ไข่มุก และ ไข่มุกเมโล อัญมณีล้ำค่าจากท้องทะเล

ทำความรู้จัก “ไข่มุก” และ “ไข่มุกเมโล” หนึ่งในไข่มุกธรรมชาติที่หายากที่สุด และแพงที่สุดของโลก

ไข่มุก หรือมุก เป็นอัญมณีที่เกิดจากสารอินทรีย์หรือสิ่งมีชีวิต หรือที่เรียกว่า อัญมณีอินทรีย์ (organic gems) ชนิดหนึ่ง ที่มีราคาสูงที่สุด เป็นที่นิยม และเป็นอัญมณีที่มีความสวยงามในตัวเอง มีความวาวแบบมุก (pearly) และการเกิดสีเหลือบ (iridescence) โดยไม่ต้องตกแต่งเจียระไน ตามความเชื่อตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์ ไข่มุกเป็นสัญญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ สมัยโบราณเชื่อกันว่าไข่มุกเป็นของที่มีค่าสูงส่งเหมาะสำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น ตามนิยายปรัมปราหรือตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาเชื่อว่า ไข่มุกเป็นหยดน้ำตาแห่งความสุขของเทพธิดาที่หลั่งออกมาให้กับชะตาชีวิตของมนุษย์

ไข่มุกเมโล

การจำแนกประเภทและการเกิดไข่มุก

ปัจจุบัน ในตลาดการค้าอัญมนี ไข่มุกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ไข่มุกธรรมชาติ (natural pearls) และไข่มุกเลี้ยง (cultured pearls)

1. ไข่มุกธรรมชาติ (natural pearl) คือไข่มุกเกิดขึ้นเองในหอยมุกซึ่งเป็นหอยสองฝามีทั้งชนิดน้ำจืดและน้ำเค็ม อาจเกิดเนื่องมาจากเซลล์เนื้อเยื่อเจริญปลายยอดชั้นนอก (mantle) บางส่วนหลุดเข้าไปในตัวของหอยมุกโดยบังเอิญหรืออาจเป็นสิ่งแปลกปลอม เช่น เม็ดทรายขนาดเล็ก กรวด หนอนทะเล หรือตัวเบียน (parasite) ถูกพัดพาเข้าไปภายในตัวหอยมุก แล้วทำให้ตัวหอยมุกเกิดความระคายเคืองจนหลั่งสารที่เป็นชั้นมุกที่เรียกว่า เนเคอร์ (nacre) ออกมาเคลือบสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นจนเป็นไข่มุก

จากโครงสร้างที่เป็นชั้น ๆ ของชั้นไข่มุกนี้เองที่ทำให้เกิดการหักเหและการสะท้อนกลับ เกิดการแทรกสอดของแสง (interference of light) ภายในชั้นต่าง ๆ จึงทำให้มองเห็นเป็นเหลือบมุก (orient) บนผิวมุก ดังนั้นโครงสร้างของชั้นมุกจึงมีความสำคัญมากต่อคุณภาพของไข่มุก ถ้าแผ่นแคลเซียมคาร์บอเนตชนิดอะราโกไนต์ (aragonite) ยิ่งบาง และเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ จะทำให้สมบัติการเหลือบมุกและความวาวสูง แต่ถ้าแผ่นอะราโกไนต์หนาเกินไปและเรียงตัวกันอย่างไม่เป็นระเบียบ จะทำให้ไข่มุกมีคุณภาพเหลือบมุก และความวาวต่ำเนื่องจากเกิดการแทรกสอดแบบหักล้างกันในคลื่นแสง ดังนั้นความสวยงามของผิวมุกอยู่ที่ความละเอียด และความหนาชั้น nacre ของไข่มุก ยิ่งชั้นมุกมีความหนามากไข่มุกก็จะมีความวาวมาก

2. ไข่มุกเลี้ยง (cultured pearl) มุกแบบไม่มีนิวเคลียส นิยมผลิตมุกน้ำจืด มีวิธีการผลิตมุกโดยการผ่าเอาเนื้อเยื่อ mantle ชิ้นเล็ก ๆ จากหอยตัวหนึ่งมาฝังลงใน mantle ของหอยอีกตัวหนึ่ง ชิ้นเนื้อเยื่อจะแบ่งเซลล์ขยายตัวกลายเป็นถุงมุก (pearl sac) จะขับสารประกอบที่เป็นชั้นของเปลือกหอย โดยมีชั้น nacre อยู่นอกสุดเกิดเป็นมุกขึ้นภายในถุงมุก มุกที่ได้อาจมีรูปร่างได้หลายแบบ เนื่องจากไม่มีแกนกลางบังคับรูปร่างของมุกนั่นเอง

โดยปกติมุกจะมีสีขาวเหลือบสีรุ้งเล็กน้อยจนถึงขาวนวล แต่ก็มีสีอื่น ๆ อีกเช่น ชมพู เงิน ครีม ทอง เหลือง เทา และดำ เป็นต้น โดยจะขึ้นอยู่กับชนิดของหอยมุก น้ำ และสภาวะแวดล้อมในบริเวณที่หอยมุกอยู่อาศัย

สมบัติของไข่มุกทางอัญมณี ไข่มุกมีความแข็งประมาณ 2.5 – 3.5 เนื้ออ่อนกว่าแก้วแต่บดให้แตกเป็นผงค่อนข้างยากเนื่องจากมุกมีการจับตัวที่แน่นมาก องค์ประกองทางเคมีส่วนใหญ่เป็น Calcium Cabonate (CaCO3) 80 % ซึ่งปกติจะเป็นแร่ Aragonite, Conchiolin 10 – 14 % และน้ำ 2 – 4 % ไข่มุกมีค่าดัชนีหักเหประมาณ 1.53 – 1.69 ความวาวเป็นความวาวในตัวเองเรียกว่า วาวแบบมุก (Pearly luster) หรือ Orient ไข่มุกเป็นอัญมณีอินทรีย์ การดูแลรักษาจึงควรพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนกรด น้ำหอม สบู่ ครีมทาผิว หรือสเปรย์ใส่ผม เพราะอาจทำให้สีของมุกเปลี่ยนไป

