นักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานคาร์นิวัลใส่หน้ากากอนามัยและชุดป้องกัน โรคระบาด ในงานคาร์นิวัลเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2020 ภาพถ่ายโดย MANUEL SILVESTRI, REUTERS
ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 หรือไวรัสโคโรนาที่มีผู้ติดเชื้อกว่า 120,000 คนใน 100 ประเทศ เมื่อวันพุธ ที่ 10 มีนาคม 2020 ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัย (WHO) ได้ออกมาแถลงข่าวว่าทางองค์การฯ ประกาศให้โรคดังกล่าว เป็น โรคระบาด (pandemic) ระดับโลกแล้ว
“ในที่สุด เราได้ประเมินว่าไวรัส โควิด-19 เป็นโรคระบาดแล้ว ซึ่ง (การประกาศ) คำว่าโรคระบาดนี้ ถือเป็นคำที่เราต้องใช้อย่างระมัดระวัง” ดร. ทีโดรส กล่าว
หากแต่คำว่าโรคระบาดนี้ มีความหมายว่าอย่างไร และมีเหตุผลใดอยู่เบื้องหลัง
โรคระบาด (ทั่วโลก) คืออะไร
คำว่าโรคระบาด ภาษาอังกฤษคำว่า Pandemic มาจากภาษากรีกโบราณว่า Pan แปลว่า all (ทั้งหมด) และ demos (ประชาชน) ซึ่งหมายถึงโรคที่มีการติดต่อพร้อมกันในหลายประเทศและหลายทวีปในช่วงเวลาเดียวกัน และตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก โรคระบาด หมายถึง การระบาดของเชื้อก่อโรค (Pathogen) ที่แพร่กระจายได้อย่างง่ายดายจากคนสู่คนทั่วโลก
อนึ่ง ไม่ใช่แค่การติดต่อที่เกิดจากคนต่างชาติเข้ามาในแพร่เชื้อโรคในพื้นที่หนึ่ง แต่รวมไปถึงการแพร่เชื้อในชุมชน (community spread) หรือเกิดการติดต่อจากคนในพื้นที่ด้วยกันเองเช่นกัน
การประกาศภาวะโรคระบาดจะเกิดขึ้นเมื่อใด
ในความเป็นจริง ขณะนี้ทางองค์การอนามัยโลกไม่ได้มีตัวชี้วัดเริ่มต้นหรือเส้นแบ่ง (threshold) ที่ชัดเจน เช่น ต้องมีอัตราการเสียชีวิตหรือระบาดเท่าใดก่อนจึงจะมีการประกาศ
อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างของโรคระบาดในอดีตที่เคยเกิดขึ้น มีทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ (HIV) ในระยะแรก ช่วงทศวรรษ 1980 การระบาดของไข้หวัดนก หรือไข้หวัดสเปนในช่วงปี 1918 โดยโรคระบาดที่ได้ชื่อว่ารุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์คือการระบาดของกาฬโรค (Black Death) ในช่วงยุคกลางของทวีปยุโรป ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีน ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 200 ล้านคน และโรคฝีดาษ (Smallpox) หรือไข้ทรพิษ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 ล้านคนในช่วงศตวรรษที่ 20
ในอดีต ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพใช้การประกาศภาวะโรคระบาดเป็นสัญญาณว่าบรรดาประเทศต่างๆ ควรพุ่งเป้าไปที่การบรรเทาสถานการณ์ และออกมาตรการเช่นให้โรคพยาบาลต่างๆ เตรียมพร้อมเพื่อรับมือการทะลักเข้ามาของผู้ติดเชื้อ เตรียมพร้อมเวชภัณฑ์ที่จำเป็น หรือให้รัฐบาลมีมาตรการจำกัด หรือกักกันประชาชนของตน
แต่ไม่ใช่ทุกโรคที่จะได้รับการประกาศจาก WHO ให้เป็นโรคระบาด เช่นการแพร่ระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง หรือ โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome – SARS) ในปี 2003 ทั้งที่มี 26 ประเทศ ได้รับผลกระทบ และมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศจีน ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ แคนาดา เป็นต้น
โดยครั้งสุดท้ายที่องค์การอนามัยโลกประกาศภาวะโรคระบาดคือช่วงการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด H1N1 สายพันธุ์ใหม่
อย่างไรก็ตาม การประกาศในครั้งนั้นของ WHO ทำให้แต่ละประเทศที่มีมาตรการรับมืออย่างหนักหน่วง มีการใช้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อซื้อวัคซีนและเตรียมรับมือ แต่ผลลัพธ์คือไม่ได้เกิดการระบาดที่ถึงขั้นส่งผลเสียหายร้ายแรงตามที่คาดการณ์ และทำให้ประเทศต่างๆ มีวัคซีนจำนวนมากที่ไม่ได้ใช้งาน WHO จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการประกาศในครั้งนั้นอย่างมาก เนื่องจากก่อให้เกิดความวิตกกังวลโดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ WHO ‘ลังเล’ ในการประกาศภาวะโรคระบาดอันเกิดจากไวรัส โควิด-19 ในปีนี้
อนึ่ง การประกาศของ WHO ในครั้งนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดการระดมทุน มาตรการ หรือระเบียบข้อบังคับเพิ่มเติมแต่อย่างใด หากเป็นการยอมรับว่าโรคนี้มีการระบาดไปแล้วในหลายทวีป และกระตุ้นให้รัฐบาลแต่ละประเทศแก้ไขปัญหาไวรัสโคโรนาอย่างจริงจังโดยด่วน รวมไปถึงจัดการกับปัญหาผู้ป่วยตามความต้องการในประเทศของตน อันเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของการออกประกาศในครั้งนี้
แหล่งข้อมูล
Coronavirus outbreak declared a pandemic: what does it mean, and does it change anything?
WHO declares a pandemic of coronavirus disease covid-19
What is a pandemic and does it change the approach to coronavirus?