World Update: เผยภาพถ่าย หลุมดำ ภาพแรกใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก

เผยภาพถ่าย หลุมดำ ภาพแรกใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา หลังพยายามจับภาพกันมานานกว่า 5 ปี

ห่างออกไปจากโลกราว 26,000 ปีแสงตรงสู่ใจกลางกาแล็คซีทางช้างเผือกของเรา มี หลุมดำ มวลยิ่งยวดที่รู้จักในชื่อว่า Sagittarius A* ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้พยายามจับภาพมันมาอย่างยาวนานกว่า 5 ปี และวันนี้ทีมวิจัยได้เปิดเผยภาพแรกของมันออกมาแล้ว

ภาพนี้ถ่ายโดยกล้อง Event Horizon Telescope หรือ EHT ที่ถ่ายภาพหลุมดำมวลยิ่งยวด Messier 87 รูปแรกในประวัติศาสตร์เมื่อปี 2019 ด้วยเครือข่ายของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแปดแห่งตั้งแต่แอนตาร์กติกาไปถึงสเปนและชิลี ทำให้นักดาราศาสตร์มองเห็นสิ่งที่อยู่ตรงกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก

“หลุมดำของกาแล็กซีทางช้างเผือกเป็นเป้าหมายหลักของเรา มันเป็นหลุมดำที่สำคัญของเรา สิ่งนี้เป็นเป้าหมายแรกในการค้นหาใน 100 ปีที่ผ่านมาของวิทยาศาสตร์ นี่จึงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่” ศาสตราจารย์ เซรา มาร์คออฟ (Prof. Sera Markoff) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมหนึ่งในทีมที่ถ่ายภาพ กล่าว

แม้จะอยู่ไม่ไกลจากโลก แต่การถ่ายภาพหลุมดำ Sagittarius A* นั้นยากกว่า M87 มาก นอกจากจะเล็กกว่าราว 1,000 เท่าแล้ว ใจกลางทางช้างเผือกยังเต็มไปด้วยฝุ่นก๊าซที่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่นาทีแทนที่จะเป็นสัปดาห์เหมือน M87 ศาสตราจารย์เซราเปรียบเทียบไว้ว่าเหมือนกับการพยายามถ่ายภาพ “ลูกสุนัขที่วิ่งไล่จับหางตัวเองโดยใช้กล้องที่มีความเร็วชัตเตอร์ต่ำ” 

“เราไม่คาดคิดมาก่อนว่ามันจะหลบเลี่ยงและว่องไวได้มากขนาดนี้” ดร. ซิรี ยุนซี (Dr. Ziri Younsi) หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวและเสริมว่า “อาจจะดูพูดเกินจริงไป แต่มันเป็นภาพที่ถ่ายยากจริงๆ ” ข้อมูลเหล่านี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทราบว่าจริง ๆ แล้ว การหมุนของ Sagittarius A* นั้นไม่ได้อยู่ระนาบกับแนวเดียวของดาราจักร แต่เอียงอยู่ประมาณ 30 องศา และระบุว่ามวลของมันมากกว่าดวงอาทิตย์ราว 4 ล้านเท่า

“การสังเกตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเหล่านี้ได้ปรับปรุงความเข้าใจของเราอย่างมากในสิ่งที่เกิดขึ้นตรงกลางกาแล็กซีของเรา และนำเสนอข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ เกี่ยวกับวิธีที่หลุมยักษ์เหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมของพวกมัน” เจฟฟรีย์ โบเวอร์ (Geoffrey Bower) นักดาราศาสตร์หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวพร้อมเสริมว่า “เราตกตะลึงกับขนาดของวงแหวนที่เห็น กับการคาดการณ์จากทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์”

ในท้ายที่สุด นักวิทยาศาสตร์หวังว่าเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับวิวัฒนาการของดาราจักรที่ว่าอะไรเกิดขึ้นก่อนระหว่างกาแล็กซีหรือหลุมดำ แต่ในตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ด้วยความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ทำให้เรารู้จักกับหลุมดำในสวนหลังบ้านของเรามากขึ้น

“ภาพนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงสิ่งที่เราสามารถทำได้เมื่อเรามีชุมชนการวิจัยระดับโลกที่สร้างสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้” เซธูราแมน ปานชนะธัน (Sethuraman Panchanathan) ผู้อำนวยการมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติกล่าวในแถลงการณ์

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

Photograph by Event Horizon Telescope (EHT)

ที่มา

https://www.theguardian.com/science/2022/may/12/supermassive-black-hole-centre-milky-way-first-time-sagittarius-a-

https://www.bbc.com/news/science-environment-61412463

https://edition.cnn.com/2022/05/12/world/milky-way-center-black-hole-image-scn/index.html


อ่านเพิ่มเติม นักดาราศาสตร์ได้เปิดเผยรูปหลุมดำเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.