คลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm Surge)

คลื่นพายุซัดฝั่ง เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มักเกิดขึ้นตามพื้นที่ชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีพายุ และฤดูมรสุม ซึ่งความรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยในเวลานั้น

คลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm Surge) คือ การยกตัวสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลจากอิทธิพลของพายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) ที่มีความเร็วลมตั้งแต่ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป โดยเฉพาะพายุไต้ฝุ่น (Typhoon) และเฮอร์ริเคน (Hurricane) ที่ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทร จนเกิดเป็นคลื่นน้ำขนาดใหญ่ที่มีความสูงตั้งแต่ 2 เมตรไปจนถึง 10 เมตร เคลื่อนตัวซัดเข้าหาชายฝั่งอย่างรุนแรง

คลื่นพายุซัดฝั่ง / ภาพถ่าย : Met Office

ปัจจัยทั้ง 5 ที่ส่งผลต่อการเกิด คลื่นพายุซัดฝั่ง

1. ความกดอากาศหรือความดันบรรยากาศ (Atmospheric pressure) แรงที่กระทำโดยน้ำหนักของอากาศในชั้นบรรยากาศต่อน้ำในมหาสมุทรหรือพื้นผิวส่วนอื่น ๆ ของโลก ซึ่งความกดอากาศต่ำในบริเวณที่พายุหมุนเขตร้อนก่อตัวขึ้นสามารถส่งผลต่อระดับของน้ำในทะเล

เนื่องจากบริเวณขอบของพายุความกดอากาศจะสูงกว่าบริเวณจุดศูนย์กลางของพายุตามธรรมชาติ ทำให้แรงที่เกิดขึ้นสามารถผลักน้ำในส่วนด้านนอกของพายุให้ยกตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงความกดอากาศทุก ๆ มิลลิบาร์ สามารถทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นราว 10 มิลลิเมตร

2. ความเร็วลม (Wind Speed) ความเร็วลมที่พัดผ่านพื้นผิวมหาสมุทร ซึ่งเป็นสาเหตุของความสูงชันของคลื่นพายุซัดฝั่ง หรือการเกิดปรากฏการณ์ “เอ็กแมน สไปรอล” (Ekman Spiral) ที่กระแสน้ำทำมุมตั้งฉากกับทิศทางลมอย่างเหมาะสม ทำให้ระดับน้ำยกตัวสูงขึ้นไปในทิศทางเดียวกันกับการเคลื่อนที่ของกระแสลมที่พัดเข้าหาชายฝั่งหรือที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์วินด์เซตอัพ” (Wind Set-up) ที่เหนี่ยวนำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตามกระแสอากาศที่ไหลลง

3. แรงคอริออลิส (Coriolis Effect) แรงที่เกิดขึ้นจากการหมุนรอบตัวเองของโลก ซึ่งทำให้ทิศทางของกระแสน้ำมีการเบี่ยงตามการหมุนที่เกิดขึ้น โดยมีการเบี่ยงเบนไปทางขวาในฝั่งซีกโลกเหนือและเบี่ยงไปทางซ้ายในฝั่งซีกโลกใต้ แรงคอริออลิสนี้ส่งผลให้เกิดกระแสลมที่มีทิศทางตั้งฉากกับชายฝั่งทะเล ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำและการยกตัวของคลื่นพายุซัดฝั่ง

4. พลังงานคลื่น (Wave Energy) หมายถึง พลังงานที่เกิดจากพายุ หรือคลื่นที่ได้รับกำลังจากลมพายุ ซึ่งสามารถยกคลื่นให้สูงและเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกันกับแนวการเคลื่อนที่ของลม

แม้จุดเริ่มต้นของพายุอาจเปลี่ยนแปลงระดับน้ำที่ผิวทะเลเพียงเล็กน้อย แต่พลังงานที่ก่อตัวขึ้นจะส่งผลให้คลื่นขยายตัวและมีกำลังแรงขึ้นเมื่อเคลื่อนที่เข้าใกล้ชายฝั่ง

5. ปริมาณน้ำฝน (Precipitation) น้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนักเนื่องจากพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวขึ้นและเคลื่อนที่เข้าหาพื้นแผ่นดิน ซึ่งสามารถเพิ่มระดับน้ำทะเลให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำหรือปากอ่าว

ระดับน้ำทะเลขณะเกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง
ภาพ : Loughborough University

ผลกระทบของคลื่นพายุซัดฝั่ง

คลื่นพายุซัดฝั่งเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เป็นสาเหตุของการสูญเสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 90 เมื่อพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวขึ้นฝั่ง

โดยผลกระทบจากทั้งกระแสลมที่พัดแรงและปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายต่อทั้งบ้านเรือน สิ่งก่อสร้าง และทรัพย์สินมากมาย รวมถึงอุทกภัยหรือน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำที่สามารถสะสมยาวนานหลายสัปดาห์

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่น คลื่นพายุซัดฝั่งครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ปี 2005 จากผลของพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา (Hurricane Katrina) เคลื่อนตัวเข้าหาฝั่งจากมหาสมุทรแอตแลนติกที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน ได้รับผลกระทบอีกหลายล้านคน กว่า 8 แสนคนไม่มีที่อยู่อาศัยระหว่างการเกิดพายุและน้ำท่วมขัง

น้ำท่วมขังจากพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา / ภาพถ่าย : Jerry Grayson/Helifilms Australia

สืบค้นและเรียบเรียง

คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/storm-surge/

http://nstda.or.th/rural/public/100%20articles-stkc/69.pdf

https://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=73

http://www.marine.tmd.go.th/thai/stormsurge-new-poster.pdf


อ่านเพิ่มเติม ปรากฏการณ์ทะเลกรด (Ocean Acidification)

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.