ตรวจจับ สัญญาณวิทยุลึกลับ จากดาวใกล้เคียง : หรือนั้นจะเป็นเอเลี่ยน

ไม่ใช่โทรเลขนอกโลกอย่างแน่นอน แต่นั้นดูเหมือนจะเป็น สัญญาณวิทยุลึกลับ ที่มาจากบริเวณใกล้เคียงดาวพร็อกซิมา เซนทอรี การค้นพบครั้งนี้จะช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถปรับแต่งเทคนิคการกรองสัญญาณใหม่ ๆ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นักดาราศาสตร์ที่ค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตนอกโลกได้พบบางสิ่งที่แปลกประหลาด นั่นคือ สัญญาณวิทยุลึกลับ ที่ยังไม่สามารถอธิบายได้ ดูเหมือนทิศทางจะมาจากดาวฤกษ์ที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดซึ่งเป็นดาวสีแดงขนาดเล็กที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 4.2 ปีแสงที่เรียกว่า พร็อกซิมาเซนทอรี ซึ่งดาวฤกษ์ดังกล่าวพบว่ามีดาวเคราะห์อย่างน้อยสองดวงโคจรอยู่ ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจมีอุณหภูมิปานกลางและเป็นหินเหมือนโลก

โครงการเพื่อค้นหาการสื่อสารนอกโลกในจักรวาล หรือ Breakthrough Listen คือโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตจากดาวหลายล้านดวงที่ใกล้โลกที่สุด ซึ่งเก็บข้อมูลมานานนับสิบปีโดยใช้หอดูดาวพาร์กส์ ของออสเตรเลีย

กล้องโทรทรรศน์วิทยุพาร์กส์ (Parkes) ในนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งดำเนินการโดยองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO)
ตรวจพบสัญญาณวิทยุที่ไม่สามารถอธิบายได้โดยทิศทางมาจากบริเวณดาวพร็อกซิมาเซนทอรี ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด
ภาพถ่าย : อเล็ก เชอร์นี, องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ

จากการสำรวจดาวศึกษาพร็อกซิมาเซนทอรี ทีมตรวจพบสัญญาณแปลกปลอม พวกเขาจึงตั้งชื่อว่า BLC-1 ซึ่งเป็นคลื่นวิทยุ ที่ใช้สำหรับติดตามสัญญาณนอกโลกตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2019

“เป็นความคาดหวังเมื่อเราตรวจพบ สัญญาณวิทยุลึกลับ ทุก ๆ ครั้งว่า เราจะได้เห็นอะไรแปลก ๆ แต่สิ่งนี้น่าสนใจคือ เราต้องคิดถึงขั้นตอนต่อไป” โซเฟีย ชีก นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย กล่าว

แม้ว่าชีกและคนอื่น ๆ จะสงสัยอย่างมากว่าสัญญาณนั้นมีต้นกำเนิดจากมนุษย์จริงๆ หรือไม่ แต่ BLC-1 คือการค้นพบที่น่าสนใจมากที่สุด

ทีม Breakthrough จัดเตรียมเอกสารสองฉบับที่อธิบายสัญญาณและการวิเคราะห์ติดตามผลซึ่งยังไม่เสร็จสมบูรณ์ (ผลการตรวจจับรั่วไหลไปยังสำนักข่าว The Guardian ก่อนที่งานวิจัยจะพร้อมเผยแพร่)

หกทศวรรษของการค้นหาสิ่งมีชีวิตต่างดาว

นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการสแกนท้องฟ้าเพื่อหา สัญญาณวิทยุลึกลับ ที่อาจมีต้นกำเนิดมาเป็นเวลากว่า 60 ปี โดยเริ่มจาก โปรเจ็กต์ออซมา ซึ่งเป็นการค้นหาในปี 1960 โดย แฟรงก์ เดรก พ่อของฉัน

