มนุษย์ไม่เคยไปดวงจันทร์, วัคซีนตัวร้าย, ที่มาความเชื่อวิทยาศาสตร์ลับลวงพราง

ความกังขาในวิทยาศาสตร์กำลังเฟื่องฟู เช่นเดียวกับการแบ่งขั้วทางความคิด อะไรที่ทำให้คนมีเหตุผลเกิดสงสัยในเหตุผลขึ้นมาได้

ฉากหนึ่งในภาพยนตร์ตลกชิ้นเอกของผู้กำกับ สแตนลีย์ คูบริก เรื่อง ดร. สเตรนจ์เลิฟ (Dr.Strangelove) เป็นตอนที่แจ็ก ดี. ริปเปอร์ นายพลแตกแถวแห่งกองทัพสหรัฐฯ ผู้สั่งถล่มสหภาพโซเวียตด้วยระเบิดนิวเคลียร์เปิดเผย มุมมองวิตกจริตของเขาเกี่ยวกับแผนสมรู้ร่วมคิดระดับโลก และอธิบายว่าทำไมเขาจึง “ดื่มแต่น้ำกลั่นหรือน้ำฝนและเหล้ากลั่นจากธัญพืชเท่านั้น” ให้แก่ไลโอเนล แมนเดรก นาวาอากาศเอกจากกองทัพอากาศอังกฤษ ผู้กำลังกระวนกระวายสุดขีด

ริปเปอร์:  นายรู้ไหมว่า การเติมฟลูออไรด์ในนํ้าคือแผนการร้ายที่สุดและอันตรายที่สุดของพวกคอมมิวนิสต์ที่เราต้องเผชิญ ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายเมื่อปี 1964  ซึ่งในตอนนั้นผลดีของการเติมฟลูออไรด์ในนํ้าประปาเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปแล้ว  และทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดว่าด้วยการเติมฟลูออไรด์ก็เหมาะจะเป็นเรื่องตลก

ทว่า 50 ปีต่อมา  การเติมฟลูออไรด์ก็ยังก่อให้เกิดความกลัวและหวาดระแวงได้  เมื่อปี 2013  ชาวเมืองพอร์ตแลนด์  รัฐออริกอน  ซึ่งเป็นเมืองใหญ่หนึ่งในไม่กี่เมืองของสหรัฐฯ ที่ยังไม่เติมฟลูออไรด์ลงในนํ้าประปา  พากันขัดขวางแผนเติมฟลูออไรด์ของเทศบาลเมืองโดยอ้างว่า  ฟลูออไรด์อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ความจริงฟลูออไรด์เป็นแร่ธาตุธรรมชาติ  หากผสมอย่างเจือจางในนํ้าประปาจะช่วยทำให้เคลือบฟันแข็งแรงและป้องกันฟันผุ  นับเป็นวิธีเสริมสร้างสุขภาพฟันที่ประหยัดและปลอดภัยสำหรับทุกคน  เรื่องนี้เป็นสิ่งที่วงการวิทยาศาสตร์และวงการแพทย์เห็นพ้องต้องกัน

ชาวพอร์ตแลนด์บางคนตอบโต้แนวคิดนี้ด้วยคำพูดทำนองเดียวกับนักต่อต้านการเติมฟลูออไรด์ทั่วโลกว่า เราไม่เชื่อคุณ

วิวาทะวิวัฒนาการ  เมื่อปี 1925  ในเมืองเดย์ตัน  รัฐเทนเนสซี  จอห์น  สโคปส์ถูกดำเนินคดีในข้อหาสอนเรื่อง วิวัฒนาการในโรงเรียนมัธยม  ส่วนแผงขายหนังสือแนวพระเจ้าสร้างโลกกลับขายดิบขายดี  กระทั่งปัจจุบัน  นักกิจกรรมเคร่งศาสนาในสหรัฐฯ ยังเรียกร้องให้ทฤษฎีพระเจ้าสร้างโลกเป็นหลักสูตรทางเลือกในชั้นเรียนวิชาชีววิทยา

