รายงานการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า สถานที่ที่เกิดการระบาดอย่างรุนแรงของ โรคโควิด-19 มีสภาพอากาศที่คล้ายคลึงกัน นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า แบบจำลองสภาพภูมิอากาศของพวกเขาสามารถคาดการณ์สถานที่ต่อไปที่เชื้อจะแพร่ระบาด
นักวิทยาศาสตร์พบ “ความคล้ายคลึงกัน” เกี่ยวกับปัจจัยเรื่องอุณหภูมิและความชื้นในพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดรุนแรงของ โรคโควิด-19 โดยพื้นที่ส่วนใหญ่มีอุณภูมิเฉลี่ย 5-11 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศร้อยละ 47-79
ประเทศส่วนใหญ่ที่เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วอยู่ในเขตอบอุ่นเหนือเส้นศูนย์สูตร ซึ่งรวมพื้นที่ที่เป็นจุดศูนย์กลางการแพร่ระบาดคือ เมืองอู่ฮั่น มนฑลหูเป่ย รวมไปถึงประเทศอื่นๆ ที่มีรายงานการระบาดรุนแรง ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิหร่าน สหรัฐอเมริกาทางตะวันตกเฉียงเหนือ และภาคเหนือของอิตาลี
การศึกษาครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างนักวิจัยจากสหรัฐฯ และอิหร่าน เผยแพร่เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่ผ่านมา
พวกเขาอาจนำโมเดลนี้ไปใช้คาดการณ์พื้นที่หรือภูมิภาคอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดรุนแรงต่อไป นักวิจัยกล่าวและเสริมว่า ในการศึกษาครั้งนี้ ไม่ได้วิเคราะห์ปัจจัยเรื่องกิจกรรมของมนุษย์ เช่น กาาเดินทางและระบบสาธารณสุข และจากโมเดลนี้ นักวิจัยคาดว่า เมืองใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดรุนแรง ได้แก่ ลอนดอน ปราก ฮัมบูร์ก แวนคูเวอร์ นิวยอร์อก และเคียฟ
แต่ถ้าอุณภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ความเสี่ยงในพื้นที่เหล่านี้อาจลดลง การศึกษาครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากการศึกษาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ และเชื้อไวรัสไข้หวัดในมนุษย์ที่แพร่เป็นฤดูกาล
ข้อสังเกตหนึ่งในงานวิจัยครั้งนี้คือ เมืองที่ไม่มีการแพร่ระบาดของไวรัสเลย อยู่ในเขตพื้นที่ที่อุณภูมิเท่ากับศูนย์องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่า ซึ่งอาจเป็นข้อมูลสำหรับการศึกษาในอนาคตต่อไป
การศึกษาก่อนหน้านี้ โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซุนยัดเซน เมืองกวางโจว ประเทศจีน รายงานว่า การแพร่ของเชื้อโคโรนาไวรัสลดลงเมื่ออุณภูมิสูงขึ้น สอดคล้องกับรายงานของนักวิทยาศาสตร์ในกรุงปักกิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ที่อยู่ในเขตอุณหภูมิและความชื้นต่ำมีโอกาสแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนามากกว่าพื้นที่ที่อยู่ในเขตอุณภูมิและความชื้นสูง
ในช่วงนี้ ประเทศในแถบซีกโลกเหนือกำลังเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ อุณหภูมิโดยทั่วไปในซีกโลกเหนือจะค่อยๆ สูงขึ้น ส่งผลให้อากาศเย็นถอยขึ้นไปทางเหนือเป็นผลให้กลุ่มประเทศที่อยู่ในเขตดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่เสี่ยง ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของนักวิจัยชาวโปรตุเกสที่ได้พัฒนาแบบจำลองสภาพภูมิอากาศรายเดือนที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของโคโรน่าไวรัส และพบว่า คนที่อาศัยในเขตอากาศอบอุ่นถึงอากาศหนาวมีความเสี่ยงมากกว่าเขตแห้งแล้งและเขตอากาศร้อนชื้น
แบบจำลองดังกล่าวได้รับการเผยแพร่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 ซึ่งพัฒนาจากข้อมูลอุณหภูมิพื้นผิวโลกและข้อมูลปริมาณน้ำฝนของแต่ละเดือนในรอบหนึ่งปี พบว่า เขตที่มีสภาพอากาศเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและแพร่กระจายของไวรัสโคโรน่าภายนอกร่างกายมนุษย์ คือบริเวณที่เป็นช่วงรอยต่อระหว่างเขตอากาศอบอุ่นและอากาศหนาว และปัจจุบันสภาพอากาศดังกล่าว มีแนวโน้มเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือ
จากผลการศึกษา สามารถสรุปได้ว่ามาตรการการกักตัวที่นำมาใช้ในกลุ่มประเทศที่อยู่ในแถบภูมิภาคเขตร้อนจะได้ผลที่ดีกว่ากลุ่มประเทศในเขตอบอุ่นถึงเขตหนาว และภูมิอากาศเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่ของไวรัสนอกร่างกายมนุษย์ แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เราต้องระมัดระวัง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสให้ได้ เช่น ความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ การมีปฏิสัมพันธ์ และพฤติกรรมของมนุษย์
ประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในเขตร้อน หากพิจารณาสภาพอากาศแบบกลางแจ้ง พบว่าเป็นสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยให้โคโรน่าไวรัสเติบโตได้อย่างเต็มที่หากอยู่นอกร่างกายมนุษย์ ส่งผลให้การแพร่ระบาดไม่รวดเร็วและรุนแรงเหมือนในเมืองในแถบซีกโลกเหนือ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีความเสี่ยงเลย เพราะสภาวะอากาศในอาคาร หรือห้องปรับอากาศ ก็นับเป็นปัจจัยเสริมให้ไวรัสแพร่กระจายได้
มาถึง ณ วันนี้ อาจเป็นการด่วนสรุปเร็วเกินไปว่า แบบจำลองดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากพัฒนาแบบจำลองขึ้นมาได้ไม่นาน ยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการพิสูจน์ความถูกต้อง แต่นักวิจัยได้ให้ความสำคัญกับการตอบสนองในยามวิกฤติที่ต้องการความรวดเร็วเป็นสำคัญ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ลดความเสี่ยง ลดการสูญเสีย และลดตัวเลขผู้เสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงส่วนสนับสนุน ที่ยังไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดในครั้งนี้ได้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ “การลงมือทำ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือหยุดทุกพฤติกรรมเสี่ยงที่จะขยายวงการแพร่ระบาด
บทความนี้ได้รับความร่วมมือจาก: สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า
ข้อมูลอ้างอิง
inktonenews – https://www.inkstonenews.com/science/scientists-found-regions-hit-hard-coronavirus-share-similar-climate/article/3075085
Sajadi, M.,Habibzadeh, P., Vintzileos, A., Shokouhi, S., Fernando, M., & Amoroso, A. (2020, March 9). Temperature and Latitude Analysis to Predict Potential Spread and Seasonality for COVID-19 Retrieved March 16, 2020, papers.ssrn.com
Areajo, M. & Naimi, B.. (2020, March 11). Spread of SARS-CoV-2 Coronavirus likely to be constrained by climate. Retrieved March 15, 2020, medrxiv.org
Berkeley L. & Noah H. (2020, March 6). It’s a ‘false hope’ coronavirus will disappear in the summer like the flu, WHO says. Retrieved March 15, 2020, CNBC.com
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: จีนแก้ปัญหาไวรัสโคโรนาอย่างไร – รายงานจากองค์การอนามัยโลก