เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 เฟซบุ๊กแฟนเพจร้านกาแฟ All day coffee – Chiang Dao ได้เผยแพร่ภาพดอยหลวงเชียงดาวที่มีเมฆรูปทรงคล้ายหมวกปกคุลมที่บริเวณยอดดอย หรือ เมฆยอดเขา สร้างความประทับใจแก่ผู้ติดตาม มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก และมีผู้ติดตามท่านหนึ่งสอบถามมายังเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร
เมฆยอดเขา (Cap Cloud) คือ หนึ่งในเมฆแนวนอน (Stratiform) ของกลุ่มเมฆภูเขา (Orograhic Cloud) ที่ก่อตัวขึ้นจากการที่กระแสอากาศหรือมวลอากาศในแนวระดับ ซึ่งมีความชื้นสูงถูกบังคับให้ยกตัวสูงขึ้น เมื่อเคลื่อนที่ไปปะทะเข้ากับเนินเขาหรือเทือกเขา ก่อนเย็นตัวลงจนเกิดเป็นกลุ่มเมฆขนาดใหญ่แผ่ปกคลุมยอดเขา โดยไม่เคลื่อนที่ไปไหน (Stationary Cloud)
เมฆยอดเขายังมีชื่อเรียกอื่น ๆ ในทางอุตุนิยมวิทยาว่า เมฆหมวก เมฆหมวกแก๊ป หรือเมฆคลุม ซึ่งโดยทั่วไปเมฆยอดเขามักถูกเรียกรวมไปกับหมวกเมฆ (Pileus Cloud) ซึ่งเป็นหนึ่งในเมฆประกอบ (Accessory Cloud) ตามการจัดจำแนกกลุ่มเมฆขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO)
จากการที่หมวกเมฆ หรือเมฆไพลีอัสมีชื่อเรียกมาจากรากศัพท์ในภาษาละตินที่แปลว่า “หมวกแก๊ป” เช่นเดียวกัน รวมถึงลักษณะทางกายภาพที่เป็นแผ่นเบาบาง แผ่ปกคลุมอยู่เหนือก้อนเมฆขนาดใหญ่ เช่น เมฆคิวมูโลนิมบัสคอนเจสตัส (Cumulonimbus Congestus) หรือเมฆฝนฟ้าคะนองที่เพิ่งเริ่มก่อตัวใหม่
การก่อตัวของเมฆยอดเขา
เมฆยอดเขานับเป็นหนึ่งในเมฆชั้นต่ำที่เกิดจากกลั่นตัวของไอน้ำ เมื่อกระแสอากาศที่มีความชื้นสูงหรือลมที่พัดพาเอาความชื้นจากบริเวณที่ราบโดยรอบเคลื่อนที่ขึ้นไปตามด้านรับลม (Windward Side) ของแนวเทือกเขาในขณะที่สภาพอากาศทรงตัวดี ซึ่งกระแสอากาศที่ยกตัวสูงขึ้นจะเย็นตัวลง เนื่องจากชั้นบรรยากาศเหนือยอดเขาสูงโดยทั่วไปแล้ว มีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณพื้นที่ราบด้านล่าง
ซึ่งการเย็นตัวลงของกระแสอากาศที่มีความชื้นสูงนี้ ก่อให้เกิดการควบแน่นและการกลั่นตัวของไอน้ำ เกิดเป็นหยดน้ำจำนวนมากที่เกาะกลุ่มรวมกันกลายเป็นเมฆแนวนอนที่มีลักษณะคล้ายโดมดอกเห็ดขนาดใหญ่แผ่ปกคลุมยอดเขาดังกล่าว เกิดเป็นภาพ “ภูเขาสวมหมวก” (Cap Cloud) นั่นเอง ในธรรมชาติ เมฆยอดเขามักเกิดตามภูเขาสูงหรือบริเวณเกาะที่โดดเดี่ยว
เมฆยอดเขาและเมฆรูปเลนส์
