ภูเขาไฟ (Volcano) คือ ช่องรอยแตกบนพื้นผิวของดาวเคราะห์หรือแผ่นเปลือกโลก (Crust) ที่ทำให้ลาวา (Lava) ฝุ่นละออง และเถ้าถ่านภูเขาไฟเคลื่อนที่ขึ้นมาตามช่องหินหนืด (Magma Chamber) จากใต้พื้นพิภพ โดยทั่วไปแล้ว ภูเขาไฟมักก่อตัวขึ้นตามแนวรอยต่อหรือเขตมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก (Subduction Zone) โดยเฉพาะตามขอบแผ่นเปลือกโลกที่ยังคงมีการเคลื่อนไหวอยู่ อย่างวงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) ที่ประกอบขึ้นจากภูเขาไฟกว่า 452 ลูก รวมถึงตามบริเวณเขตความร้อนสูง (Volcanic Hotspot) ทั่วโลก
ภูเขาไฟสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามกิจกรรมและระดับของการปะทุ ดังนี้
ภูเขาไฟที่สงบ (Dormant Volcano) หมายถึง ภูเขาไฟที่ยังคงหลับใหล เนื่องจากไม่มีประวัติการปะทุในช่วง 10,000 ปีที่ผ่านมา แต่ภูเขาไฟประเภทนี้ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ เฉกเช่นภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ อย่างเช่นการปลดปล่อยก๊าซต่าง ๆ ดังนั้น ภูเขาไฟเหล่านี้จึงยังสามารถปะทุและก่อให้เกิดการระเบิดขึ้นได้ในอนาคต
ภูเขาไฟที่ดับสนิท (Extinct Volcano) หมายถึง ภูเขาไฟที่ไม่มีประวัติการปะทุและไม่มีสัญญาณทางวิทยาศาสตร์ว่าเกิดกิจกรรมทางภูเขาไฟใต้พื้นที่ดังกล่าวอีกแล้วในช่วง 10,000 ปีที่ผ่านมา
ภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ (Active Volcano) หมายถึง ภูเขาไฟที่ยังคงมีพลังในการปะทุ ซึ่งมีประวัติการระเบิดขึ้นในช่วง 10,000 ปี ที่ผ่านมา ในปัจจุบันมีภูเขาไฟที่ยังคงมีพลังอยู่อย่างน้อย 500 ลูก ทั่วโลก
นอกจากนี้ การระเบิดและการปะทุของภูเขาไฟยังทำให้เกิดภูมิประเทศหรือลักษณะรูปร่างเฉพาะตัวของภูเขาไฟในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากหินหนืดหรือลาวาที่ไหลออกมามีองค์ประกอบของแร่ธาตุที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะการก่อเกิดภูมิลักษณ์หลัก 3 ลักษณะ ดังนี้
ที่ราบสูงบะซอลท์ หรือ “ที่ราบสูงลาวา” (Basalt Plateau) คือ ภูเขาไฟในลักษณะแนวราบ ซึ่งเกิดจากการไหลบ่าของลาวาในปริมาณมหาศาล ซึ่งแผ่ท่วมพื้นผิวโลกเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลให้ลาวาที่เย็นตัวลงกลายเป็นที่ราบสูงขนาดใหญ่ ซึ่งในบางพื้นที่มีการสะสมของลาวาเป็นชั้นหนากว่า 1,000 เมตร
เทือกภูเขาไฟ (Volcanic Range) คือ ภูเขาไฟและแนวภูเขาไฟที่เกิดจากการปะทุของลาวาในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดรูปทรงและโครงสร้างของภูเขาไฟที่แตกต่างกันออกไป เช่น
ภูเขาไฟรูปโล่ (Shield Volcano) : ภูเขาไฟขนาดใหญ่ที่อาจสูงได้ถึง 9,000 เมตร เกิดจากลาวาซึ่งไหลแผ่ปกคลุมเป็นบริเวณกว้างอย่างเชื่องช้า
ภูเขาไฟทรงกรวยสลับชั้น (Composite/Strato Volcano) : ภูเขาไฟทรงกรวยสูงชันขนาดปานกลาง ซึ่งเกิดจากการไหลทับถมกันของลาวาที่เคลื่อนออกมาตามปากปล่องและช่องรอยแตกมากมายด้านข้างภูเขา ลาวาของภูเขาไฟทรงกรวยสลับชั้นส่วนใหญ่เย็นตัวและแข็งตัวลงค่อนข้างเร็ว ส่งผลให้ปากปล่องและช่องต่าง ๆ เกิดการอุดตันได้ง่าย จนกลายเป็นเหตุให้การปะทุเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและก่อให้เกิดอันตรายสูงสุด
ภูเขาไฟทรงกรวยกรวด (Ash – Cinder Cone Volcano) : ภูเขาไฟทรงกรวยขนาดเล็กที่มีความสูงไม่เกิน 400 เมตร เกิดจากการปะทุที่รุนแรง ซึ่งทำให้กรวดและเถ้าภูเขาไฟกระเด็นขึ้นสู่ท้องฟ้า ก่อนตกลงมาทับถมกันจนเกิดร่องรอยบริเวณปากปล่อง
แอ่งภูเขาไฟรูปกระจาด (Caldera) คือ ที่ราบลุ่มหรือแอ่งน้ำบนปากปล่องภูเขาไฟ ซึ่งเกิดจากการระเบิดและการปะทุอย่างรุนแรงของภูเขาไฟ จนทำให้ยอดภูเขาเกิดการทรุดหรือยุบตัวลง ซึ่งยอดเขาบางแห่งได้กลายเป็นทะเลสาบจากการสะสมหยาดน้ำฟ้าเป็นเวลานาน
สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.nationalgeographic.org/media/volcano-satellite-images/
http://www.lesa.biz/earth/lithosphere/geological-phenomenon/volcano
http://www.scimath.org/e-books/8290/flippingbook/index.html#94/z
http://www.pw.ac.th/emedia/media/social/global_napaporn/globalEdUnit2.pdf