ดาวเสาร์ กลายเป็นดาวเคราะห์ที่มีดาวบริวารมากที่สุด หลังค้นพบดวงจันทร์เพิ่มเติม

ในเดือนตุลาคม ปี 2016 ยานอวกาศแคสซินีของนาซาจับภาพล่าสุดของ ดาวเสาร์ และวงแหวนของมันไว้ได้ เกือบสามปีให้หลัง นักดาราศาสตร์ได้ประกาศค้นพบดวงจันทร์ดวงเล็ก 20 ดวงโคจรรอบดาวเสาร์ รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 82 ดวง ภาพถ่ายโดย
NASA/JPL-CALTECH/SPACE SCIENCE INSTITUTE


จากการค้นพบบรรดาดวงจันทร์บริวารใหม่ครั้งนี้ ดาวเสาร์ ได้เอาชนะดาวพฤหัสบดีในฐานะดาวเคราะห์ที่มีดวงจันทร์บริวารมากที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล

ดาวพฤหัสบดีอาจได้ชื่อว่าเป็นจ้าวแห่งระบบสุริยะจักรวาล แต่ทว่าดาวเสาร์นั้นมีดาวบริวารมากกว่า

ในวันนี้ นักดาราศาสตร์ได้ประกาศว่า พวกเขาได้ค้นพบดวงจันทร์บริวารใหม่รอบดาวเสาร์ 20 ดวง รวมเป็นจำนวน 82 ดวง ซึ่งเป็นจำนวนดวงจันทร์ที่มากที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล การเอาชนะของดาวเสาร์ในครั้งนี้เกิดขึ้นหนึ่งปีภายหลังการประกาศว่ามีการค้นพบดวงจันทร์ดวงใหม่ 12 ดวงรอบดาวพฤหัสบดี แต่ในวันนี้ ดาวเสาร์ได้เอาชนะจำนวนดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีที่มีอยู่ 79 ดวงแล้ว

โดยดวงจันทร์ที่มีขนาดค่อนข้างเล็กเหล่านี้สามารถช่วยให้นักดาราศาสตร์มีความเข้าใจการชนกัน (collisions) ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นของระบบสุริยะจักรวาลได้มากยิ่งขึ้น และช่วยให้พวกเขากำหนดเป้าหมายของการสำรวจบรรดาดาวแก๊สยักษ์ (ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่ไม่ได้มีองค์ประกอบของหินหรือสสารแข็ง ในระบบสุริยะมีดาวแก๊สยักษ์ 4 ดวงคือ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน) ในอนาคต

ภาพภ่ายของดวงจันทร์ที่เพิ่งค้นพบ ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์ซูบารุ ซึ่งทั้งสองภาพถ่ายห่างกันเป็นเวลาราว 1 ชั่วโมง โดนส่วนที่เน้นสีแดงนั้นคือดวงจันทร์ที่เพิ่งค้นพบ กำลังเคลื่อนที่ห่างจากดาวคงที่ (static stars) และกาแล็กซี อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดย  SCOTT S. SHEPPARD

โดยในตอนนี้ มีภารกิจสำรวจอวกาศที่เกี่ยวข้องกับดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์อยู่ 3 ภารกิจ คือ NASA’s Europa Clipper, NASA Dragonfly mission ขององค์การนาซา และ JUICE mission ขององค์การอวกาศยุโรป

“ตอนนี้ก็มีดวงจันทร์บริวารอยู่หลายดวงแล้ว ทำให้รับประกันได้เลยว่าบรรดาดวงจันทร์ที่อยู่ใกล้ๆ ยานอวกาศจะเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์” สก็อต เฌพเพิร์ด นักดาราศาสตร์ประจำสถาบันคาร์เนกีเพื่อวิทยาศาสตร์ (the Carnegie Institution for Science) ผู้ที่ร่วมค้นพบดวงจันทร์ใหม่เหล่านี้ กล่าว