เราอยู่ในยุคที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์  ตั้งแต่เรื่องความปลอดภัยของการเติมฟลูออไรด์  การฉีดวัคซีนและความจริงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเผชิญการต่อต้านอย่างเป็นระบบและมักดุเดือดเผ็ดร้อน  ผู้คลางแคลงสงสัยใช้แหล่งข้อมูลของตนเองและตีความงานวิจัยต่างๆ ด้วยมติหรือมุมมองของตน  พวกเขาประกาศสงครามกับสิ่งที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องต้องกัน  และปัจจุบัน  กระแสความแคลงสงสัยนี้ก็เป็นเรื่องฮ็อตฮิตทั้งในหนังสือ  บทความ  และการประชุมวิชาการต่างๆ  ถึงขนาดที่ว่าความกังขาต่อวิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องอินเทรนด์ร่วมสมัยในภาพยนตร์เรื่อง อินเตอร์สเตลลาร์ (Interstellar:  ทะยานดาวกู้โลก) ที่เข้าฉายช่วงปลายปี 2014  สหรัฐฯ ในโลก อนาคตเสื่อมถอยจนนาซาต้องกลายเป็นองค์กรหลบๆ ซ่อนๆ  และตำราเรียนบอกว่า  การลงจอดบนดวงจันทร์ของยานอะพอลโลเป็นเรื่องที่กุขึ้นมาทั้งหมด

หากจะว่าไปแล้ว ความกังขาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแทรกซึมอยู่ในชีวิตของเรามากกว่ายุคไหนๆ  สำหรับพวกเราหลายคน  โลกสมัยใหม่นี้ช่างน่าอัศจรรย์  สะดวกสบาย  และให้อะไรมากมายเหลือเกิน  แต่ขณะเดียวกันก็ซับซ้อนขึ้นและบางทียังน่ากลัวอยู่ลึกๆ  ทุกวันนี้  เราเผชิญความเสี่ยงหลายอย่างที่ไม่สามารถวิเคราะห์เองได้ง่ายๆ

ตัวอย่างเช่น  เราได้รับคำขอให้ยอมรับว่า  อาหารที่ทำจากหรือมีส่วนผสมของพืชและสัตว์ดัดแปรพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) สามารถกินได้อย่างปลอดภัย  เพราะไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ว่าไม่ปลอดภัย  และไม่มีเหตุผลที่ควรเชื่อว่า  การแปลงยีนอย่างเฉพาะเจาะจงในห้องปฏิบัติการจะอันตรายกว่าการแปลงยีนยกชุดในการปรับปรุงพันธุ์แบบดั้งเดิม แต่สำหรับบางคน แนวคิดว่าด้วยการถ่ายโอนยีนข้ามชนิดพันธุ์มาพร้อมกับภาพเหล่านักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องที่ไม่รู้จักขอบเขต  หรือปราศจากความยับยั้งชั่งใจ

ความเห็นหลุดโลกที่ตายยาก  เรื่องที่ว่าโลกกลมเป็นสิ่งที่รู้กันมาตั้งแต่โบรํ่าโบราณ โคลัมบัสรู้ว่าเขาจะไม่แล่นเรือไปตกขอบโลก  แต่ภูมิศาสตร์ทางเลือกยังอยู่ยงคงกระพัน  แม้เมื่อการเดินเรือรอบโลกกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ  แผนที่จากปี 1893  โดย ออร์แลนโด  เฟอร์กูสัน  นักธุรกิจจากรัฐเซาท์ดาโคตาแผ่นนี้เป็นการตีความแบบพิสดารจากความเชื่อเรื่องโลกแบนในศตวรรษที่สิบเก้า สาวกโลกแบนเชื่อว่า  โลกมีศูนย์กลางอยู่ที่ขั้วโลกเหนือโดยมีกำแพงนํ้าแข็งล้อมรอบ  และเชื่อว่า  ดวงอาทิตย์  ดวงจันทร์  และดาวเคราะห์ต่างๆ ลอยอยู่สูงจากพื้นผิวโลกไม่กี่ร้อยกิโลเมตร  วิทยาศาสตร์มักเรียกร้องให้เราอย่าหลงเชื่อการรับรู้โดยตรงไปเสียทั้งหมด  เช่น การเห็นดวงอาทิตย์ลอยข้ามฟ้าราวกับกำลังวนรอบโลก  แล้วเปิดใจรับทฤษฎีที่ท้าทายความเชื่อของเราเกี่ยวกับตำแหน่งของเราในเอกภพ

โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยอันตรายทั้งจริงและในจินตนาการ และการแยกแยะของจริงจากเรื่องเพ้อฝันก็ไม่ง่าย เราควรกลัวว่า  เชื้อไวรัสอีโบลาซึ่งติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งเท่านั้น  จะกลายพันธุ์ไปเป็นโรคระบาดที่ติดต่อทางอากาศหรือทางเดินหายใจหรือไม่  ในเรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์เห็นตรงกันว่า   เป็นไปได้ยากยิ่ง เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยพบไวรัสที่เปลี่ยนวิธีแพร่เชื้อในมนุษย์ได้มาก่อนและไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้เลยว่า  ไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ล่าสุดจะแตกต่างไปจากนี้  แต่ลองค้นหาคำว่า “อีโบลาที่ติดต่อทางอากาศ” (airborne Ebola) ในอินเทอร์เน็ตดู  แล้วคุณจะเข้าสู่แดนสนธยาที่ไวรัสชนิดนี้แทบจะมีพลังหรืออำนาจเหนือธรรมชาติ  เช่น  สามารถฆ่าคนได้ทั้งโลก

ในโลกที่ชวนสับสนงุนงงนี้  เราต้องตัดสินใจว่าจะเชื่ออะไรและปฏิบัติตัวอย่างไรในเรื่องนั้น  วิทยาศาสตร์มีไว้เพื่อการนี้  “วิทยาศาสตร์ไม่ใช่กลุ่มหรือชุดข้อเท็จจริงต่างๆ” มาร์เซีย  แมกนัตต์  นักธรณีฟิสิกส์  และบรรณาธิการวารสาร ไซแอนซ์  บอก  “วิทยาศาสตร์เป็นระเบียบวิธีสำหรับแยกแยะว่า สิ่งที่เราเลือกจะเชื่อตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎธรรมชาติหรือไม่” แต่ระเบียบวิธีที่ว่าก็ไม่ใช่สิ่งที่พวกเรารู้ได้เองตามธรรมชาติ  เราจึงเจอปัญหาซํ้าแล้วซํ้าเล่า

แน่นอนว่า เราเผชิญปัญหามาตั้งแต่ไหนแต่ไร  ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์นำเราไปสู่ความจริงที่เข้าใจได้ยาก  มหัศจรรย์พันลึก  และบางทีก็ยากที่จะยอมรับ  ย้อนหลังไปในช่วงต้นศตวรรษที่สิบเจ็ด  เมื่อกาลิเลโอยืนยันว่า  โลกหมุนรอบแกนตัวเองและโคจรรอบดวงอาทิตย์ เขาขอให้คนทั่วไปเชื่อในสิ่งที่ขัดต่อสามัญสำนึก  เพราะดูอย่างไร  ดวงอาทิตย์ก็วนอยู่รอบโลกวันยังคํ่า  และคุณไม่รู้สึกเลยว่าโลกกำลังหมุน

สองร้อยปีให้หลัง  แนวคิดของชาร์ลส์  ดาร์วิน ที่ว่า  สรรพชีวิตล้วนวิวัฒน์มาจากบรรพบุรุษยุคดึกดำบรรพ์ และมนุษย์เป็นญาติห่างๆ ของ เอป  วาฬ  และแม้แต่หอยทะเลลึก  ยังคงเป็นสิ่งที่คนในยุคนี้จำนวนมากไม่อาจทำใจยอมรับหรือเชื่อได้  เช่นเดียวกับแนวคิดจากศตวรรษที่สิบเก้าอีกเรื่องหนึ่งที่ว่า  ก๊าซไร้สีไร้กลิ่นที่เราหายใจออกมาตลอดเวลา  และคิดเป็นสัดส่วน น้อยกว่าร้อยละ 0.001 ของบรรยากาศอย่างคาร์บอนไดออกไซด์  อาจส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลก

