เครื่องดื่มผสมวิตามินซี ดีจริงหรือ รวมทุกข้อเท็จจริงที่คุณควรทราบ

เครื่องดื่มผสมวิตามินซี เป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้อย่างสะดวกตามร้านค้าทั่วไป และปัจจุบันผู้ผลิตรายหลายได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค

เครื่องดื่มผสมวิตามินซี คือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของวิตามินซี หรือกรดแอสคอร์บิก ซึ่งจัดเป็นกลุ่มของวิตามินที่ละลายในน้ำ ซึ่งหมายความว่าร่างกายไม่สามารถเก็บสะสมวิตามินซีไว้ในเนื้อเยื่อของร่างกายได้ จึงจำเป็นต้องได้รับผ่านอาหารที่รับประทานเข้าไปเท่านั้น

นักโชนาการกล่าวว่า วิตามินซี เป็นวิตามินที่มีความสำคัญกับร่างกาย ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ ในร่างกายมนุษย์ วิตามินซีทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยยับยั้งการสร้างสารก่อมะเร็ง ช่วยในการสังเคราะห์คอลลาเจน คาร์นิทีน และสารสื่อประสาท ช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก รวมถึงช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

ปริมาณวิตามินซีที่แนะนำต่อวันสำหรับคนไทยที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป คือ “60 มิลลิกรัมต่อวัน” ในกรณีอื่นๆ ความต้องการวิตามินซีจะเพิ่มขึ้น เช่น หญิงตั้งครรภ์ 95 มิลลิกรัมต่อวัน หญิงให้นมบุตร 130 มิลลิกรัมต่อวัน ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด 200-500 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นต้น

ธรรมชาติของวิตามินซี

วิตามินซีเป็นหนึ่งในสารอาหารที่พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ สัตว์ส่วนใหญ่สามารถสังเคราะห์วิตามินซีได้ แต่มนุษย์ต้องอาศัยวิตามินซีจากอาหารเท่านั้น ในอาหารมีวิตามินซี 2 รูปแบบซึ่งร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ทั้ง 2 ชนิดคือ Ascorbic acid และ Dehydroascorbic acid

คุณสมบัติทางเคมีของวิตามินซี หรือ Ascorbic acid มีผลึกสีขาว มีรสเปรี้ยว เป็นวิตามินชนิดที่ละลายน้ำได้ เมื่อละลายน้ำมีฤทธิ์เป็นกรด และเป็นวิตามินที่สลายตัวเร็วที่สุดในจำพวกวิตามินด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวต่อออกซิเจนมาก (ปฏิกิริยา oxidation) รวมไปถึงสลายตัวเร็วในบรรยากาศที่มีทองแดง ในสิ่งแวดล้อมที่มีสภาพเป็นด่าง และ Ascorbic oxidase enzyme ที่มีอยู่ในผลไม้

วิตามินซีพบมากในผักและผลไม้สด โดยเฉพาะพวกพืชตระกูลส้ม ยกตัวอย่างเช่น ในน้ำมะนาว 100 มิลลิตร มีวิตามินซีอยู่ประมาณ 35 มิลลิกรัม เป็นต้น ส่วนในผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีปริมาณวิตามินซีสูงคือ ฝรั่ง จากการตรวจหาปริมาณวิตามินซี พบว่าฝรั่ง 100 กรัม มีวิตามินซีอยู่ประมาณ 200 มิลลิกรัม นอกจากนี้ ยังพบวิตามินซีในอาหารอาหารประเภทอื่นๆ แต่มีปริมาณน้อย เช่น ตับ ไข่ปลา ในน้ำนม (น้ำนมมนุษย์มีประมาณ 4.4 มก./100 มล.)

วิธีการตรวจหาปริมาณวิตามินซี

ปัจจุบัน วิธีการสากลที่ใช้วิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีในอาหารแะเครื่องดื่มมีหลากหลายวิธี เช่น การไทเทรชั่น (Titrimetric), การใช้เอนไซม์ (Enzymatic), chemiluminometric, spectrophotometric, fluorometric และ amperometric เป็นต้น แต่สำหรับการวิเคราะห์หาวิตามินซีที่ได้รับความนิยมและมีประสิทธิภาพสูงมีสองวิธี คือ

1. high-performance liquid chromatography (HPLC) เป็นเทคนิคที่เราใช้แยกองค์ประกอบที่แตกต่างกันของสารประกอบ ซึ่งใช้ในการระบุปริมาณและแยกส่วนประกอบของส่วนผสม โดยในการตรวจหาวิตามินซีในเครื่องดื่มเป็นการตรวจหากรดแอสคอร์บิก และแอสคอร์บิกทั้งหมด (ซึ่งเกิดจากการรวมกันของกรดแอสคอร์บิก และกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก)

2. Ultra-performance liquid chromatography (UPLC) คือกระบวนการที่พัฒนามาจาก HPLC ซึ่งเร็วกว่า ละเอียดกว่า และประหยัดกว่า

เมื่อวิตามินซีกลายมาเป็นเครื่องดื่ม

ปัจจุบันเครื่องดื่มที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและมีการเติบโตทางการตลาดสูงก็คือ “เครื่องดื่มผสมวิตามินซี” ซึ่งจัดเป็นเครื่องดื่มประเภทฟังก์ชัน (Functional Drinks) หรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ (Health Beverage)

โดยเครื่องดื่มเหล่านี้มักจะมีการกล่าวกถึงสรรพคุณว่า ช่วยเพิ่มเติมสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในแต่ละวัน เช่น เสริมกรดอะมิโน เสริมคอลลาเจน วิตามินบีรวมต่าง ๆ รวมไปถึงสารสกัดจากสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการป้องกันโรคต่าง ๆ และสารอาหารที่มีส่วนช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเน้นเป็นกลยุทธ์ทางการขาย