แหล่งมุกที่สำคัญได้แก่ อิหร่าน อเมริกากลาง และทางตอนบนของออสเตรเลีย ส่วนไข่มุกเลี้ยงนั้นมีมากแถบญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาะตาฮิติ และเกาะหมู่เกาะอื่น ๆ ในแถบทะเลใต้ โดยปกติไข่มุกเลี้ยงจะมีขนาดโตได้ประมาณ 9 – 15 มิลลิเมตรมีหลายสี เช่น สีเหลือง ทอง ขาว เงิน และดำ เป็นต้น ในประเทศไทยมีฟาร์มเลี้ยงมุกในจังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง สุราษฎร์ธานี และกาญจนบุรี

ไข่มุกเมโล หนึ่งในไข่มุกที่หายากและราคาสูง

จากกระแสข่าวเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีรายงานว่า ชายชาวบ้านในตำบลเกาะเพชร อำเภแหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช พบ “ไข่มุกเมโล” ซึ่งเป็นชื่อทางการค้าของไข่มุกประเภทหนึ่งในตลาดอัญมณี และมีราคาสูงถึง 10 ล้านบาท สร้างความสนใจให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก และทุกคนต่างหาคำตอบว่า มุกเมโลคืออะไร

ไข่มุกเมโล เป็นมุกประเภทหนึ่งที่หายาก และเป็นมุกที่ไม่ได้เกิดจากชั้น nacre โดยเกิดขึ้นในหอยสังข์ และหอยโข่งทะเล ซึ่งพบการกระจายพันธุ์ในแถบทะเลน้ำตื้นประเทศเมียนมา มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา และไทย

ไข่มุกเมโลเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกับไข่มุกอื่น ๆ ในรูปหอย คือเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในตัวหอยพร้อมอาหาร หอยจะพยายามหลั่งสารในร่างกายมาปกคลุมสิ่งแปลกปลอมไว้ เพื่อลดความระคายเคือง โดยใช้เวลาหลายปีเพื่อก่อตัวเป็นรูปร่างไข่มุก

เนื่องจากมุกเมโลไม่ได้จากชั้น nacre จึงไม่มีความแวววาวสีรุ้งเหมือนไข่มุกประเภทอื่นๆ แต่กลับมีสีส้มเปลวเพลิงไปจนถึงสีน้ำตาลส้ม แม้ว่าจะมีสารประกอบอะราโกไนต์ซึ่งพบได้ในไข่มุกน้ำจืด แต่ในไข่มุกเมโลมีการจัดเรียงแร่นี้ในลักษณะโครงสร้างที่แตกต่างออกไป โดยโครงสร้างของแร่อะราโกไนต์ในมุกเมโลมีลักษณะพันกันเป็นกลุ่มก้อน แทนที่จะเรียงตัวเป็นชั้นๆ

ในขณะที่หอยนางรมและหอยแมลงภู่สามารถเพาะเลี้ยงและบังคับให้สร้างไข่มุกได้ แต่มุกเมโลยังไม่ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยง แม้จะพยายามทดลองกันหลายครั้ง ขณะเดียวกัน ก็พบว่ามีไข่มุกเมโลปลอม โดยทำขึ้นจากตัวเปลือกของหอยเอง โดยการนำมาตัด กลึง และย้อมสี จนมีลักษณะเหมือนไข่มุกเมโล

ทำไมไข่มุกเมโลจึงราคาแพง

เนื่องจากความหายาก จึงไม่มีวิธีมาตรฐานในการกำหนดราคาไข่มุกเมโล โดยราคาจะขึ้นอยู่กับรายบุคคล คุณภาพ ลักษณะ และน้ำหนักกะรัต ไข่มุกเมบางชิ้นมีมูลค่าสูงถึงหลายพันดอลลาร์สหรัฐ เมื่อนำไปประกอบในเครื่องประดับที่สวยงาม ยิ่งเพิ่มมูลค่าให้กับไข่มุกเมโล และเครื่องประดับชิ้นนั้น

ในอดีต การประมูลไข่มุกเมโลในแหล่งประมูลชื่อดังอย่าง Christies เคยทำราคาได้สูงสุด 75,000 – 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 225,000 – 7,500,000 บาท

โดยทั่วไปแล้วไข่มุกเมโลมักถูกขายให้กับนักสะสม เนื่องจากช่วยสร้างความโดดเด่นและมูลค่าให้กับคอลเล็กชันอัญมณี ด้วยความต้องการสูงและหายากมาก ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงมีเพียงผู้ที่คร่ำหวอดในวงการอัญมณีเท่านั้น ที่สามารถรับซื้อไปได้ทันเวลา


ข้อมูลอ้างอิง

ไขข้อข้องใจ “มุกเมโล” ของแท้หายาก – https://news.thaipbs.or.th/content/301243
บทความเรื่องไข่มุก (Pearl) โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
รู้จริงเรื่องมุก – https://www.pembagems.com
WHAT’S A MELO MELO PEARL AND WHY IS IT SO VALUABLE? – https://pearlwise.pro/whats-a-melo-melo-pearl
Fact sheet of Melo Melo – http://www.wildsingapore.com/wildfacts/mollusca/gastropoda/volutidae/melo.htm


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : การตกผลึก (Crystallization)

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.