ในระบบดาวคู่ เมื่อดาวดวงหนึ่งกลายเป็นดาวแคระขาว (ดาวฤกษ์ที่ตายแล้ว) มันจะดึงดูดก๊าซไฮโดรเจนออกจากดาวคู่ของมันราวกับเป็นแวมไพร์ เมื่อก๊าซสัมผัสกับผิวดาวที่ร้อน การระเบิดก็เกิดขึ้น กลายเป็นการระเบิดรูปแบบใหม่ที่นักดาราศาสตร์เพิ่งค้นพบ เรียกว่า ‘ ไมโครโนวา ’ (Micronova)
โดยการเกิดไมโครโนวาแต่ละครั้ง สามารถเกิดการเผาไหม้ในปริมาณที่เทียบเท่ามหาพีระมิดแห่งกีซาแห่งอียิปต์ 3.5 พันล้านพีระมิด หรือ 20,000,000 ล้านล้านกิโลกรัมในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หรือ 2-3 ชั่วโมงตามคำกล่าวของนักวิจัย
“เราได้ค้นพบและระบุสิ่งที่เราเรียกว่าไมโครโนวาเป็นครั้งแรก” ซิโมน สการ์ริงกิ (Simone Scaringi) หัวหน้าทีมวิจัยและนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดอแรม (Durham University) ในสหราชอาณาจักรกล่าว แม้จะจัดว่าเป็น ‘โนวา’ แต่ไมโครโนวานี้มีขนาดเล็กกว่าหลายล้านเท่า มันส่องแสงสว่างวาบเพียงครู่เดียวราวกับแสงเฟลช ซึ่งต่างจากโนวาปกติที่ทรงพลังและสร้างจุดแสงบนท้องฟ้านานหลายสัปดาห์
“สิ่งที่น่าเหลือเชื่อก็คือการระเบิดเหล่านี้เกิดขึ้นเร็วมาก ใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงถึงครึ่งวันแล้วก็หายไป” ดร.สการ์ริงกิกล่าว ในขณะที่พอล กรูท (Paul Groot) นักดาราศาสตร์ในทีมเสริมว่า “เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นแล้วว่าการหลอมไฮโดรเจนสามารถเกิดขึ้นได้ในลักษณะเฉพาะ”
“เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสามารถบรรจุอยู่ที่ฐานของขั้วแม่เหล็กของดาวแคระขาวบางดวง ดังนั้นการหลอมรวมจะเกิดขึ้นที่ขั้วแม่เหล็กเหล่านี้เท่านั้น ซึ่งจะนำไปสู่การระเบิดไมโครฟิวชันซึ่งที่มีกำลังประมาณหนึ่งในล้านของโนวา จึงเป็นที่มาของชื่อไมโครโนวา
ด้วยเหตุนี้ทำให้นักดาราศาสตร์เพิ่งจะค้นพบปรากฎการณ์นี้เป็นครั้งแรก ทีมวิจัยตรวจพบโดยข้อมูลที่รวบรวมจากดาวเทียม Transiting Exoplanet Survey Satellite (TESS) ของนาซา ซึ่งดาวเทียมนี้มีจุดประสงค์เพื่อค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบและดาวฤกษ์ใกล้เคียง และได้รับการยืนยันโดยใช้กล้องโทรทรรศน์ในทะเลทรายอาตากามาของชิลี
“เมื่อดูข้อมูลทางดาราศาสตร์ที่รวบรวมโดย TESS ของนาซา เราก็พบสิ่งผิดปกติ นั่นคือแสงแฟลชที่สว่างจ้าเป็นเวลาสองสามชั่วโมง เมื่อค้นหาเพิ่มเติมเราก็พบคำตอบ” นาตาลี เดเจนนาร์ (Nathalie Degenaar) หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวเสริม
ดร.สการ์ริงเชื่อว่าไมโครโนวานั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา “แต่พวกมันหายากมากเพราะคุณต้องมองให้ถูกเวลา ไม่เช่นนั้นคุณจะพลาดมันไป เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้ค้นพบสิ่งเหล่านี้ และเราคิดว่าน่าจะมีอีก”
การค้นพบนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ของดาวฤกษ์และดาวแคระขาวมากยิ่งขึ้น แต่ไม่ว่ามันจะสร้างไมโครโนวาปกติ หรือกลายเป็นซูปเปอร์โนวา “มันก็แสดงให้เห็นว่าจักรวาลนั้นมีทรงพลังมากแค่ไหน” ดร.สการ์ริงกิกล่าว
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.nature.com/articles/s41586-022-04495-6
https://www.sciencealert.com/we-ve-just-found-a-brand-new-type-of-star-explosion-the-micronova
https://edition.cnn.com/2022/04/20/world/micronova-star-explosion-discovery-scn/index.html