ระบบโครงร่างของมนุษย์

ระบบโครงร่าง เป็นส่วนที่แข็งแรงที่สุดในร่างกายมนุษย์ ซึ่งมนุษย์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ มีโครงร่างแข็งภายใน หรือที่เรียกว่า กระดูก

ระบบโครงร่าง ของมนุษย์ (Skeletal System) ประกอบด้วยกระดูก (Bone) กระดูกอ่อน (Cartilage) เอ็นยึดข้อต่อ (Ligament) และข้อต่อ (Joint) โดยมีกระดูกเป็นส่วนที่แข็งแรงและทนทานที่สุด

หน้าที่ของ ระบบโครงร่าง

● ค้ำจุนโครงสร้างของร่างกายและทำหน้าที่รองรับอวัยวะต่าง ๆ ให้คงอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
● ป้องกันอวัยวะภายในร่างกายที่สำคัญ เช่น สมอง หัวใจ และปอด รวมไปถึงหลอดเลือดและเส้นประสาทที่ทอดยาวอยู่ภายในแนวกระดูก จากอันตรายและการกระทบกระเทือนต่าง ๆ
● เป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อและเอ็นที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว
● ผลิตเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ และยังเป็นแหล่งสำรองของแคลเซียมที่สำคัญ

กระดูกของมนุษย์มีส่วนประกอบที่สำคัญ 2 ส่วน คือ

● สารอินทรีย์หรือส่วนที่มีชีวิตของกระดูก คือ เซลล์กระดูก เนื้อเยื่อประสาทและเส้นเลือดต่าง ๆ ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้กระดูกมีความเหนียวและยืดหยุ่น ทำให้กระดูกไม่เปราะบางและแตกหักได้ง่าย

● สารอนินทรีย์หรือส่วนที่ไม่มีชีวิตของกระดูก คือ สารประกอบแคลเซียมและโซเดียมจากเกลือแร่ต่าง ๆ ที่ทำให้กระดูกแข็งแรงและทนทาน

ในร่างกายขอมนุษย์ ระบบโครงร่างผ่านการวิวัฒนาการมาอย่างสลับซับซ้อน จากในระยะตัวอ่อน (Embryo) หรือในร่างกายของทารกแรกเกิดที่มีจำนวนกระดูกอยู่มากถึง 350 ชิ้น ซึ่งในภายหลังกระดูกแต่ละชิ้นจะเชื่อมต่อกัน เพื่อรองรับร่างกายที่เจริญเติบโตขึ้น จนกระทั่งถึงวัยผู้ใหญ่ ร่างกายของเราจะเหลือจำนวนกระดูกรวมกันทั้งหมด 206 ชิ้นเท่านั้น ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ

กระดูกแกน (Axial Skeleton) หมายถึง กระดูกที่เป็นแกนกลางของลำตัวมีอยู่ทั้งหมด 80 ชิ้น ประกอบด้วย
− กระดูกกะโหลกศีรษะ (Skull) 29 ชิ้น ทำหน้าที่ห่อหุ้มและปกป้องสมอง
− กระดูกสันหลัง (Vertebral Column) 33 ชิ้น (ในวัยเด็ก) หรือ 26 ชิ้น (ในวัยผู้ใหญ่) ทำหน้าที่ค้ำจุนและรองรับน้ำหนักของร่างกาย
− กระดูกทรวงอก (Thorax) 1 ชิ้นบริเวณสันอก (Sternum) และกระดูกซี่โครง (Rips) อีก 12 คู่ ทำหน้าที่รวมกับกล้ามเนื้อเพื่อช่วยในการหายใจและปกป้องอวัยวะภายในที่สำคัญ เช่น ปอดและหัวใจ

