ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ (Planets of Solar System)

ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ประกอบไปด้วยดาวทั้งหมด 8 ดวง ที่มีลักษณะเฉพาะในตัวเองอย่างโดดเด่น

ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ (Planets of Solar system)
ดาวเคราะห์ คือ ดาวบริวารของดวงอาทิตย์ ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง และหมุนรอบตัวเองไปพร้อมๆ กับการโคจรรอบดวงอาทิตย์

การจำแนกดาวเคราะห์

1. ดาวเคราะห์ชั้นใน (Inner planets) คือ ดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และแถบดาวเคราะห์น้อย มีทั้งหมดสี่ดวง ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก และดาวอังคาร ทั้งหมดเป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็ก มีความหนาแน่นสูงและมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นของแข็ง เช่น หินและโลหะ หรือที่เรียกอีกอย่างว่า ดาวเคราะห์หิน (Terrestrial planets)

2. ดาวเคราะห์ชั้นนอก (Outer planets) คือ ดาวเคราะห์ที่โคจรเลยออกไปจากแถบดาวเคราะห์น้อย มีทั้งหมด 4 ดวง ได้แก่ ดาวพฤหัส ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน โดยดาวเคราะห์ทั้งหมด มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นน้ำแข็ง ก๊าซ และของเหลว ดาวเคราะห์ชั้นนอกทั้งสี่ดวงมีขนาดใหญ่กว่าดาวเคราะห์ชั้นใน หรือ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ดาวเคราะห์แก๊ซ (The Gas Giants Planets)

ดาวพุธ (Mercury)

ดาวพุธ คือดาวเคราะห์ที่มีขนาดเล็กที่สุดและอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด จึงใช้เวลาน้อยที่สุดในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ (88 วัน) แต่ว่าดาวพุธใช้เวลาโคจรรอบตัวเองยาวนาน หนึ่งวันบนดาวพุธยาวนานถึง 180 วันบนโลก ดาวพุธไม่มีชั้นบรรยากาศเหมือนโลก จึงได้รับการขนานนามว่า “เตาไฟแช่แข็ง” เนื่องจากเวลากลางวัน ด้านที่รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ จะร้อนจัด มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงถึง 430 องศาเซลเซียส แตกต่างอย่างชัดเจนกับเวลากลางคืน ซึ่งหนาวจัด โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ -180 องศาเซลเซียส ดาวพุธไม่มีดวงจันทร์บริวารเป็นของตัวเอง

ดาวศุกร์ (Venus)

ดาวศุกร์ คือดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่สอง แต่อยู่ใกล้และมีขนาดใกล้เคียงกับโลกมากที่สุด จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “ฝาแฝด” ของโลก ดาวศุกร์มีชั้นบรรยากาศหนาทึบ ส่วนใหญ่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึงร้อยละ 96 เนื่องจากมีก๊าซเรือนกระจกหนาแน่น ส่งผลให้ดาวศุกร์ดูดซับและกักเก็บความร้อนได้สูง ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่ร้อนสุดในระบบสุริยะ โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงถึง 465 องศาเซลเซียส ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ดาวศุกร์โคจรรอบตัวเองในทิศทางตรงกันข้ามกับดาวเคราะห์อื่นๆ และใช้เวลานานที่สุด โดยใช้เวลาถึง 243 วัน ดาวศุกร์ไม่มีดวงจันทร์บริวาร

โลก (Earth)

โลก คือดาวเคราะห์ลำดับที่สามจากดวงอาทิตย์ มีโครงสร้างหลักสามชั้น ได้แก่ เปลือกโลก แมนเทิล และแก่นโลก ซึ่งประกอบด้วยเหล็กและนิกเกิล เป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวที่มีสภาพแวดล้อมอำนวยต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต มีองค์ประกอบที่เป็นน้ำ (ในสถานะของเหลว) ครอบคลุมถึงร้อยละ 71 ของพื้นผิว และชั้นบรรยากาศประกอบด้วย ไนโตรเจน (ร้อยละ 77) และออกซิเจน (ร้อยละ 21) ซึ่งเหมาะสมต่อการหายใจของสิ่งมีชีวิต ซึ่งทำให้โลกได้รับฉายาว่า “ดาวเคราะห์สีน้ำเงิน” โลกหมุนรอบตัวเองใช้เวลา 24 ชั่วโมง ทำให้เกิดช่วงเวลากลางวันและกลางคืน รวมถึงการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ (365 วัน) โลกมีดวงจันทร์บริวาร 1 ดวง

อ่านต่อหน้า 2

ดาวอังคาร (Mars)