ซึ่งคลื่น BLC-1 ครั้งนี้แตกต่างจากคลื่นวิทยุคอสมอสที่สร้างขึ้นตามธรรมชาติ เสียงกระซิบจากต่างดาวเหล่านี้อาจดูเหมือนกับการส่งสัญญาณที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสาร สัญญาณดังกล่าวจะครอบคลุมช่วงความถี่วิทยุที่แคบมาก นอกจากนี้ยังมีลักษณะ “เคว้งคว้าง ล่องลอย” ที่บ่งบอกว่าแหล่งกำเนิดกำลังเคลื่อนที่เข้าหาหรือห่างจากโลก ซึ่งเป็นเบาะแส ว่าแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุมาจากวัตถุจักรวาลที่อยู่ห่างไกล เช่น ดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์

พร็อกซิมา เซนทอรี ดาวฤกษ์ที่ใกล้ที่สุดของเราดังที่เห็นได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล
ภาพถ่าย : ESA / HUBBLE & NASA

“มีเพียงเทคโนโลยีของมนุษย์เท่านั้นที่สร้างสัญญาณเช่นนั้น” ชีก กล่าว และเสริมต่อว่า “WiFi และเสาสัญญาณ GPS วิทยุดาวเทียมของเรา ทั้งหมดนี้ดูเหมือนสัญญาณที่เรากำลังค้นหา จึงทำให้ยากที่จะบอกได้ว่า บางอย่างที่เราค้นพบนั้นแท้จริงแล้วมาจากอวกาศหรือจากเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้น”

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์ตรวจพบสัญญาณจำนวนมาก บางส่วนพบว่ามาจากแหล่งทางดาราศาสตร์ที่ไม่รู้จักมาก่อน เช่น พัลซาร์ เศษซากของดาวมรณะที่หมุนอย่างรวดเร็ว ส่งคลื่นวิทยุไปยังจักรวาล การระเบิดสั้น ๆ ของคลื่นวิทยุที่ยังค่อนข้างลึกลับ ในตอนแรกดูเหมือนว่าอาจเป็นสัญญาณเทียม สัญญาณที่เรียกว่า เพอร์ตันส์ ซึ่งเป็นการระเบิดที่มีพลังน้อยกว่าของการปล่อยคลื่นวิทยุ จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์ระบุที่มาของพวกในภายหลังว่านั่นคือ คลื่นจากเตาไมโครเวฟ

BLC-1 อาจส่องแสงจากวัตถุที่ไม่ส่งสัญญาณตามที่คาดไว้ เพราะไม่แน่ว่า BLC-1 อาจเป็นเพียงสัญญาณที่มาจากดาวเทียมที่ยังไม่ได้ระบุตัวตน เครื่องบินที่เคลื่อนที่เหนือศีรษะ เครื่องส่งสัญญาณบนพื้นดินซึ่งใกล้กับแนวสายตาของกล้องโทรทรรศน์ หรืออาจเป็นเรื่องธรรมดายิ่งกว่านั้น เช่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกิดส่งสัญญาณผิดพลาดในอาคารใกล้เคียงหรือรถที่สัญจรไปมา

 “การทดลองของสถาบันเซติ (SETI) ดำเนินการโดยมีคลื่นรบกวนมากมาย ซึ่งเราต้องสร้างตัวทดสอบที่สามารถบอกความแตกต่างระหว่างเทคโนโลยีจากนอกโลกกับเทคโนโลยีของเราเอง” เซมีออน กล่าว

มีสัญญาณที่นักดาราศาสตร์ไม่สามารถคัดกรองได้ว่าสัญญานนั้นมาจากแหล่งธรรมชาติหรือไม่ เช่น สัญญาณ ว้าว! ที่เคยเป็นข่าวโด่งดัง ซึ่งสัญญาณดังกล่าวตรวจจับได้โดยหอดูดาวของมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตตหรือที่เรียกกันติดปากว่าบิ๊กเอียร์ ในปี 1977 นักดาราศาสตร์พบคลื่นวิทยุที่ชนิดหนึ่งซึ่ึงในตอนแรกดูเหมือนเป็นการตรวจจับสิ่งมีชีวิตจากนอกโลกจริง แต่กระนั้นก็ไม่มีใครสามารถตรวจสอบหรือหามันได้อีก จึงทำให้เราไม่ได้ศึกษาต่อ

