แพขยะในมหาสมุทร แปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch) หรือแพขยะตะวันออก (Eastern Garbage Patch) คือ หนึ่งในห้า แพขยะ ในมหาสมุทรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นแหล่งสะสมของขยะทางทะเล (Marine Litter) จากการเคลื่อนที่ของกระแสลมและกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือที่ได้พัดพาเอาเศษขยะและชิ้นส่วนพลาสติกมากมายจากในแผ่นดินมากักรวมกันไว้ จนกลายเป็นวงวนของขยะขนาดใหญ่บริเวณใจกลางมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Trash Vortex) ที่ครอบคลุมพื้นที่ราว 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร หรือมีขนาดราว 3 เท่าของประเทศฝรั่งเศส
ภายในแพขยะใหญ่แปซิฟิก
จากการประเมินของนักวิทยาศาสตร์ ภายในแพขยะใหญ่แปซิฟิกมีมวลของชิ้นส่วนและเศษพลาสติกประมาณ 80,000 ตัน หรือมีน้ำหนักเทียบเท่าเครื่องบินเจ็ท 500 ลำ โดยใจกลางของแพขยะมีปริมาณและความหนาแน่นของขยะสูงสุด ซึ่งหากนำการกระจายตัวของขยะรอบนอกมาคำนวณร่วมด้วยแพขยะใหญ่แปซิฟิกอาจมีน้ำหนักมากถึง 100,000 ตัน หรือมีชิ้นส่วนพลาสติกมากกว่า 1.8 ล้านล้านชิ้นลอยอยู่เหนือน้ำ
โดยกว่าร้อยละ 80 ของขยะทั้งหมดมาจากกิจกรรมของมนุษย์ในแผ่นดินใหญ่ ขณะที่อีกร้อยละ 20 เป็นขยะจากเรือประมงและกิจกรรมทางทะเล ส่งผลให้แพขยะสะสมขยะมากมายหลายชนิด ทั้งอวนตกปลาเก่า เส้นเชือกขาด ตาข่ายดักปลา ขวดน้ำพลาสติก รวมถึงลังพลาสติก ตะกร้า และรองเท้าแตะ
การเกิดแพขยะในมหาสมุทร
ในแต่ละปี กิจกรรมของมนุษย์สร้างขยะลงแม่น้ำลำคลองกว่า 2 ล้านตัน โดยที่ขยะส่วนใหญ่มีองค์ประกอบของพลาสติก ส่งผลให้ขยะไม่จมลงสู่ก้นแม่น้ำ และขยะจากแม่น้ำลำคลองสายต่างๆ ล้วนมีปลายทางอยู่ที่ทะเล อีกทั้ง พลาสติกยังเป็นสสารที่มีน้ำหนักเบาและมีความคงทนสูง (Persistency) ทำให้ขยะเหล่านี้สามารถเดินทางไปได้ไกลกับคลื่นน้ำและกระแสลมในมหาสมุทร
ขยะที่ถูกกักมารวมกันเป็นแพขยะใหญ่แปซิฟิก เกิดจากการพัดพาของกระแสน้ำและกระแสลมในร่องมรสุมเขตร้อนของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ (North Pacific Subtropical Convergence Zone) ซึ่งนำขยะเหล่านี้มารวมกันอยู่ภายในวงวนของกระแสน้ำ (North Pacific Subtropical Gyre) ในมหาสมุทร ซึ่งบริเวณใจกลางจะมีสภาพค่อนข้างสงบเงียบ ดังนั้น ขยะที่ถูกพัดพาเข้าสู่จุดศูนย์กลางการไหลเวียนของกระแสน้ำ จึงถูกกักให้หยุดอยู่นิ่งกับที่จนเกิดการสะสมรวมตัวกันมากขึ้นเรื่อย ๆ
ขยะพลาสติกเหล่านี้ จะถูกย่อยสลายอย่างช้า ๆ กลายเป็นไมโครพลาสติก (Microplastics) ที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรภายใต้แสงอาทิตย์ การกัดกร่อนของคลื่นลม และสิ่งมีชีวิตในทะเล โดยที่อีกกว่าร้อยละ 70 ของขยะทะเลทั้งหมดจะค่อย ๆ จมลงสู่ก้นทะเลปนเปื้อนอยู่ในน้ำลึกหลายร้อยเมตร รวมไปถึงดินทรายใต้ท้องทะเล
การค้นพบแพขยะในมหาสมุทรแปซิฟิก
แพขยะ ใหญ่แปซิฟิกถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1997 โดยชาร์ลส์ มัวร์ (Charles Moore) กัปตันเดินเรือและนักวิจัยด้านสมุทรศาสตร์ ชาวอเมริกัน ซึ่งได้แล่นเรือยอชท์จากหมู่เกาะฮาวาย ผ่านวงวนใหญ่แปซิฟิกเหนือ เพื่อเดินทางกลับบ้านที่ลอสแองเจลิส ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยการเดินทางครั้งนี้ ทำให้มัวร์และลูกเรือพบชิ้นส่วนและขยะพลาสติกหลายล้านชิ้นลอยอยู่เหนือผิวน้ำ ก่อนที่แพขยะแห่งนี้ จะได้รับการขนานนามว่า “แพขยะตะวันออก” (Eastern Garbage Patch) และได้รับความสนใจอย่างมากจากนักข่าวและประชาชน ซึ่งทำให้สังคมตระหนักถึงปัญหามลภาวะทางทะเล (Marine Pollution) ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปีในเวลาต่อมา