ไดโนเสาร์ในสวนอีเดน  ที่พิพิธภัณฑ์การสร้างโลกในเมืองปีเตอร์สเบิร์ก รัฐเคนทักกี  อดัมและอีฟอยู่ในสวนสวรรค์ร่วมกับไดโนเสาร์ตัวหนึ่ง  กลุ่มผู้เชื่อเรื่องพระเจ้าสร้างโลกที่คิดว่าโลกมีอายุน้อยเชื่อว่า  โลกถูกสร้างขึ้นพร้อมมนุษย์ผู้ใหญ่โตเต็มวัยเมื่อไม่เกิน 10,000 ปีมานี้เอง  ขณะที่วิทยาศาสตร์บอกว่าโลกมีอายุ 4,600 ล้านปี  ชีวิตทั้งมวลวิวัฒน์จากจุลินทรีย์  และมนุษย์ยุคใหม่ปรากฏขึ้นเมื่อ 200,000 ปีมาแล้ว  หรือ 65 ล้านปีหลังไดโนเสาร์สูญพันธุ์

แม้กระทั่งเมื่อเรายอมรับหลักความจริงของวิทยาศาสตร์ด้วยเหตุด้วยผล  แต่บ่อยครั้งเราก็ยังยึดติดอยู่กับความเชื่อ เดิมๆ ที่มาจากจิตใต้สำนึก  หรือที่นักวิจัยเรียกว่า  ความเชื่อแบบไร้เดียงสา  งานวิจัยของแอนดรูว์  ชตูลแมน  จากออกซิเดนทัลคอลเลจ  เมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่า  แม้แต่นักศึกษาที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ชั้นสูงยังลังเล  เมื่อถูกขอให้ยืนยันหรือปฏิเสธว่า  มนุษย์สืบเชื้อสายมาจากสัตว์ทะเล  หรือว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์  ความจริงทั้งสองข้อนี้ขัดแย้งกับความเชื่อหรือความรู้เก่าแก่ของมนุษย์  แม้แต่นักศึกษาที่ตอบคำถามเหล่านี้ว่า “จริง” ก็ยังใช้เวลาตัดสินใจตอบนานกว่าคำถามที่ว่า  มนุษย์สืบเชื้อสายมาจากสัตว์ที่อาศัยอยู่บนต้นไม้หรือไม่ (ซึ่งจริง แต่เข้าใจได้ง่าย)  หรือดวงจันทร์โคจรรอบโลกหรือไม่ (ซึ่งจริง  แต่สอดคล้องกับความรู้ดั้งเดิม)  งานวิจัยของชตูลแมนบ่งชี้ว่า  ขณะที่เรารู้จักวิทยาศาสตร์มากขึ้น  เราก็สะกดความเชื่อไร้เดียงสาของเราไว้  แต่ไม่เคยลบล้างออกไปจนหมดสิ้น

พวกเราส่วนใหญ่หวนไปหาความเชื่อเดิมๆ ที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ส่วนบุคคลและคำบอกเล่า  และอิงกับเรื่องราวมากกว่าสถิติ  เราอาจขอทดสอบแอนติเจนจำเพาะของต่อมลูกหมากหรือพีเอสเอ (prostate-specific antigen: PSA) ทั้งๆที่ไม่ค่อยมีใครแนะนำให้ทำแล้ว เพราะวิธีนี้นำไปสู่การตรวจพบมะเร็งในคนใกล้ชิด  จากนั้นคุณเองก็เริ่มกังวลและขอตรวจบ้างทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น  หรือเราอาจได้ยินเรื่องคนเป็นมะเร็งกันมากในเมืองสักเมืองที่มีหลุมกลบฝังขยะปนเปื้อน  และสรุปเอาเองว่ามลพิษเป็นสาเหตุของมะเร็ง  แต่เพียงเพราะสองสิ่งบังเอิญเกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้หมายความว่า  สิ่งหนึ่งเป็นสาเหตุของอีกสิ่งหนึ่ง  และเพียงแค่มีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งหรือกรณีใดกรณีหนึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง  ก็ไม่ได้แปลว่า  นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบสุ่ม