เครื่องดื่มผสมวิตามินซี ดีจริงหรือ

วิตามินซีขนาด 120 มิลลิกรัมต่อวัน นั้นสามารถหวังผลเรื่องสุขภาพเสริมภูมิคุ้มกันได้มากน้อยแค่ไหน “ปริมาณที่ร่างกายได้รับยังไม่มากพอที่จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันได้ เนื่องจากเครื่องดื่มเหล่านี้มักมีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง (ตั้งแต่ 2-9 ช้อนชา จากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำให้บริโภคน้ำตาลจากอาหารทุกชนิดรวมกันไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน) ซึ่งการบริโภคน้ำตาลสูงบ่อย ๆ จะส่งผลเสียต่อร่างกายหลายอย่างไม่ใช่แค่เรื่องเสี่ยงเกิดโรคต่างๆ” อ้างจากบทความในเว็บไซต์ Medthai.com

นอกจากเรื่องของน้ำตาลที่ควรระวังแล้ว ผู้บริโภคควรดูข้อมูลการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเพิ่มเติมด้วย เพราะสารให้ความหวานแทนน้ำตาลบางชนิดไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางประเภท เช่น โรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria)

ในส่วนทางการแพทย์แนะนำว่า “หากเราอยากดื่มบ้างเป็นบางครั้งบางคราว เพราะชอบในเรื่องของรสชาติและร่างกายได้รับวิตามินซีด้วย แบบนี้ไม่มีปัญหาต่อสุขภาพ” อย่างไรก็ตาม หากจะดื่มทุกวันเพื่อหวังผลลัพธ์เรื่องสุขภาพ หรือดื่มเช้าดื่มเย็น แพทย์ไม่แนะนำการดื่มแบบนี้ เพราะการรับประทานทานวิตามินซีเพื่อเสริมสุขภาพเสริมภูมิคุ้มกันได้จริง ๆ นั้นจะต้องรับประทานให้ได้อย่างน้อยวันละ 500 มิลลิกรัม

ประกอบกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในบ้านเราตอนนี้ที่เต็มไปด้วยปัญหาของฝุ่นควัน PM2.5 และมีเชื้อก่อโรคชนิดใหม่เกิดขึ้น และทุกปีมีอัตราผู้ป่วยเป็นโรคติดต่อทางลมหายใจก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ปริมาณวิตามินซีที่แพทย์แนะนำให้รับประทานเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วย เป็นวันละ 1,000 มิลลิกรัม

สำหรับผู้ที่อยากทานวิตามินซีจริง ๆ เพื่อหวังผลเรื่องสุขภาพ เสริมภูมิคุ้มกัน และหวังเรื่องความงามผิวพรรรณด้วย ขอแนะนำเป็นวิตามินซีแบบผงใช้ชงผสมกับน้ำดื่ม ซึ่งก็เป็นวิตามินซีอีกหนึ่งรูปแบบที่กำลังได้รับความนิยมเช่นกัน เพราะให้ปริมาณวิตามินซีเทียบเท่ากับแบบเม็ด และไม่เสื่อมสลายได้เหมือนในเครื่องดื่มผสมวิตามินซีสำเร็จรูป

ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่เติมวิตามินซีเข้าไป ทั้งเครื่องดื่ม หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่าง ๆ เป็น “อนุพันธ์” (Derivative) ของวิตามินซี ซึ่งมีความเสถียรและความทนทานมากกว่าวิตามินซีปกติมาก หมายความว่า นำสารตัวนั้นมาเปลี่ยนแปลงหมู่ฟังก์ชั่นแค่บางหมู่ เพื่อให้สารตัวนั้นคงสภาพได้ โดยที่ยังคงมีคุณสมบัติและโครงสร้างใกล้เคียงกับตัวตั้งต้น ซึ่งอนุพันธ์ของวิตามินซีที่ใส่เข้าไปในเครื่องดื่มนี้ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะมีเอนไซม์ที่เข้าไปจัดการเปลี่ยนหมู่ฟังก์ชั่นของอนุพันธ์จนกลับไปเป็นวิตามินซีตัวเดิมได้ แล้วร่างกายจึงนำไปใช้งานได้

ส่วนสาเหตุที่วิตามินซีในเครื่องดื่มหายไป อาจเกิดได้จากระหว่างการะบวนการผลิต เนื่องจากอุณหภูมิ และการบรรจุลงขวด เกิดการออกซิเดชัน (สูญเสียร้อยละ 10–60) และสามารถสูญเสียได้อีกในระหว่างการจัดเก็บซึ่งขึ้นอยู่กับพาชนะที่บรรจุว่าทนต่อความร้อน และแสงได้มากเพียงใด เนื่องจากวิตามินซีถูกทำลายได้ด้วยแสงแดด อุณหภูมิประมาณ 60 – 76 องศาเซลเซียส ซึ่งขึ้นอยู่กับ pH ของเครื่องดื่มด้วย แม้แต่ยี่ห้อเดียวกันแต่ต่างรสชาติกันก็ยังมีปริมาณวิตามินซีไม่เท่ากัน

สืบค้นและเรียบเรียง ณภัทรดนัย

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.theptarin.com/th/article/detail/69

https://medthai.com/เครื่องดื่มวิตามินซี-200/

Vitamin C

https://ods.od.nih.gov/factsheets/VitaminC-HealthProfessional/


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน วิตามิน และเกลือแร่

ผักและผลไม้เป็นแหล่งรวมวิตามินต่างๆ การขาดวิตามิน ส่งผลให้ระบบการทำงานของร่างกายผิดปกติได้
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.