ผลกระทบของแพขยะในมหาสมุทร
จากขนาดและสีสันของขยะพลาสติกทำให้สัตว์ทะเลเข้าใจผิดคิดว่ามันคืออาหาร โดยเฉพาะขยะที่ถูกย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติก เมื่อแขวนลอยอยู่ในน้ำจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับแพลงก์ตอน (Plankton) หรือสาหร่ายขนาดเล็กที่เป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหาร (Food Chain) ส่งผลให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบนิเวศทางทะเล โดยเฉพาะสัตว์ทะเลจำพวกนกอย่างเช่น นกอัลบาทรอสเท้าดำ (Black-footed Albatross) รวมไปถึงเต่าทะเล วาฬ และปลาชนิดต่าง ๆ
อีกทั้ง ขยะเหล่านี้กว่าร้อยละ 80 มีสารพิษ (Persistent Bio-accumulative Toxic: PBT) และยังสามารถดูดซับสารพิษอินทรีย์จากน้ำทะเลได้อีกด้วย เช่น สารพีซีบี(Polychlorinated biphenyl: PCB) และดีดีที (Dichlorodiphenyltrichloroethane: DDT) เมื่อสัตว์กลืนกินเศษขยะและชิ้นส่วนพลาสติกเหล่านี้เข้าไป จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้ขาดสารอาหารจนร่างกายอ่อนแอและเสียชีวิตไปในที่สุด
นอกจากนี้ เศษขยะบางจำพวก เช่น เส้นเชือก อวนตกปลา และเอ็นเบ็ด ยังทำให้สัตว์ทะเลเกิดการติดพัน (Entanglement) ซึ่งเป็นอันตรายต่อการเคลื่อนไหว ทำให้สัตว์ทะเลเกิดการบาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก โดยในแต่ละปี มีสัตว์ทะเลล้มตายเพราะสาเหตุนี้มากกว่า 100,000 ตัว
เมื่อพลาสติกและสารพิษจากขยะถูกนำเข้าสู่สายใยอาหาร (Food Web) ผ่านการสะสมอยู่ภายในร่างกายของพืชและสัตว์ ตามลำดับขั้นของการบริโภคในระบบนิเวศ จะส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์เช่นเดียวกัน สารพิษและสารเคมีที่เป็นอันตรายต่าง ๆ จะถูกสะสมผ่านกระบวนการทางชีวภาพ (Bioaccumulation) ส่งผ่านไปยังผู้ล่าลำดับสุดท้ายในห่วงโซ่อาหารหรือมนุษย์เรา
ดังนั้น หากในอนาคตมนุษย์ยังไม่สามารถยับยั้งการทิ้งขยะพลาสติกลงสู่แม่น้ำลำคลองและมหาสมุทร แพขยะใหญ่แปซิฟิกจะมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีเศษพลาสติกหนาแน่นขึ้นเรื่อย ๆ ขยะเหล่านี้ จนถูกย่อยสลายและทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีในน้ำในพืชและสัตว์ทะเลมากมาย ไม่เพียงส่งผลเสียต่อการบริโภคของมนุษย์ สายใยอาหารและระบบนิเวศของโลกอาจเสียสมดุลจนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตอีกมากมายหลายชนิดบนโลกใบนี้
สืบค้นและเรียบเรียง คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย
ข้อมูลอ้างอิง
https://es.education.nationalgeographic.com/encyclopedia/great-pacific-garbage-patch/12th-grade/
https://www.nationalgeographic.com/news/2018/03/great-pacific-garbage-patch-plastics-environment/
https://theoceancleanup.com/great-pacific-garbage-patch/
https://greennews.agency/?p=16713