อิสตันบูล ตุรกี พนักงานทำความสะอาดฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ COVID-19 ตามท้องถนนในเขต Beyoglu ซึ่งวันนี้ กลายเป็นเขตที่ไร้นักท่องเที่ยว ภาพถ่ายโดย EMIN OZMEN, MAGNUM PHOTOS
รัฐบาลในหลายประเทศที่เริ่มมีการคลายมาตรการปิดเมือง (Lockdown) กำลังพบเจอกับความท้าทายที่ว่า “จะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสอีกครั้งได้อย่างไร” โดยองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า เพราะยังมีสิ่งที่โลกไม่รู้เกี่ยวกับโควิด-19 อีกมาก การเฝ้าระวัง และวิธีการจัดการกับไวรัสอย่างชาญฉลาดคือสิ่งที่ต้องทำในช่วงเวลาที่กำลังจะมาถึง
“การปิดเมืองที่ผ่านมาช่วยระงับการแพร่กระจายของไวรัสโดยการป้องกันไม่ให้ไวรัสสามารถหาเหยื่อรายใหม่ได้” ไมเคิล เจ. ไรอัน ประธานบริหารของโครงการสุขภาพฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก กล่าวและเสริมว่า “เพื่อที่จะทำเช่นนั้น เราต้องกดดันไม่ให้ไวรัสมีความสามารถในการดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้”
เขากล่าวเพิ่มเติมว่า “ผมคิดว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลถ้ามีการยกเลิกมาตรการนี้เร็วเกินไป ไวรัสก็อาจจะกลับมาระบาดอีกได้”
การระบาดระลอกสอง (Second Wave) คืออะไร
โรคระบาดต่างๆ นั้นเกิดจากเชื้อก่อโรค (Pathogens) ชนิดใหม่ๆ ที่ประชากรมนุษย์ส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งสิ่งนี้ก่อให้เกิดการระบาดของไวรัสไปทั่วโลก สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นคือไวรัสจะแพร่กระจายไปทั่วโลกก่อนที่จะลดการแพร่กระจายลง ก่อนที่ในอีกไม่กี่เดือนต่อมาจะกลับมาแพร่บาดทั่วโลกอีกครั้ง
การระบาดระลอกแรกที่บรรเทาลงอาจจะมีปัจจัยจากการเปลี่ยนฤดูกาล การแพร่ระบาดของไวรัสที่ย้ายจากภูมิภาคหนึ่งสู่อีกภูมิภาคหนึ่งของโลก หรือแม้กระทั่งปัจจัยการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ที่เกิดจากคนส่วนใหญ่ในสังคมได้การรับเชื้อไวรัสและสามารถรักษาจนหาย และร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกัน เมื่อมีผู้ที่มีภูมิคุ้มกันเช่นนี้เป็นส่วนใหญ่ โอกาสที่จะเชื้อโรคจะแพร่กระจายไปยังคนอื่นๆ ในสังคมก็ลดลง นอกจากนี้ ในกรณีของโควิด –19 ยังมีปัจจัยการปิดเมืองหรือจำกัดการเดินทาง รวมไปถึงการส่งเสริมให้ผู้คนสร้างระยะห่างระหว่างกัน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้การระบาดของไวรัสระลอกแรกลดลง
ทว่าการระบาดระลอกสองสามารถเกิดขึ้นได้ เช่นการกลับมาระบาดในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อไวรัสโคโรนา หรือแม้กระทั่งการกลายพันธุ์ของเชื้อที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของมนุษย์ที่เคยมีไม่สามารถป้องกันได้ รวมไปถึงการแพร่ไปยังประชากรที่ยังไม่เคยมีประวัติการติดเชื้อและยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ โดยจากการเปรียบกรณีของระบาดระลอกสองของไข้หวัดสเปนในปี 1918 ซี่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 50 ล้านคน ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว เป็นตัวอย่างของการแพร่ระบาดระลอกสองที่รุนแรงกว่าการระบาดรอบแรก
ตัวอย่างประเทศที่กำลังประสบภาวการณ์ระบาดละลอกสองที่เด่นชัดได้แก่ประเทศสิงคโปร์ ที่เคยได้รับคำชมเรื่องการรับมือและบริหารจัดการปัญหาผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วจากระบบการติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตาม การระบาดกลับเกิดขึ้นอีกครั้งในพื้นที่หอพักแรงงานต่างชาติที่อาศัยอยู่อย่างแออัดนับพันคน ซึ่งมีสุขลักษณะที่ไม่เพียงพอรวมไปถึงโรงอาหารที่ต้องใช้ร่วมกัน
ส่วนในประเทศจีน แม้เมืองอู่ฮั่นซึ่งถือเป็นต้นกำหนดของไวรัสจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ก็แต่ก็รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากทางเมืองตอนเหนือ รวมไปถึงการตรวจพบเชื้อจากผู้ที่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศอีกครั้ง
เนื่องจากมนุษย์ยังไม่มีภูมิคุ้มกันธรรมชาติ และไวรัสเองก็สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว มากกว่าร้อยละ 70 ของประชากรสามารถพัฒนาภูมิคุ้มกันก่อนที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะหายไปโดยธรรมชาติ ซึ่งนั่นหมายความว่าไวรัสจะระบาดไปอีกราว 18-24 เดือน ก่อนที่มันจะกลายเป็นโรคเฉพาะถิ่น (endemic)
ยังมีสิ่งที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับไวรัสอีกมาก การคาดการณ์ถึงทางออกที่ดีที่สุดจึงเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ยังมองว่าควรหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันของกลุ่มคนกลุ่มใหญ่
นอกจากนี้ ยังมีคำถามที่ว่าเมื่อไหร่ที่บรรดาแรงงานจะสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ หรือภาคธุรกิจใดที่ควรจะกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก และเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านการสาธารณสุขต่างก็กังวลในกรณีที่ที่เกิดความไม่พอใจจากผู้คนที่มีต่อมาตรการปิดเมือง และต้องการให้ธุรกิจต่างๆ กลับมาเปิดทำการอีกครั้งโดยด่วน เช่นการเรียกร้องให้ยกเลิกการปิดเมืองที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกก็กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “เราไม่แน่ใจว่ามาตรการใดจะเป็นทางออกที่ได้ผล”
อย่างไรก็ตาม มาตรการการผ่อนคลายหลังการปิดเมืองควรทำภายใต้การปฏิบัติมาตรการด้านสุขอนามัย การสร้างระยะห่างทางร่างกาย รวมไปถึงความร่วมมือจากผู้คน ในส่วนของเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข การเฝ้าระวัง การตามหาและตามรอยผู้ติดเชื้อ และการกักกันผู้ป่วยก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น
“บรรดารัฐและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ควรมีแผนสำหรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งรวมไปถึงการที่ไม่มีวัคซีนหรือภูมิคุ้มกันหมู่ด้วย” เป็นคำเตือนจากรายงานที่เขียนโดยศูนย์การวิจัยและนโยบายโรคติดต่อ มหาวิทยาลัยมินนิโซตา
“การสื่อสารเรื่องความเสี่ยงจากรัฐบาลควรจะเป็นไปในลักษณะที่โรคระบาดจะยังไม่จบลงในเร็วๆ นี้ เพื่อที่ผู้คนจะได้เตรียมตัวถึงความเป็นไปได้ของระยะเวลาการแพร่ระบาดครั้งใหม่อีกรอบ” ผู้เขียนรายงานกล่าวเสริม
แหล่งข้อมูล
‘The second wave is in our hands’- WHO COVID-19 briefing
Coronavirus may last 2 years, study warns. And its second wave could be worse.