กระดูกรยางค์ (Appendicular Skeleton) หมายถึง กระดูกนอกเหนือไปจากบริเวณลำตัวมีอยู่ทั้งหมด 126 ชิ้น ประกอบด้วย
− กระดูกไหล่ (Pectoral Girdle) ทั้งหมด 4 ชิ้น ซึ่งประกอบด้วยกระดูกไหปลาร้า (Clavicle) กระดูกสะบัก (Scapula) ชนิดละ 2 ชิ้น ทำหน้าที่รองรับแขนและช่วยในการเคลื่อนไหว
− กระดูกแขน (Upper Extremities) ข้างละ 30 ชิ้น รวมทั้งสิ้น 60 ชิ้น ทำหน้าที่เป็นฐานเชื่อมโยงกับกระดูกอื่น ๆ ในร่างกาย
− กระดูกขา (Lower Extremities) ข้างละ 30 ชิ้น รวมถึงกระดูกเชิงกราน (Pelvic Girdle) และกระดูกสะโพก (Hip Bones) อีก 2 ชิ้น รวมทั้งหมด 62 ชิ้น

ข้อต่อ (Joints) คือ ส่วนของรอยต่อกระดูกที่เกิดจากการเชื่อมกันของกระดูกตั้งแต่ 2 ชิ้นขึ้นไป โดยมีเอ็นและกล้ามเนื้อช่วยยึดเสริมความแข็งแรง ทำให้โครงกระดูกมีความยืดหยุ่นและสามารถเคลื่อนไหวไปมาได้อย่างอิสระ

ในข้อต่อบางส่วนจะมีน้ำหล่อเลี้ยงข้อต่อ (Synovial Fluid) ทำหน้าที่หล่อลื่น เพื่อไม่ให้เกิดการเสียดสีที่รุนแรงและทำให้ง่ายต่อการเคลื่อนไหว ในร่างกายของมนุษย์ ข้อต่อแต่ละข้อมีโครงสร้างลักษณะและหน้าที่แตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสม เช่น การงอ (Flexion) ของไหล่หรือข้อขา การเหยียด (Extension) ของข้อเขาและกระดูกสันหลังหรือการหมุน (Rotation) ของคอและข้อสะโพก เป็นต้น

การเจริญเติบโตและอายุของกระดูก

กระดูกในร่างกายของมนุษย์เริ่มเจริญเป็นกระดูกอ่อนตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และจะพัฒนาเป็นกระดูกที่แข็งแรงขึ้นจากการดูดซับธาตุอาหารและแร่ธาตุต่าง ๆ เมื่อร่างกายเจริญเติบโต โดยมีจุดศูนย์กลางของการพัฒนาอยู่ที่บริเวณแกนกระดูก ก่อนจะขยายไปในส่วนของกระดูกรยางค์ทั้ง 2 ข้างลำตัว การเจริญเติบโตของกระดูกมนุษย์จะแตกต่างกันออกไปตามช่วงอายุและเพศ โดยมีฮอร์โมนเป็นตัวกระตุ้น

● เพศชาย : กระดูกจะมีการเติบโตอย่างมากในช่วงอายุระหว่าง 18 ถึง 21 ปี
● เพศหญิง : กระดูกจะมีการเติบโตอย่างมากในช่วงอายุระหว่าง 16 ถึง 18 ปี

กระดูกจะเจริญไปจนถึงอายุประมาณ 25 ปี ก่อนจะหยุดการเจริญเติบโต ซึ่งกระดูกนับเป็นส่วนของเนื้อเยื่อที่มีชีวิตและมีแคลเซียมเป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งในทุก ๆ วันกระดูกมีการสลายตัวและสร้างขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลาหรือที่เรียกว่า “วงจรกระดูก” ซึ่งจะเข้าสู่ภาวะสมดุล เมื่อถึงช่วงวัยประมาณ 25 ถึง 30 ปี และเมื่อเลยจากช่วงอายุดังกล่าวไป อัตราการสลายตัวของกระดูกจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งไม่สามารถรักษาสมดุลระหว่างการสลายตัวและการสร้างใหม่ ส่งผลให้มนุษย์เราเมื่ออายุมากขึ้น กระดูกจะมีมวลลดลงและทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนนั่นเอง

สืบค้นและเรียบเรียง คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย


ข้อมูลอ้างอิง

http://kpi.msu.ac.th/upload/ag_tor_ref_byval/ag__in_1.2.7_481().pdf

https://nachuakpit.ac.th/client-upload/np/uploads/files/บัตรเนื้อหาที่203%20เรื่องระบบกระดูก.pdf

https://www.britannica.com/science/human-skeleton


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine System)

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.