บทบาทหน้าที่ทางนิเวศวิทยา หรือ “นิช” (Ecological Niche) หมายถึง ตำแหน่งการวางตัวของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดในระบบนิเวศ ซึ่งระบบนิเวศแต่ละระบบของโลกล้วนประกอบขึ้นจากสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดที่ดำรงอยู่ท่ามกลางความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อน ทั้งที่เกิดขึ้นระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกันเองและความสัมพันธ์ต่อสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิ ความชื้น หรือแม้แต่ความเข้มของแสง ดังนั้น การคงอยู่ของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจึงแสดงให้เห็นถึงการมีบทบาทหน้าที่อันเฉพาะเจาะจงที่สามารถสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศที่ตนอาศัยอยู่ และในทางกลับกันยังแสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดและปัจจัยทางกายภาพที่ก่อให้เกิดวิถีชีวิตเฉพาะของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้
“นิช” กับบทบาทหน้าที่ทางนิเวศวิทยาของสิ่งมีชีวิต (Functional Niche) หมายถึง สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีบทบาทหน้าที่เฉพาะเจาะจง และปรับตัวของตนต่อความเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศ ทั้งประเภทของอาหารการกิน แหล่งที่อยู่อาศัย และบทบาทหน้าที่เชิงอาหาร (Trophic Niche) การถ่ายทอดพลังงาน (Energy Transfer) และการหมุนเวียนของสสาร (Biogeochemical Cycle) ในระบบนิเวศ
ดังนั้น ในแต่ละระบบนิเวศของโลกจะไม่มีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดทำหน้าที่หรือมี “นิช” ที่เหมือนกันทุกประการ เพราะการมีพฤติกรรม แหล่งอาหาร และบทบาทหน้าที่ซ้อนทับกันอย่างสมบูรณ์จะนำไปสู่การแข่งขันแย่งชิงทรัพยากรกันโดยตรง และหากปราศจากการปรับตัวอาจนำไปสู่การสูญสิ้นเผ่าพันธุ์อย่างถาวร
แต่ในระบบนิเวศมีสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่มี “นิช” ค่อนข้างจำกัด อย่างโคอาลา ที่มีแหล่งอาหารหลักคือใบยูคาลิปตัสเพียงอย่างเดียว จึงเป็นชนิดพันธุ์ที่เปราะบางต่อภัยคุกคาม เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ต่างจากสิ่งมีชีวิตที่เป็นผู้ล่า เช่น สุนัขจิ้งจอก หรือแรคคูน ที่กินอาหารหลากหลาย
“นิช” กับความต้องการด้านปัจจัยพื้นฐานในถิ่นอาศัย (Habitat Niche) หมายถึง การที่ปัจจัยพื้นฐานในถิ่นที่อยู่อาศัยสามารถกลายเป็นตัวกำหนดการเกิดและการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดที่เฉพาะเจาะจง นอกเหนือไปจากการที่สิ่งมีชีวิตจะมีบทบาทหน้าที่ต่อระบบนิเวศแล้ว ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังเป็นตัวกำหนดถึงการคงอยู่ของสิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์ รวมถึงบทบาทหน้าที่ทางนิเวศวิทยาเหล่านั้น ซึ่งถูกจำกัดภายใต้สถานที่และแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด ปัจจัยทางสภาพแวดล้อม แหล่งอาหาร การแข่งขัน สัตว์ผู้ล่า และการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ซึ่งในชีวภูมิศาสตร์ แนวคิดนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจและการคาดการณ์ถึงการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ของประชากรสิ่งมีชีวิต
นอกจากนี้ วิถีชีวิตของสิ่งมีชีวิตและการแบ่งปันทรัพยากรยังสามารถจำแนกออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
วิถีชีวิตพื้นฐาน (Fundamental Niche) หมายถึง วิถีชีวิตในอุดมคติที่ธรรมชาติปราศจากการรบกวน หรือมีปัจจัยต่าง ๆ ทางสภาพแวดล้อมที่พรั่งพร้อมสมบูรณ์ โดยที่สิ่งมีชีวิตสามารถนำไปใช้เพื่อการดำรงชีวิตและขยายเผ่าพันธุ์ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ไม่มีภาวะการแข่งขันหรือการถูกล่า เป็นต้น
วิถีชีวิตเกิดจริง (Realized Niche) หมายถึง วิถีชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงที่ปัจจัยต่าง ๆ มีอยู่อย่างจำกัด สิ่งมีชีวิตที่มีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกัน มีความต้องการต่อทรัพยากรเดียวกันจำเป็นต้องเกิดการแก่งแย่งแข่งขันและการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้แตกต่าง เพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อน (Overlapping) มีการแบ่งปันและจัดสรรทรัพยากร (Resource Partitioning) ที่ทำให้สามารถมีชีวิตรอดท่ามกลางภาวะการล่า การแข่งขันของธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่แท้จริง
บทบาทหน้าที่ทางนิเวศวิทยา หรือ “นิช” คือ แนวคิดทางการศึกษาที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดในระบบนิเวศ ทำให้เกิดความเข้าใจต่อปัจจัยธรรมชาติที่ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต การปรับตัวและวิวัฒนาการของพวกมัน รวมไปถึงปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ซึ่งทุก ๆ องค์ประกอบนับเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งต่อการคงอยู่อย่างสมดุลของระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน ทั้งภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมลภาวะอีกมากมาย มนุษย์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจต่อการตอบสนองของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในโลกจากการเปลี่ยนแปลงและผลจากการกระทำเหล่านี้
สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ
ข้อมูลอ้างอิง
National Geographic Society – https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/niche/
มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม – http://elearning.psru.ac.th/courses/30/lesson5.pdf
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช – https://www.dnp.go.th/wildlife_it/n_web/public/หนังสือ/final%20report%20research.pdf
Jitka Polechová & David Storch – https://www.bioss.ac.uk/uploads/2274/Ecological_niche_811_Revision.pdf
California States University – http://csuwan.weebly.com/uploads/2/9/1/7/29177533/บทที่_2.pdf
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