ในบทความนี้ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.พรเทพ นวกิจกนก ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ THEOS-2 เกี่ยวกับระบบนิเวศต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับพัฒนาระบบดาวเทียมในประเทศไทย โดย ดร.พรเทพ ได้ให้ข้อมูลว่า ระบบนิเวศดาวเทียมประกอบด้วย 4 ระบบนิเวศหลัก ดังนี้ ระบบนิเวศดาวเทียม
ระบบนิเวศที่หนึ่ง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
หนึ่งในพันธกิจหลักของ GISTDA คือการพัฒนาดาวเทียมเล็ก ดังนั้นในแง่ของความพร้อมเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นห้องปฏิบัติการดาวเทียมชื่อ GALAXI อุปกรณ์ที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานของดาวเทียม บุคลากรที่มีความสามารถและมีศักยภาพการออกแบบ มีองค์ความรู้ในกระบวนการสร้างดาวเทียม ศูนย์ทดสอบและประกอบดาวเทียม หรือ AIT ที่ใช้สำหรับการทดสอบดาวเทียม เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบในระบบนิเวศของการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานในการพัฒนาดาวเทียมของประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมีการสร้างฐานเครือข่ายเศรษฐกิจอวกาศ (space economy) ของผู้ประกอบการ โดยเปิดโอกาสในเรื่องพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัจจุบัน เทคโนโลยีดาวเทียมในประเทศไทยยังมีอยู่น้อยมาก ประกอบกับการลงทุนในธุรกิจนี้ต้องใช้ต้นุทนมหาศาล ดังนั้น บทบาทของ GISTDA คือ การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยี และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เข้ามามีบทบาทในวัฏจักรของการพัฒนาดาวเทียม เป็นการยกระดับมาตรฐานผู้ประกอบการ
ยกตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมา GISTDA ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในธุรกิจยานยนต์ ได้เข้าร่วมโครงการ THEOS-2 โดยยกระกับการผลิตร่วมกับหน่วยงานชื่อดังจากต่างประเทศ จนสามารถผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมเล็กได้ เป็นต้น นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่ GISTDA ได้วางรากฐานเพื่อยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในประเทศไทย
ระบบนิเวศที่สอง ข้อมูลภูมิสารสนเทศ (Geographic Information: GI)
นอกเหนือจากความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมแล้ว GISTDAยังเตรียมความพร้อมในเรื่องของเครื่องมือ อุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ และฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ รวมไปถึงความพร้อมเรื่องการพัฒนานวัตกรรมด้านการจัดการข้อมูลภูมิสารสนเทศ ทั้งระบบการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data system) และ GI intelligent ที่กำลังจะถูกผลักดันให้เป็นนโยบายที่สำคัญของ GISTDA ในอนาคต
โดยระบบนิเวศที่สองนี้ เป็นระบบนิเวศที่จะส่งเสริมการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ที่หลากหลาย ทั้งในเชิงพื้นที่ และนโยบายของภาครัฐ นอกจากนี้ รูปแบบของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อจากนี้ไปจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานจริงเป็นหลัก
ระบบนิเวศที่สาม การพัฒนาบุคลากร
บุคลากรที่มีศักยภาพที่สูงขึ้นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมภายในประเทศเกิดความยั่งยืน กล่าวคือ การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ทั้งในแง่ของความรู้พื้นฐาน และความรู้ใหม่ที่รับจากภายนอก จะช่วยส่งเสริมให้การพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมในประเทศเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และช่วยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รู่น เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะในการประมวลความคิด การถ่ายทอด และแสดงถึงความเข้าใจในองค์ความรู้นั้น ๆ อย่างลึกซึ้ง ทั้งยังเป็นการสร้างบุคลลากรในรุ่นถัดไปให้มีคุณภาพ
ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาความพร้อมของเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็น ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และองค์ความรู้ของบุคลากรที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดรับกับเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในรูปแบบใหม่ที่มีการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในศาสตร์อื่นๆ เช่น การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ที่จะยกระดับการใช้ข้อมูลดาวเทียมในรูปแบบใหม่ รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ผู้คนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างกว้างขวาง เกิดประโยชน์ และสะดวกต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น
ระบบนิเวศที่สี่ การพัฒนาหลักสูตร non-degree
ในส่วนนี้เป็นพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถมาเรียนเฉพาะรายวิชาที่สนใจได้ โดยหลักสูตรประกอบด้วย เนื้อหาในระดับพื้นฐาน (fundamental module) และระดับสูง (Advance module)
หลักสูตรเหล่านี้จะช่วยให้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศถูกนำไปใช้ในระยะยาว โดยมีการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรให้มีความทันสมัยสอดรับกับการพัฒนาของเทคโนโลยี และความต้องการของผู้เรียน ทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้แบบรายวิชา เอื้อประโยชน์ต่อผู้เรียนให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศได้ทั่วถึง
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัย และองค์กรด้านอวกาศทั้งในและต่างประเทศเพื่อพัฒนาและยกระดับองค์ความรู้ให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น
จากโครงการTHEOS-2 ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ประเทศไทยจะได้ผลผลิตเป็นดาวเทียมเพื่อการสำรวจเท่านั้น แต่โครงการ THEOS-2 ยังได้สร้างบุคลากรที่มีศักยภาพด้านดาวเทียมที่สูงขึ้น และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในระบบภาคพื้นที่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาในเรื่องเทคโนโนโลยีอวกาศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
สัมภาษณ์และบรรณาธิการ ณภัทรดนัย
เรียบเรียงบทสัมภาษณ์ ปุญญาวีร์ ศรีสันเทียะ
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : GISTDA
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ดาวเทียมเล็ก ในโครงการ THEOS 2 : เทคโนโลยีดาวเทียมโดยคนไทย