ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources)

ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องพึ่งพา และเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของทุกชีวิต

นับตั้งแต่โลกถือกำเนิดขึ้นเมื่อกว่า 4,500 ล้านปีมาแล้ว ดาวเคราะห์ดวงนี้ ได้เกิดการวิวัฒนาการเรื่อยมาจนมีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์ต่างล้วนพึ่งพาอาศัย “สสาร” หรือ “องค์ประกอบ” ในธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด ทรัพยากรที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติโดยปราศจากการปรุงแต่งของมนุษย์หรือที่เรียกกันว่า “ ทรัพยากรธรรมชาติ ” (Natural Resources) ไม่ว่าจะเป็น ดิน หิน น้ำ อากาศและแร่ธาตุ สิ่งเหล่านี้ ล้วนก่อกำเนิดขึ้นจากการสรรค์สร้างของธรรมชาติ ซึ่งกลายมาเป็นปัจจัยพื้นฐานของทุกสรรพชีวิตบนโลก โดยที่มนุษย์ได้นำทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลายมาใช้ประโยชน์ในหลากหลายด้าน

ทรัพยากรที่อยู่บนโลกเราสร้างความสุนทรีย์ได้ไม่รู้จบ

ทรัพยากรธรรมชาติสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ได้ไม่หมดสิ้นหรือสามารถทดแทนได้ (Renewable Resources) คือ ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่สูญหายไปจากโลกใบนี้ เช่น แสงอาทิตย์ น้ำและอากาศ เนื่องจากมีวัฏจักรหรือกระบวนการทางธรรมชาติที่สามารถสร้างทรัพยากรดังกล่าวขึ้นมาทดแทนส่วนที่ถูกใช้งานไป โดยที่ทรัพยากรบางชนิดอาจใช้ระยะเวลาไม่ถึง 1 วัน ในกระบวนการเกิดใหม่ตามธรรมชาติ แต่ทรัพยากรบางชนิดอาจใช้เวลามากถึง 100 ปี เช่น ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า
  2. ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป (Non-Renewable Resources) คือ ทรัพยากรธรรมชาติที่เมื่อใช้แล้วหมดไปหรือสูญสิ้นไปจากโลก ถึงแม้ทรัพยากรดังกล่าวจะสามารถเกิดขึ้นใหม่เองตามวัฏจักรในธรรมชาติและเข้ามาทดแทนส่วนที่ถูกนำไปใช้ใหม่ได้ แต่เนื่องจากระยะเวลาของกระบวนการทดแทนนั้น ยาวนานเกินกว่าหนึ่งชั่วอายุคน ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นหมื่นปี จนมนุษย์เรามิอาจรั้งรอให้กระบวนการทางธรรมชาติสรรค์สร้างทรัพยากรดังกล่าวขึ้นมาใหม่เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ดังนั้น ทรัพยากร เช่น แร่ โลหะ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียม และถ่านหิน จึงถูกจัดจำแนกเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป
เชื้อเพลิงฟอสซิล

ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ

ทรัพยากรธรรมชาติเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในชีวมณฑล (Biosphere) หรือระบบนิเวศของโลก ซึ่งสร้างปฏิสัมพันธ์ที่แสนสลับซับซ้อนระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยที่มนุษย์ยังได้รับผลประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลจากความสัมพันธ์ดังกล่าว

มนุษย์นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ในการดำรงชีวิตและพัฒนาความเป็นอยู่ของตนเอง เช่น

สิ่งของที่เราใช้อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันล้วแปรรูปมาจากทรัพยากรธรรมชาติ

นอกจากนี้ ทรัพยากรธรรมชาติส่วนใหญ่ ยังสามารถพบเห็นได้ในรูปของ “วัตถุดิบตั้งต้น” (Raw Material) ซึ่งถูกนำมาผลิตหรือแปรรูปกลายเป็นสิ่งของต่างๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ เหยือกน้ำ และเสื้อผ้า เป็นต้น

การนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในวงจรชีวิตของมนุษย์ ซึ่งทรัพยากรธรรมชาตินั้น ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ การนำไปใช้โดยไม่คำนึงถึงปริมาณ คุณภาพ หรือแม้แต่ของเสียที่จะเกิดขึ้น จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อสมดุลในธรรมชาติ รวมถึงสมดุลของโลก อีกทั้ง วิถีชีวิตของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 กำลังกลายเป็นภัยคุกคามอันใหญ่หลวงต่อความเป็นอยู่และความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ ในความสะดวกสบาย ความบันเทิง ความก้าวหน้าทางวัตถุของสังคมมนุษย์ ล้วนพึ่งพาอาศัยกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ทั้งพลังงานและวัตถุดิบจากธรรมชาติ จนเราอาจหลงลืมไปว่าทรัพยากรธรรมชาติบนดาวเคราะห์ดวงนี้ คือสสารและพลังงานทั้งหมดที่เรามี มนุษย์ไม่สามารถสร้างองค์ประกอบเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ได้ด้วยตนเอง รวมถึงไม่สามารถออกไปแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติจากดาวเคราะห์ดวงอื่นมาทดแทนได้

เมืองและการใช้พลังงาน

ดังนั้น เราทุกคนจึงควรเรียนรู้และทำความเข้าใจถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศของโลก เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างคุ้มค่าและรู้จักปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการทรัพยากรต่างๆให้เหมาะสม ให้โลกของเรายังมีป่าไม้ที่สมบูรณ์ มีสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย มีแหล่งน้ำที่สะอาด และมีอากาศที่บริสุทธิ์ในอนาคตข้างหน้า

สืบค้นและเรียบเรียง

คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ


ข้อมูลอ้างอิง

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน – http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=19&chap=1&page=t19-1-infodetail02.html

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) – https://www.scimath.org/lesson-biology/item/7028-2017-05-21-14-25-17

ESchoolToday – http://www.eschooltoday.com/natural-resources/what-is-a-natural-resource.html

The World’s Counts – http://www.theworldcounts.com/stories/natural-resources-for-kids

National Geographic – https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/non-renewable-energy/


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : หน้าที่ของระบบนิเวศ (Ecosystem Function)

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.