พวกเรามีปัญหาในการเข้าใจความสุ่ม (randomness) เพราะสมองของเราโหยหารูปแบบและความหมาย  แต่วิทยาศาสตร์เตือนว่า  เราอาจหลอกตัวเองได้  เพื่อให้มั่นใจว่ามีความพันธ์เชิงตรรกะระหว่างหลุมขยะกับการเกิดมะเร็ง  คุณจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์เชิงสถิติที่แสดงให้เห็นว่า พบผู้ป่วยมะเร็งมากกว่าการเกิดขึ้นโดยสุ่มอย่างชัดเจน ต้องมีหลักฐานว่าผู้ป่วยได้รับสารเคมีจากหลุมขยะ  และหลักฐานว่าสารเคมีเหล่านั้นเป็นสารก่อมะเร็งจริงๆ

แพะแมงมุม  ศูนย์หลังธรรมชาติวิทยา (Center for PostNatural History)  ในเมืองพิตต์สเบิร์ก  จัดแสดงตัวอย่างสตัฟฟ์ของสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม  รวมถึงเจ้าเฟรกเคิลส์  แพะที่ผสมพันธุ์ขึ้นเพื่อให้นมที่มีส่วนผสมของโปรตีนใยไหมหรือใยแมงมุม  ซึ่งอาจแปลงเป็นเส้นใยเชิงพาณิชย์ในอนาคต  ไม่มีหลักฐานใดชี้ชัดว่า  พืชและสัตว์ดัดแปรพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอเป็นอันตรายต่อมนุษย์  แต่ 64 ประเทศ (รวมทั้งไทย) ได้ออกกฎหมายบังคับให้อาหารที่มีจีเอ็มโอต้องระบุไว้บนฉลาก

ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยากแม้กับนักวิทยาศาสตร์เอง  ซึ่งมีจุดอ่อนไม่ต่างจากคนทั่วไปในสิ่งที่ พวกเขาเรียกว่า ความลำเอียงในการยืนยัน (confirmation bias)  หรือแนวโน้มที่จะมองหาและเห็นเฉพาะหลักฐานที่ ยืนยันสิ่งที่พวกเขาเชื่ออยู่แล้ว  ทว่าสิ่งที่ต่างจากคนทั่วไป คือ  นักวิทยาศาสตร์ส่งผลงานหรือข้อสรุปของพวกเขา เข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยเพื่อนร่วมอาชีพก่อนการตี พิมพ์ หากผลงานที่ได้รับตีพิมพ์แล้วมีความสำคัญเพียงพอ นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆจะพยายามทำให้เกิดผลอย่างเดียว กันซํ้าอีก  ความที่เป็นคนไม่เชื่ออะไรง่ายๆ  และชอบการ แข่งขันเป็นทุนเดิม  ทำให้พวกเขายินดีอย่างยิ่งที่จะประกาศ ว่า  ผลงานหรือทฤษฎีนั้นๆใช้ไม่ได้  ธรรมชาติของผลงาน ทางวิทยาศาสตร์จึงไม่ใช่สิ่งตายตัว  อย่างน้อยก็จนกว่าจะ ถูกหักล้างด้วยการทดลองหรือการสังเกตการณ์ในอนาคต น้อยครั้งนักที่นักวิทยาศาสตร์จะประกาศความจริงเชิง สัมบูรณ์(absolute truth) ความไม่แน่นอนจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ณ พรมแดนแห่งความรู้