บรรดาดวงจันทร์ของดาวเสาร์ที่เพิ่งค้นพบทั้งหมดนี้มีความกว้างราว 4.8 กิโลเมตร เป็นดาวอ่อนแสงที่อยู่จวนเจียนระยะดักจับของกล้องโทรทรรศน์ซูบารุ ที่ตั้งอยู่ที่มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ซึ่งนั่นคือเหตุผลว่า เหตุใดการค้นพบนี้ถึงใช้เวลานานนับทศวรรษ

โดยนับตั้งแต่ปี 2004 ถึง 2007 เฌพเพิร์ดและเพื่อนร่วมงานของเขาใช้กล้องโทรทรรศน์ซูบารุส่องไปยังพื้นที่รอบๆ ดาวเสาร์เพื่อค้นหาดวงจันทร์ที่ยังไม่มีใครค้นพบ โดยเขาได้พบสุดแสงที่น่าสนใจในกล้อง และพวกเขาก็พยายามค้นหาว่าจุดเล็กๆ ที่โคจรรอบดาวเสาร์นั้นคืออะไร

“ในช่วงเวลานั้น เรื่องจุดแสงนั้นอยู่ในใจผมตลอดเวลา” เฌพเพิด กล่าว แต่ในปัจจุบัน วิทยาการทางคอมพิวเตอร์สามารถวิเคราะห์ภาพถ่ายของกล้องโทรทรรศน์ได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อเฌพเพิร์ดประมวลผลข้อมูลใหม่อีกครั้ง ก็ได้ภาพที่ยืนยันว่า มีจุดแสง 20 จุดที่อยู่ในวงโคจรของดาวเสาร์ ซึ่งก็คือดวงจันทร์ที่ค้นพบใหม่เหล่านี้

(ชมคลิปวิดีโอเรื่องราวน่ารู้เบื้องต้นของดาวเสาร์ได้ที่นี่)

ดวงจันทร์ดวงใหม่ 17 ดวงนั้นโคจรในทิศทางตรงข้ามกับการหมุนรอบตัวเองของดาวเสาร์ ซึ่งพวกมันใช้เวลามากกว่า 3 ปี ในการโคจร 1 รอบ ในขณะที่อีก 3 ดวงโคจรในทิศทางเดียวกันกับการหมุนรอบตัวเองของดาวเสาร์ โดยดวงจันทร์ 2 ดวงใน 3 ดวงนี้ใช้เวลาราว 2 ปี ในการโคจร 1 รอบ ในขณะที่อีก 1 ดวงใช้เวลามากกว่า 3 ปี ในการโคจรรอบดาวเสาร์

เฌพเพิร์ดและเพื่อนร่วมงานของเขาคิดว่ากลุ่มดวงจันทร์เหล่านี้ก่อตัวขึ้นจากดวงจันทร์ร่างแม่ (parent body) ที่อยู่ภายใต้อาณัติของดาวเสาร์ในช่วงแรกของระบบสุริยะจักรวาล จากนั้น การชนกันในอวกาศทำให้ดวงจันทร์ร่างแม่นี้แตกออกจนกลายเป็นดวงจันทร์ที่ได้ค้นพบ

“เราคิดว่าดวงจันทร์เหล่านี้แสดงให้เห็นโดยพื้นฐานว่า ในประวัติศาสตร์ช่วงแรกของระบบสุริยะจักรวาลนั้นมีภาวะปั่นป่วนมากแค่ไหน” เฌพเพิร์ดกล่าวและเสริมว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างก็แค่ชนกัน และดวงจันทร์เหล่านี้ก็เป็นเศษซากจากการชนครั้งนั้น”

ดวงจันทร์ทั้ง 20 ดวงนี้ยังไม่ได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ โดยเฌพเพิร์ดได้เชิญให้สาธารณชนเสนอชื่อเข้ามาประกวด จนถึงวันที่ 6 ธันวาคมนี้

เรื่อง MICHAEL GRESHKO


อ่านเพิ่มเติม การค้นพบทางดาราศาสตร์: ดวงดาวบนฟ้ากำเนิดมาพร้อมกับกาแล็กซี

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.