาท Hovenweep ในอนุสรณ์สถานแห่งชาติ Hovenweep ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐยูทาห์สร้างขึ้นโดยอนาซาซี ในช่วงระหว่างปี 1200 และ 1300 ซึ่งเคยเป็นที่อยู่ของผู้คนจำนวนมากกว่า 2,500 คน โดยภายในปราสาทมีห้องที่นักโบราณคดีตั้งทฤษฎีว่าอาจใช้เป็นปฏิทินสุริยคติ ภาพถ่ายโดย KATIE FALKENBERG/LOS ANGELES TIMES VIA GETTY IMAGES

 

บันทึกช่วงเวลาแห่งการเกิดวิษุวัต

วัฒนธรรมโบราณได้ติดตามปรากฏการณ์วิษุวัตในรูปแบบที่แตกต่างกันมาเป็นระยะเวลากว่าพันปี อย่างการสังเกตการณ์จากอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้น เช่น พีระมิด จนไปถึงหินสลักที่ทำหน้าที่เป็นปฏิทินบ่งบอกช่วงเวลา หรือแม้แต่อารยธรรมต่างๆ ที่บอกถึงการพาดผ่านของดวงอาทิตย์และฤดูกาลด้วยความแม่นยำสูง

ณ วัด Mnajdra ในสาธารณรัฐมอลตา ดวงอาทิตย์ส่องแสงลงมาตามทางเดินในช่วงระหว่างวัน วสันตวิษุวัต ภาพถ่ายโดย CM DIXON/PRINT COLLECTOR/GETTY IMAGES

ในบางวัฒนธรรมนั้นยังคงร่วมเฉลิมฉลองปรากฏการณ์วิษุวัตมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น ชนเผ่าลาโกต้า (Lakota) ทางตะวันตกตอนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้เชื่อมโลกและท้องฟ้าเข้าด้วยกันโดยการสร้างยาสูบจากต้นเรดวิลโลว์ (Red Willow Tree) ซึ่งต้นดังกล่าวสัมพันธ์กับกลุ่มดาว Dried Willow เป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์ขึ้นในช่วงวสันตวิษุวัต และพวกเขาจะสูบยาอันศักดิ์สิทธิ์นี้ในพิธีเพื่อบันทึกถึงช่วงเวลาอันยาวนานที่มาบรรจบกันอีกครั้ง

และเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ปี 2018  ณ ประเทศอังกฤษ ก็ได้มีประชาชนส่วนหนึ่งมารวมตัวกันที่สโตนเฮนจ์ (Stonehenge) เพื่อเข้าร่วมชุมนุมเป็นสักขีพยานในการชมดวงอาทิตย์ขึ้นเหนือก้อนหินโบราณ

 

***แปลและเรียบเรียงโดย กุลธิดา ปัญญาเชษฐานนท์
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม

ทุกอย่างเกี่ยวกับดวงดาวที่คุณอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.