บางครั้งนักวิทยาศาสตร์ก็บกพร่องต่อเป้าหมายของระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์  โดยเฉพาะในงานวิจัยชีวเวช (biomedical) มีแนวโน้มน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับผลการวิจัยที่ไม่อาจทำซํ้าที่อื่นนอกจากห้องปฏิบัติการเดิมได้ [กระบวนการ หรือเทคโนโลยีอาจเป็นความลับที่ไม่เปิดเผย]  แนวโน้มนี้นำไปสู่การเรียกร้องให้เพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการทดลอง  ฟรานซิส  คอลลินส์  ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ  ออกมาแสดงความกังวลในสิ่งที่เขาเรียกว่า “ส่วนผสมลับ”  ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเฉพาะซอฟต์แวร์ที่เขียนขึ้นเป็นพิเศษ  หรือส่วนผสมไม่เหมือนใคร  กระนั้น  เขาก็ยังเชื่อมั่นในหลักการและประชาคมิทยาศาสตร์ในภาพรวม “วิทยาศาสตร์จะค้นพบความจริง”  คอลลินส์บอกและเสริมว่า  “ผลครั้งแรกอาจจะผิด  ครั้งที่สองก็อาจจะผิดอีก แต่ในที่สุดเราจะพบความจริงครับ”

ร้อนยิ่งกว่าโลกร้อน  พายุเฮอร์ริเคนแซนดีไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีมนุษย์เป็นต้นเหตุ แต่ความเสียหายที่ชายฝั่งรัฐนิวเจอร์ซีย์กลับยิ่งเลวร้ายเพราะระดับทะเลที่สูงขึ้น  โดยสาเหตุส่วนหนึ่งคือการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั่นเอง  ในสหรัฐฯ คนที่เชื่อและไม่เชื่อเรื่องภาวะโลกร้อนถือว่ากํ้ากึ่งกัน

ถ้าคุณเป็นนักเหตุผลนิยม  คงมีบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องทั้งหมดนี้ที่ทำให้คุณท้อใจอยู่บ้าง  จากคำอธิบายของเคแฮน เกี่ยวกับการตัดสินใจของเราว่า  ควรจะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร บางครั้งสิ่งที่เราตัดสินใจกลับดูแทบจะเป็นเรื่องปลีกย่อย เขาบอกผมว่า  นักสื่อสารวิทยาศาสตร์อาชีพอย่างพวกเรา “สังกัดเผ่า” เหมือนคนอื่นๆ  เราเชื่อความคิดทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เพราะประเมินหลักฐานครบถ้วนแล้วอย่างแท้จริง  แต่เป็นเพราะเราสนิทชิดเชื้อกับชุมชนวิทยาศาสตร์ เมื่อผมปรารภกับเคแฮนว่า  ผมยอมรับทฤษฎีวิวัฒนาการอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู  เขาบอกว่า ”การที่คุณเชื่อในเรื่องวิวัฒนาการเป็นแค่คำบรรยายตัวคุณ  ไม่ใช่สิ่งที่บ่งบอกถึงกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นเหตุเป็นผลของคุณ”

เขาอาจพูดถูกก็ได้  เพียงแต่ว่าวิวัฒนาการเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง  เราจะเข้าใจชีววิทยาไม่ได้เลยถ้าขาดวิวัฒนาการ  ประเด็นเหล่านี้ไม่ควรจะเป็นเรื่องของการมองต่างมุมหรือแบ่งขั้วไปเสียทั้งหมด  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเกิดขึ้น  วัคซีนช่วยชีวิตผู้คนได้จริง  การเชื่อหรือทำ ในสิ่งที่ “ถูก” จึงมีความหมาย  และสหายเผ่าวิทยาศาสตร์ก็ได้ชื่อว่าเพียรพยายามจนพบคำตอบที่ถูกต้องในที่สุด

ความกังขาในวิทยาศาสตร์มีผลกระทบตามมา  คนที่เชื่อว่าการได้รับวัคซีนทำให้เกิดโรคออทิซึม  ซึ่งมักเป็นคน มีการศึกษาและฐานะดี  กำลังบั่นทอน “ภูมิคุ้มกันหมู่” สำหรับโรคเช่นไอกรนและหัด  ขบวนการต่อต้านการให้และรับวัคชีนเข้มแข็งขึ้นขึ้นตั้งแต่ แลนเซต  วารสารการแพทย์อันทรงเกียรติของอังกฤษ  ตีพิมพ์ผลการศึกษาที่โยงวัคซีนซึ่งใช้กันทั่วไปชนิดหนึ่งกับโรคออทิซึมเมื่อปี 1998  ต่อมา วารสาร แลนเซต ยอมถอนผลการศึกษานั้น  หลังได้รับการพิสูจน์ว่าไม่น่าเชื่อถือโดยสิ้นเชิง

