ล่าสุด จิรัฐิ สัตถาพร นักศึกษาระดับปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไศึกษาทบทวนพืชสกุลพนมสวรรค์ (Clerodendrum) เป็นกลุ่มพืชที่อยู่ในวงศ์กะเพรา (Lamiaceae) มีสมาชิกประมาณ 150 ชนิด กระจายพันธุ์ในทวีปแอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย มีลักษณะโดยทั่วไปเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น ใบออกเป็นคู่ตรงกันข้าม มีช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง (thyrse) แบบตั้งขึ้นหรือห้อยลง มีกลีบเลี้ยงเชื่อมเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 กลีบ มีกลีบดอกสีขาว ชมพู เหลือง หรือแดง เชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 กลีบ มีเกสรเพศผู้มี 4 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน และมีผลแบบผลเดียวเมล็ดแข็ง (drupe) ชนิดพันธุ์ใหม่
ในประเทศไทย การศึกษาทางอนุกรมวิธาน (Taxonomy) ของพืชสกุลนี้ยังต้องศึกษาทบทวน เนื่องจากยังคงมีปัญหาเรื่องชื่อพ้อง ปัญหาการระบุขอบเขตของชนิดโดยลักษณะสัณฐานวิทยาที่คลุมเครือ และพรรณไม้ที่ยังไม่สามารถระบุชื่อวิทยาศาสตร์ได้ ส่งผลให้จำนวนชนิดของพืชสกุลนี้ในประเทศไทยยังไม่คงที่ รวมถึงข้อมูลคำบรรยายลักษณะทางสัณฐานวิทยา การกระจายพันธุ์ และการนำไปใช้ประโยชน์ของแต่ละชนิดที่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด ถึงแม้ว่าเคยจัดทำบัญชีรายชื่อของพืชสกุลนี้ในประเทศไทยไว้แล้วในอดีต
การค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก ‘ระย้าแก้วบาลา (Clerodendrum angustipetalum Satthaphorn, A.J. Paton & Leerat.)’ ในจังหวัดนราธิวาส เป็นการค้นพบจากการศึกษาทบทวนตัวอย่างพรรณไม้แห้งในพิพิธภัณฑ์พืชแห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PSU Herbarium) โดยตัวอย่างต้นแบบ (holotype) ของพืชชนิดนี้ถูกเก็บใน พ.ศ. 2553 และไม่สามารถระบุชื่อวิทยาศาสตร์ได้ในขณะนั้นเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลทางอนุกรมวิธานของพืชสกุลนี้ในประเทศไทยที่เพียงพอ ซึ่งตัวอย่างชิ้นนี้มีรายงานการเก็บมาจากบริเวณป่าฮาลา-บาลา ในเขตจังหวัดนราธิวาส เมื่อผู้วิจัยออกภาคสนามเพื่อสำรวจพื้นที่ (field survey) และตรวจสอบเอกสารอนุกรมวิธานที่เกี่ยวข้อง (literature review) จึงพบว่าพืชชนิดนี้มีลักษณะสัณฐานวิทยาที่ไม่เหมือนกับพืชชนิดอื่นในสกุลพนมสวรรค์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
ระย้าแก้วบาลามีลักษณะใกล้เคียงกับ ‘ระย้าแก้ว (C. nutans Wall. ex Jack)’ ที่พบได้ในหลายภูมิภาคของประเทศไทยและประเทศข้างเคียง แม้จะมีช่อดอกห้อยลงและมีกลีบดอกสีขาวคล้ายกัน แต่ความแตกต่างของระย้าแก้วบาลาคือ มีกลีบเลี้ยง กลีบดอก และเกสรเพศผู้ที่มีความยาวมากกว่า มีกลีบดอกที่มีความกว้างน้อยกว่า และใบที่มีความหนาและยาวกว่า จากลักษณะที่มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจึงเป็นหลักฐานทางสัณฐานวิทยาที่สำคัญในการจำกัดขอบเขตของระย้าแก้วบาลาเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก โดยชื่อชนิด ‘C. augustipetalum’ มีที่มาจากคำภาษาละตินสองคำ ได้แก่ ‘angusti’ หมายถึง แคบ และ ‘petalum’ หมายถึง กลีบดอก เมื่อนำสองคำมาประกอบกันจะมีความหมายว่า มีกลีบดอกแคบ