ดาวอังคาร คือดาวเคราะห์ลำดับที่สี่จากดวงอาทิตย์ เป็นดาวที่ได้รับการสำรวจมากที่สุดและคาดการณ์ถึงการมีสิ่งมีชีวิต ดาวอังคารมีขนาดเล็ก และแรงโน้มถ่วงต่ำ ได้รับฉายาว่า “ดาวเคราะห์แดง” (Red Planet) เนื่องจากการออกซิเดชันของเหล็กบนพื้นผิวของดาวอังคาร ทำให้เกิดสีแดงหรือสีสนิมเหล็ก ชั้นบรรยากาศบนดาวอังคารประกอบด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งเกิดจากการระเหิดของน้ำแข็งแห้ง (คาร์บอนไดออกไซด์แข็ง) ที่ปกคลุมอยู่ทั่วไปบนพื้นผิวของดาว  รวมถึงการมีแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ปกคลุมบริเวณขั้วเหนือและใต้ของดวงดาวอยู่ตลอดเวลา  สภาพอากาศบนดาวอังคารนั้นแปรปรวน สามารถเกิดกระแสลมแรงนานหลายเดือน มองเห็นเป็นแทบมืดมิดปกคลุมบนดาวอังคาร ดาวอังคารมีดาวบริวารสองดวง คือ โฟบัสและดีมอส

ดาวพฤหัส (Jupiter)

ดาวพฤหัส เป็น ดาวเคราะห์ลำดับที่ห้าจากดวงอาทิตย์ มีมวลมากที่สุด ขนาดใหญ่ที่สุด และมีแรงดึงดูดสูงสุด รวมถึงใช้เวลาน้อยที่สุดในการโคจรรอบตัวเอง โดยใช้เวลาเพียง 10 ชั่วโมง ชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัส ประกอบด้วยไฮโดรเจนและฮีเลียมเป็นองค์ประกอบหลัก ปะปนไปด้วยมีเทน น้ำ และแอมโมเนีย ซึ่งส่งผลทำให้ดาวพฤหัส มีลักษณะป่องตรงเส้นศูนย์สูตร และมีความแปรปรวนของชั้นบรรยากาศสูง มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ -130 องศาเซลเซียส ดาวพฤหัสมีพายุหมุนเป็นจุดสีแดงขนาดใหญ่ (Great Red Spot) ซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างกว่า 25,000 กิโลเมตร เป็นพายุหมุนซึ่งมีอายุมากกว่า 300 ปี ดาวพฤหัส มีวงแหวนจางๆ 3 วง และมีดวงจันทร์บริวารมากกว่า 65 ดวง ดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุด คือ แกนิมิต (Ganymede) ซึ่งเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ

ดาวเสาร์ (Saturn)

ดาวเสาร์ เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่หกจากดวงอาทิตย์ มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่สองรองจากดาวพฤหัส มีองค์ประกอบหลัก คือ ก๊าซ และของเหลว มีชั้นบรรยากาศซึ่งปกคลุมด้วยไฮโดรเจน และฮีเลียม มีวงแหวนรอบนอกเจ็ดชั้นจากเศษหินและน้ำแข็ง มีดวงจันทร์บริวารมากกว่า 50 ดวง ซึ่งดวงที่ใหญ่ที่สุด คือ ไททัน ไททันมีชั้นบรรยากาศหนาแน่นกว่าโลก มีองค์ประกอบหลัก คือ มีเทนทั้งสามสถานะ บนไททันมีทั้งฝนมีเทน เมฆมีเทน และมีเทนแข็ง รวมถึงก๊าซไนโตรเจน ทำให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับชั้นบรรยากาศของโลก ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงให้ความสนใจต่อไททันเป็นอย่างมาก เนื่องจากอาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

ดาวยูเรนัส (Uranus)

ดาวยูเรนัส คือ ดาวเคราะห์ลำดับที่เจ็ดจากดวงอาทิตย์ ซึ่งมีไฮโดรเจนและฮีเลียมเป็นองค์ประกอบหลักในชั้นบรรยากาศ ลึกลงไปในดวงดาว องค์ประกอบส่วนใหญ่คือแอมโมเนียและมีเทนทำให้ดาวยูเรนัสมีสีฟ้าน้ำเงิน เนื่องจากมีเทนดูดกลืนแสงสีแดงและสะท้อนแสงสีน้ำเงิน ดาวยูเรนัสหมุนตัวรอบตัวเองในลักษณะตะแคงข้าง ทำให้มีฤดูกาลที่ยาวนาน ดาวยูเรนัสใช้เวลาในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ยาวนานถึง 84 ปี มีวงแหวนเบาบาง 13 ชั้น มีดวงจันทร์บริวาร 27 ดวง

ดาวเนปจูน (Neptune)

ดาวเนปจูน เป็น ดาวเคราะห์ลำดับที่แปดจากดวงอาทิตย์ ซึ่งอยู่ห่างไกลที่สุด ได้รับแสงสว่างน้อยที่สุด มีลักษณะคล้ายดาวยูเรนัสทั้งขนาดและสีสัน มีไฮโดรเจน ฮีเลียม และมีเทน เป็นองค์ประกอบหลักของชั้นบรรยากาศด้านนอก ดาวเนปจูนใช้เวลาในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ยาวนานที่สุดถึง 165 ปี บนดาวเนปจูนมีกระแสลมแรงที่สุด ซึ่งสามารถมีความเร็วมากกว่า 2,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ -200 องศาเซลเซียส ดาวเนปจูนมีดวงจันทร์บริวาร 13 ดวง และมีวงแหวน 6 วง

แหล่งอ้างอิง :

NASA

ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศษสตร์โลกและดาราศาสตร์


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : องค์ประกอบของ ระบบสุริยะ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.