กลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) หรือดาวฝาแฝด

กลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) เป็น 1 ใน 88 กลุ่มดาวสากล (Constellations) ของโลก และเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มดาวจักรราศี (Zodiac) บนซีกฟ้าเหนือ หรือที่เรารู้จักกันในนามของ “กลุ่มดาวราศีเมถุน” ครอบคลุมพื้นที่ราว 514 ตารางองศาหรือมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 30 ของกลุ่มดาวสากลทั้งหมด

กลุ่มดาวคนคู่ยังเป็นกลุ่มดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดกลุ่มหนึ่งในน่านฟ้าโลก โดยสามารถพบเห็นได้ตั้งแต่ในช่วงฤดูหนาวไปจนถึงฤดูใบไม้ผลิของฝั่งซีกโลกเหนือ หรือระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคม ขณะที่บนท้องฟ้าฝั่งซีกโลกใต้สามารถพบเห็นกลุ่มดาวคนคู่ได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง การศึกษากลุ่มดาว

นอกจากนี้ กลุ่มดาวคนคู่ยังเป็น 1 ใน 48 กลุ่มดาวดั้งเดิมที่ถูกจารึกอยู่ในบันทึกของปโตเลมี (Ptolemy) ในช่วงศตวรรษที่สอง เช่นเดียวกับกลุ่มดาวแมงป่อง (Scorpius) ซึ่งถูกทำการสำรวจมาตั้งแต่ในยุคอารยธรรมแรกเริ่มของมนุษยชาติ เป็นกลุ่มดาวที่ถูกบันทึกอยู่ในคัมภีร์ฤคเวท หรือ “พระเวท” ของอินเดียเมื่อราว 3,500 ปีก่อน โดยทั้งในอารยธรรมตะวันออกและตะวันตก ผู้คนเรียกขานกลุ่มดาวกลุ่มนี้ว่า “ดาวฝาแฝด” (Twins)

แผนที่กลุ่มดาวคนคู่

องค์ประกอบของกลุ่มดาวคนคู่

กลุ่มดาวคนคู่ ประกอบไปด้วยดาวฤกษ์สุกสว่างหลายสิบดวง เรียงตัวกันจนมีลักษณะคล้ายมนุษย์สองคนจับมือกัน โดยมี “ดาวพอลลักซ์” (Pollux) และ “ดาวคาสเตอร์” (Castor) ประกอบขึ้นเป็นส่วนศีรษะของพี่น้องฝาแฝดพอลลักซ์ และคาสเตอร์ตามตำนานกรีกโบราณ

โดย 8 ดวงดาวหลักในกลุ่มดาวคนคู่ ประกอบไปด้วย

  1. พอลลักซ์ (Pollux) เป็นดาวยักษ์แดง (Red giant star) ที่สว่างที่สุดดวงหนึ่งในน่านฟ้าโลก เป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างจากโลก 34 ปีแสง มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเราราว 10 เท่า
  2. คาสเตอร์ (Castor) เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดเป็นลำดับที่ 2 ในกลุ่ม อยู่ห่างจากโลกราว 52 ปีแสง เป็นดาวในระบบดาวพหุ (Multiple star system) คือ มีดาวฤกษ์ถึง 6 ดวงโคจรรอบกันและกัน
  3. อัลเฮนา (Alhena) เป็นดาวแคระเล็กสีน้ำเงิน (Blue subdwarf star) ที่อยู่ห่างจากโลกประมาณ 105 ปีแสง
  4. เมบซูทา (Mebsuta) เป็นดาวยักษ์ใหญ่สีเหลือง (Yellow supergiant star) อยู่ห่างจากโลกราว 840 ปีแสง มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ราว 20 เท่า
  5. โพรพุส (Propus) เป็นดาวแปรแสง (Variable star)ที่มีความสว่างไม่คงที่และอยู่ในระบบดาวพหุ ประกอบไปด้วยดาวฤกษ์ 3 ดวง อยู่ห่างจากโลกราว 380 ปีแสง
  6. อัลซิร์ (Alzir) เป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างจากโลกราว 60 ปีแสง มีความสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ราว 11 เท่า
  7. วาแซท (Wasat) เป็นดาวฤกษ์ในระบบดาวพหุ อยู่ห่างจากโลกราว 61 ปีแสง
  8. เมกบูดา (Mekbuda) เป็นดาวยักษ์ใหญ่สีเหลืองอยู่ห่างจากโลกราว 1,200 ปีแสง มีรัศมีกว้างกว่าดวงอาทิตย์ของเราถึง 60 เท่า
ดาวฤกษ์หลายสิบดวงในกลุ่มดาวคนคู่

นอกจากดาวฤกษ์สุกสว่างหลายสิบดวงแล้ว กลุ่มดาวคนคู่ยังประกอบไปด้วยวัตถุในห้วงอวกาศลึก (Deeps-sky objects) มากมาย เช่น กระจุกดาวเปิด M35 (Open Cluster) ที่มีดาวฤกษ์เกิดใหม่รวมกลุ่มกันมากกว่า 200 ดวง รวมถึงเนบิวลารูปร่างต่างๆ เช่น เนบิวลาเอสกิโม (Eskimo Nebula) เนบิวลาเมดูซา (Medusa Nebula) และเนบิวลาแมงกะพรุน (Jellyfish Nebula) ซึ่งเป็นเศษซากของดาวฤกษ์หลังการระเบิดครั้งใหญ่ หรือ “ซูเปอร์โนวา” (Supernova) เมื่อ 3,000 ถึง 30,000 ปีก่อน

ตำนานกลุ่มดาวคนคู่

ในตำนานกรีกโบราณ กลุ่มดาวคนคู่เป็นตัวแทนของพี่น้องฝาแฝดบุตรชายของราชินี “เลดา” (Leda) แห่งเมืองสปาร์ตา (Sparta) ทั้งคู่เป็นบุตรชายร่วมมารดาต่างบิดา โดยพอลลักซ์ (Pollux) เป็นบุตรที่เกิดจากเทพเจ้าซุส (Zeus) จึงมีสถานะเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งเทพ (Demigod) ขณะที่คาสเตอร์ (Castor) เป็นมนุษย์ที่เกิดจากกษัตริย์สปาร์ตา “ทินดาริอุส” (Tyndareus)  ซึ่งหลังการเสียชีวิตของคาสเตอร์จากการทะเลาะวิวาทในงานเลี้ยงงานหนึ่ง ส่งผลให้พอลลักซ์

โศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก และจากการที่ตนเองมีชีวิตเป็นอมตะ จึงได้ทำการร้องขอต่อบิดาหรือเทพเจ้าซุส ให้แบ่งความเป็นอมตะของตนแก่คาสเตอร์  ซึ่งการกระทำดังกล่าว ทำให้เมื่อเทพเจ้าซุสเห็นถึงความผูกพันอันลึกซึ้งของพี่น้องคู่นี้ จึงนำพอลลักซ์และคาสเตอร์ขึ้นสู่สวรรค์ กลายเป็นกลุ่มดาวคนคู่บนท้องฟ้าที่ทำให้พวกเขาสามารถอยู่เคียงคู่กันตลอดไป

สืบค้นและเรียบเรียง

คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ


ข้อมูลอ้างอิง

http://www.narit.or.th/index.php/astro-corner2/1071-2014-02

https://www.space.com/16816-gemini-constellation.html

https://in-the-sky.org/data/constellation.php?id=39

https://www.solarsystemquick.com/universe/gemini-constellation.htm

http://www.seasky.org/constellations/constellation-gemini.html

National Aeronautics and Space Administration (NASA) 


 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.