ฮอร์โมนพืช (Plant Hormone)

ฮอร์โมนพืช (Plant Hormone) คือสารอินทรีย์ที่พืชสร้างขึ้นเองตามธรรมชาติในบริเวณอวัยวะหรือเนื้อเยื่อส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นพืช ก่อนทำการเคลื่อนย้ายสารดังกล่าวไปยังเนื้อเยื่อเป้าหมาย เพื่อส่งสัญญาณในการเริ่มกระบวนการสร้าง ทำการควบคุม หรือเปลี่ยนแปลงส่วนต่างๆ ของพืช ทั้งด้านการเจริญเติบโตการงอกของเมล็ด การออกดอกออกผล และการผลัดใบ รวมไปถึงการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาภายในต้นพืชนั้นๆ อีกด้วย

ฮอร์โมนพืชมีอยู่ในพืชทุกชนิดทุกสายพันธุ์ในอาณาจักรพืช (Plant Kingdom) แม้แต่ในสาหร่ายหรือพืชโบราณต่างมีฮอร์โมนพืชทำหน้าที่เป็นตัวส่งสัญญาณ เพื่อควบคุมการเจริญเติบโตในด้านต่างๆ เช่นกัน

ฺฮอร์โมนพืชเป็นหนึ่งปัจจัยสำหรับการเจริญเติบโตของพืช

ฮอร์โมนพืชแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่

  1. ออกซิน (Auxin) เป็นฮอร์โมนพืชที่สร้างขึ้นจากกลุ่มเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณยอดใบอ่อน ก่อนถูกลำเลียงไปยังเซลล์เป้าหมาย มีหน้าที่กระตุ้นเซลล์ของเนื้อเยื่อให้เกิดการขยายตัว ส่งผลให้พืชเจริญเติบโตสูงขึ้นเพิ่มขนาดใบและผล ออกซินยังมีผลต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของตาข้าง และช่วยป้องกันการหลุดร่วงของใบ ดอกและผล อีกทั้งยังส่งผลต่อการควบคุมการเคลื่อนไหว การตอบสนองต่อแสงและแรงโน้มถ่วงของพืชอีกด้วย
  2. ไซโทไคนิน (Cytokinin) เป็นสารกระตุ้นการแบ่งเซลล์และการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ โดยเฉพาะในส่วนของลำต้นและราก ส่งเสริมการสร้างและการเจริญของตาข้าง การแผ่กิ่งก้านสาขา และการงอกของเมล็ด อีกทั้งยังช่วยป้องกันการสลายตัวของคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) ช่วยให้พืชผักผลไม้มีอายุยืนและสามารถรักษาความสดใหม่เอาไว้ได้ยาวนาน
  3. เอทิลีน (Ethylene) เป็นก๊าซที่เกิดขึ้นในกระบวนการเมแทบอลิซึม (Metabolism) ของพืชโดยส่วนมากเอทิลีนถูกสร้างขึ้นเมื่อพืชมีบาดแผลหรือเข้าสู่ภาวะร่วงโรย มีส่วนช่วยเร่งการสุกของผลไม้ กระตุ้นการออกดอก การผลัดใบตามฤดูกาล และการงอกของเมล็ดพืชบางชนิด รวมไปถึงการกระตุ้นการผลิตน้ำยาง และการเกิดรากฝอยและรากแขนงของพืชอีกด้วย
  4. กรดแอบไซซิก (Abscisic acid) เป็นสารที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นได้ในทุกส่วนของต้นพืช กระตุ้นการหลุดร่วงของใบและผลแก่ ยับยั้งการเจริญเติบโตและการยืดตัวของเซลล์บริเวณตาข้าง รวมไปถึงยับยั้งการงอกของเมล็ด การแตกใบอ่อน และการเปิดออกของปากใบ (Stomata) ส่งผลให้พืชสามารถทนทานต่อสภาพอากาศแห้งจัดหรืออยู่ในภาวะขาดน้ำได้ยาวนานขึ้น
  5. จิบเบอเรลลิน (Gibberellin)เป็นสารที่ถูกสร้างขึ้นบริเวณยอดใบอ่อนและราก ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์พืช กระตุ้นการขยายตัวของเซลล์ช่วงระหว่างข้อทำให้ลำต้นยืดยาว กระตุ้นการงอกของเมล็ด การเจริญเติบโตของผล และควบคุมการเกิดเพศในดอกของพืชบางชนิด

ความสำคัญของฮอร์โมนพืชและการนำมาใช้ประโยชน์

ฮอร์โมนพืชเป็นสารอินทรีย์ที่มีความสำคัญยิ่งต่อกระบวนการเจริญเติบโตของพืช ทั้งการตอบสนองของพืชต่อสภาพแวดล้อมและปัจจัยภายนอก และยังรวมไปถึงการควบคุมการแสดงออกทางพันธุกรรมที่แท้จริงของพืชอีกด้วย

ปัจจุบัน เกษตรกรปรับใช้สารคล้ายฮอร์โมนพืชเพื่อการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิด

เนื่องจากพืชแต่ละต้นผลิตฮอร์โมนพืชตามธรรมชาติในปริมาณน้อยมาก จึงกลายเป็นเรื่องยากต่อการศึกษาค้นคว้า และสกัดสารดังกล่าว เพื่อนำมาใช้ประโยชน์โดยตรง กระทั่งถึงช่วงปลายปี 1970 นักวิทยาศาสตร์จึงสามารถเริ่มต้นทำความเข้าใจ และประมวลผลความสัมพันธ์ของฮอร์โมนพืชกับสรีรวิทยาของพืชได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จนสามารถสังเคราะห์ “สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช” (Plant Growth Regulator) ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับฮอร์โมนพืชตามธรรมชาติ ทั้งคุณสมบัติในการกระตุ้นและยับยั้งกระบวนการต่างๆ

สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายในการเพาะปลูกและการทำเกษตรกรรม ทั้งในการเพิ่มผลผลิตโดยตรง การสร้างภูมิคุ้มกันโรค หรือแม้กระทั่งการควบคุมการออกดอกออกผลนอกฤดูกาล เป็นต้น

สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ


ข้อมูลอ้างอิง

Academic Kids – https://academickids.com/encyclopedia/index.php/Plant_hormone

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย- http://www.student.chula.ac.th/~59370537/

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) – https://www.scimath.org/lesson-biology/item/7014-phytohormone

เทคโนโลยีชาวบ้าน บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) – https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_10528


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พืชใบเลี้ยงเดี่ยว 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.