ระบบทางเดินอาหาร : อวัยวะในระบบทางเดินอาหาร

ระบบทางเดินอาหาร เป็นหนึ่งในระบบการทำงานรน่วมกันของอวัยวะภายในร่างกาย เป็นระบบที่ส่งเเสริมให้ร่างกายได้รับสารอาหารและน้ำจากอาหารที่บริโภคเข้าไป

ระบบทางเดินอาหาร เป็นระบบที่ทำหน้าที่ในการบดย่อยอาหาร และดูดซึมสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานในการดำเนินกิจกรรมของเซลล์ ในทางเดินอาหารประกอบด้วยส่วนที่เป็นช่องทางเดินอาหารจากปากสู่ทวารหนัก และอวัยวะอื่นๆ ที่มีบทบาทร่วมในการย่อยอาหาร เข่น ตับ ตับอ่อน และถุงน้ำดี ช่องทางเดินอาหารทั้งหมด ประกอบด้วย ช่องปาก หลอดอาหาร กระเพราะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก

สำหรับลำไส้เล็กสามารแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenum) ลำไส้เล็กส่วนกลาง (Jejunum) และลำไส้เล็กส่วนปลาย (Ileum) ส่วนของลำไส้ใหญ่แบ่งออกเป็น 3 ช่วงเช่นกัน ประกอบด้วย ชีกัม (Cecum) โคลอน (Colon) และเร็กตัม (Rectum) ในทางเดินอาหารของมนุษย์มักพบเชื้อจุลชีพเฉพาะถิ่น (normal flora) อาศัยอยู่ในบางส่วน เพื่อช่วยย่อยอาหารที่เรารับประทานเข้าไป

ระบบทางเดินอาหาร ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังต่อไปนี้

อวัยวะต่างๆ ที่อยู่ตลอดทางเดินอาหารทำหน้าที่ย่อยอาหารให้มีขนาดเล็ก คลุกเคล้าเนื้ออาหารกับน้ำย่อย และดูดซึมสารอาหารเข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิตต่อไป การย่อยแบ่งเป็นสองประเภทคือ

  1. การย่อยเชิงกล คือ การเคี้ยว การคุลกเคล้าอาหารที่กระเพาะและลำไส้
  2. การย่อยเชิงเคมี คือ การย่อยอาหารโดยน้ำย่อยชนิดต่างๆ ที่อยู่ในทางเดินอาหาร รวมทั้งที่ผลิตมาจากตับ ตับอ่อน และถุงน้ำดี
ขอบคุณภาพจาก National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Disease

อวัยวะในระบบทางเดินอาหาร

ช่องปาก (Mouth cavity)

กระบวนการย่อยเริ่มต้นที่ช่องปาก เมื่อคุณเริ่มเคี้ยวอาหาร ฟันทำหน้าที่บดอาหารให้เป็นชิ้นเล็ก ต่อมน้ำลายจะผลิตน้ำลายออกมาคลุกเคล้ากับอาหาร เพื่อให้ง่ายต่อการกลืนและเคลื่อนผ่านไปยังส่วนต่อไป นอกจากนี้ ในน้ำลายยังมีเอนไซม์อะไมเลส ทำหน้าที่ย่อยอาหารจำพวกแป้งด้วย

หลอดอาหาร (Esophagus)

หลังจากที่เรากลืนอาหารผ่านลำคอลงไป อาหารจะเคลื่อนผ่านหลอดอาหารด้วยวิธีที่เรียกว่า Peritalsis ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของหลอดอาหารให้ก้อนอาหารที่กลืนลงไปตกลงสู่กระเพาะอาหาหาร

กระเพาะอาหาร (Stomach)

เมื่ออาหารเคลื่อนมายังกระเพาะอาหาร ก้อนอาหารจะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารเกิดการเคลื่อนไหว หรือเกิดการบีบตัวและคลายตัว เพื่อเป็นการคลุกเคล้าอาหารให้ทำผสมกับน้ำย่อยที่หลั่งออกมจากต่อมไร้ท่อ ในกระเพาะอาหารจะมีสภาวะเป็นกรดประมาณ pH 2 – 3 ซึ่งเอื้อต่อการทำงานของเอนไซม์หรือน้ำย่อย โดยอาหารจำพวกโปรตีนจะถูกย่อยที่กระเพาะอาหารมากที่สุดด้วยเอนไซมม์เพปซิน (Pepsin)

ตับอ่อน (Pancreas)

ตับอ่อนทำหน้าที่ในการผลิตน้ำย่อยซึ่งเป็นเอนไซม์หลายชนิด และมีบทบาทในการย่อยอาหารจำพวกโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน น้ำย่อยที่ผลิตโดยดับอ่อนจะลำเลียงผ่านท่อมาสู่ทางเดินอาหารที่ลำไส้เล็กส่วนต้น

ตับ (Liver)

บทบาทของตับในระบบทางเดินอาหารคือทำหน้าที่ผลิตน้ำดี เพื่อช่วยการย่อยไขมันและวิตามินบางชนิด โดยน้ำดีที่สร้างจากตับจะเก็บไว้ที่ถุงน้ำดีและลำเลียงเข้าสู่ทางเดินอาหารบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น

ถุงน้ำดี (Gallbladder)

ทำหน้าที่เก็บน้ำดี (Bile) ที่ผลิตมาจากตับ และปล่อยน้ำดีเข้าสู่ทางเดินอาหารผ่านท่อน้ำดี เมื่อมีอาหารเคลื่อนผ่านมายังลำไส้เล็กส่วนต้น

ลำไส้เล็ก (Small intestine)

ลำไส้เล็กทำหน้าที่ผลิตน้ำย่อย, คลุกเคล้าอาหารที่ให้เข้ากับน้ำย่อยจากตับอ่อน, และดูดซึมสารอาหารที่ย่อยแล้ว สารอาหารทั้งโปรตีนน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน จะถูกย่อยอย่างสมบูรณ์ภายในลำไส้เล็ก แบคทีเรียบางชนิดที่อยู่ในลำไส้เล็กมีบทบาทในการผลิตเอนไซม์เพื่อช่วยย่อยคาร์โบไฮเดรต

ลำไส้ใหญ่ (Large intestine)

ภายในลำไส้ใหญ่ น้ำและเกลือแร่ รวมถึงวิตามิน จะถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตผ่านทางผนังลำไส้ และไม่พบกระบวนการย่อยอาหารเกิดขึ้นในลำไส่ใหญ่ กากอาหารต่างๆ ที่เหลือจากการย่อยจะถูกขับออกจากร่างกายทางทวารหนัก (Anus) แบคทีเรียเจ้าถิ่นที่อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่มีบทบาทช่วยป้องกันเชื้อแปลกปลอมที่ปะปนมากับอาหาร รวมถึงช่วยรักษาสมดุลภายในลำไส้ให้อยู่ในสภาวะปกติ


อ่านเพิ่มเติม: สารอาหารที่ให้พลังงาน

โรคระบบทางเดินอาหาร เป็นแล้วอย่านิ่งนอนใจ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.