การที่กระแสอากาศยกตัวขึ้นเหนือยอดเขา ไม่เพียงก่อให้เกิดเมฆยอดเขา แต่ยังก่อให้เกิดการไหลลงของกระแสอากาศที่ปั่นป่วนทางด้านหลังลม (Leeward Side) ของแนวเทือกเขา ซึ่งมีลักษณะการเคลื่อนที่คล้ายคลื่นกระเพื่อมหรือที่เรียกว่า “คลื่นภูเขา” (Mountain Wave) ส่งผลให้กระแสอากาศด้านหลังเทือกเขาแบ่งออกเป็นชั้นคล้ายลูกคลื่นขนาดใหญ่หลายระลอก กลายเป็นต้นกำเนิดของเมฆรูปเลนส์ หรือ “เมฆจานบิน” (Lenticular Cloud) ที่ก่อตัวขึ้นตรงบริเวณส่วนยอดของคลื่นหรือบริเวณที่คลื่นอากาศกระเพื่อมขึ้นสูงสุด
เมฆรูปเลนส์เป็นเมฆชั้นสูง ซึ่งวางตัวเป็นแนวยาวเหนือแนวสันเขาและกระจายตัวออกไปด้านหลังลมที่ระดับความสูงราว 1,900 เมตร ไปจนถึง 12,000 เมตร (40,000 ฟุต) จากการยกตัวของมวลอากาศความชื้นสูงที่ถูกพัดพาให้เคลื่อนที่ขึ้นสูงตามระลอกคลื่น ซึ่งส่งผลให้กระแสอากาศเกิดการแผ่ขยายตัวออกไป และมีอุณหภูมิลดลงตามลำดับ จนเกิดการกลั่นตัวของไอน้ำและการรวมตัวของหยดน้ำ กลายเป็นเมฆจานบินที่ถูกกักอยู่ในชั้นอากาศนั้น ๆ เมฆจานบินมักไม่เคลื่อนไปไหนเช่นเดียวกับเมฆยอดเขา ถึงแม้ว่ากระแสลมจะแรง มีเพียงรูปร่างของก้อนเมฆที่จะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย ก่อนสลายตัวไปในท้ายที่สุด
นอกจากนี้ เมฆจานบินยังสามารถก่อตัวขึ้นหลายชั้นตามชั้นของอากาศที่กระเพื่อมขึ้นลง เกิดเป็นเมฆจานบินซ้อนกันหลายชั้น ซึ่งในธรรมชาติ เมฆจานบินและเมฆยอดเขามีต้นกำเนิดที่คล้ายคลึงกันอย่างมาก เมฆยอดเขาสามารถนับเป็นส่วนหนึ่งของเมฆรูปเลนส์หรือเมฆจานบินเหล่านี้ โดยมีข้อแตกต่างที่เด่นชัด 2 ข้อ คือ
เมฆยอดเขาก่อตัวขึ้นทางด้านรับลม (Windward Side) ของแนวเทือกเขา ในขณะที่เมฆจานบินก่อตัวขึ้นทางด้านหลังลม (Leeward Side) ของแนวเทือกเขา
เมฆยอดเขามักหยุดนิ่งอยู่กับที่เหนือยอดเขา ในขณะที่เมฆจานบินสามารถก่อตัวขึ้นได้ในหลายพื้นที่ แม้กระทั่งในพื้นที่ราบที่อาจพบเห็นได้ยาก ซึ่งเมฆจานบินที่ก่อตัวในลักษณะนี้ เป็นผลมาจากแนวปะทะอากาศ (Front) หรือลมเฉือน (Shear Winds) นั่นเอง
สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ
ข้อมูลอ้างอิง
World Meteorological Organization (WMO) – https://cloudatlas.wmo.int/en/orographic-influences-on-clouds.html
Autumn Skies Online Pty Ltd – https://ownyourweather.com/cap-cloud/
Met Office College – https://www.metoffice.gov.uk/weather/learn-about/weather/types-of-weather/clouds/other-clouds/lenticular
กรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ – https://www.oocities.org/weatherthai/WeatherHazard.htm