สัญญาณแปลก ๆ

ในปี 2015 Breakthrough Listen เริ่มต้นการค้นหาสัญญาณอีกครั้ง โดยได้รับทุนจากนักลงทุนในซิลิคอนวัลเลย์ ยูริ มิลเนอร์ ซึ่งเป็นนักลงทุนจากซิลิคอนวัลเลย์มานานนับสิบปี ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่พบสิ่งที่ชัดเจนจากการค้นหา

เดือนเมษายน ปี 2019 Breakthrough ได้หมุนกล้องโทรทรรศน์พาร์กส์เล็งไปที่พร็อกซิมาเซนทอรี ซึ่งเป้าหมายตอนนั้นพวกเขาเพียงหวังว่าจะเข้าใจพลุขนาดมหึมาที่เกิดขึ้นบนดาวแคระแดงขนาดเล็ก อย่างพร็อกซิมา ที่ปล่อยออกมาบ่อยๆ ในขณะที่ประมวลผลการสังเกตการณ์ในช่วงฤดูร้อนนี้ เชน สมิธ นักศึกษาระดับปริญญาตรีจากวิทยาลัยฮิลส์เดล ในมิชิแกน ซึ่งทำงานกับ Breakthrough ได้เห็นสัญญาณ BLC-1 หลุดออกมาจากดาว

แม้ว่าสัญญาณจะอ่อน แต่ BLC-1 ก็ผ่านการทดสอบทั้งหมดที่ทีม Breakthrough ใช้เพื่อกรองสัญญาณนับล้านที่มนุษย์สร้างขึ้น แบนด์วิดท์ที่แคบดูเหมือนจะลอยอยู่ในความถี่และหายไป เมื่อกล้องโทรทรรศน์เปลี่ยนการมองจากพร็อกซิมาไปยังวัตถุอื่น ในวันต่อมามีสัญญาณที่คล้ายกันสี่สัญญาณปรากฏขึ้นแม้ว่าบางส่วนจะถูกคัดว่าเป็นการรบกวนทางวิทยุ

ติดตาม

ตั้งแต่ตรวจพบ BLC-1 ทีมงานได้ลองสังเกตพร็อกซิมาเซนทอรีอีกครั้ง แต่กลับไม่พบอะไรเลย ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนาการทดสอบแบบใหม่ที่สามารถระบุที่มาของสัญญาณได้ รวมถึงยังคงเล็งกล้องโทรทรรศน์พาร์กส์ไปยังพร็อกซิมา รอคอยสัญญาณส่งมาอีกครั้ง

เมื่อต้นปีนี้ จิล ทาร์เตอร์ จากสถาบันเซติ กล่าวว่า กระบวนการสร้างการทดสอบใหม่และความพยายามเพื่อยืนยันที่มาของสัญญาณเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของสถาบัน และเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเรียนรู้และรับประโยชน์ได้

“เรากำลังมองหาบางอย่าง เพื่อยืนยันว่ามีสิ่งมีชีวิตนอกเหนือจากเราอาศัยอยู่ในจักรวาล เมื่อเราตรวจจับสิ่งรบกวนได้ และคิดว่านั้นอาจเป็นสิ่งที่เรากำลังมองหา จากนั้นเราคิดต่อไปว่า เราต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถแยกแยะ สัญญาณเหล่านั้นจากสัญญาณรบกวนได้” ทาร์เตอร์ กล่าว

เซมีออน กล่าวว่า “ท้ายที่สุดฉันคิดว่า แม้ BLC-1 จะเป็นเพียงสัญญาณรบกวน แต่อย่างน้อยการค้นพบครั้งนี้ทำให้เราพัฒนาการทดลองของเราให้มีประสิทธิภาพในการคัดกรองสัญญาณได้ดียิ่งขึ้น”

เรื่อง : นาเดีย ดาร์ก

***แปลและเรียบเรียงโดย : พชร พงศ์ยี่ล่า

โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : สิ่งมีชีวิตนอกโลก : มีใครอยู่ข้างนอกนั่นไหม

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.