การศึกษาต่อยอดด้านชีวโมเลกุล (molecular study) เพื่อสร้างแผนผังวงศ์วานวิวัฒนาการ (phylogenetic tree) สามารถให้ความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างสกุลและภายในสกุล รวมถึงนำมาประกอบการอภิปรายร่วมกับหลักฐานทางสัณฐานวิทยา เพื่อเป็นสร้างองค์ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยาของพืชสกุลพนมสวรรค์ในประเทศไทย
การศึกษาด้านเภสัชวิทยา (pharmacology) เป็นอีกหนึ่งสาขาที่สามารถนำความรู้ทางอนุกรมวิธานไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้ เนื่องจากมีรายงานการศึกษาทดลองพฤกษเคมีและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพืชสกุลพนมสวรรค์บางชนิด เช่น นางแย้มป่า (C. infortunatum L.) เท้ายายม่อม (C. indicum (L.) Kuntze) และพนมสวรรค์ ซึ่งพบสารกลุ่มไดเทอร์พีนอยด์ (Diterpenoids) ไตรเทอร์พีนอยด์ (Triterpenoids) และฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ซึ่งมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในการต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ และต้านเชื้อรา เป็นต้น
นอกจากนี้มีรายงานการศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน (ethnobotany) ที่ใช้ประโยชน์จากพืชสกุลนี้บางชนิดในกลุ่มชนพื้นเมืองในภาคเหนือของประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น การนำใบของพนมสวรรค์มาต้มดื่ม เพื่อรักษาริดสีดวงทวาร และการนำใบของนางแย้มป่ามาต้มดื่มเพื่อรักษาอาการปวดหัว ปวดฟัน เป็นต้น ดังนั้นการศึกษาทบทวนอนุกรมวิธานของพืชสกุลนี้จึงมีความสำคัญและจำเป็นเพื่อให้ได้องค์ความรู้พื้นฐานที่ถูกต้องมากที่สุดไปต่อยอดการศึกษาวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากพืชในสกุลนี้
งานวิจัยตีพิมพ์ระย้าแก้วบาลานี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติสาขาพฤกษศาสตร์ซึ่งเป็นที่ยอมรับของการศึกษาด้านอนุกรมวิธานของพืชในชื่อ ‘Phytotaxa’ (https://doi.org/10.11646/phytotaxa.491.2.7) ซึ่งเป็นผลงานที่เขียนขึ้นร่วมกันของจิรัฐิ สัตถาพร นักศึกษาปริญญาเอก และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรัล ลีรติวงศ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ ดร.อลัน พาตัน (Dr.Alan Paton) นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญวงศ์กะเพราจากสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว (Royal Botanic Gardens, Kew) สหราชอาณาจักร อีกทั้งการค้นพบครั้งนี้เป็นการเพิ่มพูนองค์ความรู้ทางอนุกรมวิธานสำหรับพืชวงศ์กะเพราในโครงการพรรณพฤกษชาติแห่งประเทศไทย (Flora of Thailand)
การที่นักธรรมชาติวิทยาค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ๆ ในประเทศไทยเป็นการยืนยันได้ว่าประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเปรียบเสมือนแหล่งที่รวบรวมความหลายของสิ่งมีชีวิต (biodiversity hotspot) ที่สำคัญของแหล่งหนึ่งของโลก ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและอนุกรมวิธานจึงเป็นแนวทางสำคัญที่นำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทยและนำมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในอนาคต
เรื่อง : จิรัฐิ สัตถาพร
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : การค้นพบราแมลงชนิดใหม่ของโลก (new species) 47 สายพันธุ์