แต่เมื่อถึงตอนนั้น  ความคิดเรื่องความเกี่ยวโยงระหว่างวัคซีนกับโรคออทิซึมก็มีบุคคลผู้มีชื่อเสียงประทับตรารับรองไปแล้ว  และยิ่งไปกันใหญ่ด้วยตัวกรองหรือเครื่องมือค้นหาสารพัดในอินเทอร์เน็ตตามเคย ในการอภิปรายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ผลกระทบจากความคลางแคลงสงสัยมีแนวโน้มจะส่งแรง กระเพื่อมไปทั้งโลกและเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกนาน  ในสหรัฐฯ คนเหล่านี้บรรลุเป้าหมายพื้นฐานของพวกเขาแล้ว  นั่นคือการหยุดยั้งการออกกฎหมายเพื่อรับมือสภาวะโลกร้อน

หันหลังให้วัคซีน  ที่โรงเรียนธรรมชาติซีดาร์ชองบนเกาะวาชัน  รัฐวอชิงตันคีนาและคายาอยู่ในกลุ่มเด็กจำนวนมากที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดบางชนิด  เช่น  โรคหัด  การไม่ยอมรับการฉีดวัคซีนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในสหรัฐฯ มีอยู่ 46 รัฐที่ยอมยกเว้นข้อบังคับเรื่องการให้วัคซีนด้วยเหตุผลทางศาสนาและ 19 รัฐด้วยเหตุผลเชิงความคิด

นักรณรงค์เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมบางคนเรียกร้องให้นักวิทยาศาสตร์ลงจากหอคอยงาช้างมาร่วมต่อสู้เชิงนโยบายบ้าง  แต่ลิซ  นีลีย์ เตือนว่า  นักวิทยาศาสตร์ที่จะทำอย่างนั้นต้องระวัง “เส้นแบ่งระหว่างการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์กับการเป็นปากเป็นเสียงนี่  ถ้าข้ามไปแล้วจะหันหลังกลับยากนะคะ”  ลิซว่าอย่างนั้น  ในการอภิปรายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ข้อกล่าวหาหลักๆ ของพวกคลางแคลงสงสัยมีอยู่ว่า  คำกล่าวอ้างของนักวิทยาศาสตร์ที่ว่า  นี่เป็นเรื่องจริงและเป็นภัยคุกคามร้ายแรงนั้นมีการเมืองอยู่เบื้องหลัง  และผลักดันด้วยขบวนการกิจกรรมสิ่งแวดล้อมมากกว่าข้อมูลที่น่าเชื่อถือ  ซึ่งนั่นไม่เป็นความจริง  และทำให้นักวิทยาศาสตร์มือสะอาดหลายคนต้องแปดเปื้อน  ทว่าข้อกล่าวหานี้จะดูมีนํ้าหนักขึ้นมาทันที  หากนักวิทยาศาสตร์ก้าวล่วงความชำนาญในอาชีพของตนออกมาเป็นปากเสียงให้นโยบายเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ความเป็นเอกเทศหรือคุณจะเรียกว่า “การลอยตัวอยู่เหนือปัญหา”  หรือความเลือดเย็นของวิทยาศาสตร์ก็ตามทีนี่เองที่ทำให้วิทยาศาสตร์มีพลานุภาพน่ายำเกรง  ความน่าเชื่อถือของวิทยาศาสตร์อยู่ที่วิธีการที่มันบอกความจริงแก่เราอย่างตรงไปตรงมา  แทนที่จะเป็นความจริงอย่างที่เราอยากได้ยินหรือรับฟัง  นักวิทยาศาสตร์อาจเป็นพวกยึดติดหรือเชื่อในความคิดของตนเองเหมือนคนอื่นๆ  แต่ในวงการวิทยาศาสตร์  การเปลี่ยนใจเพราะจำนนด้วยหลักฐานไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือผิดบาป

ก้าวกระโดดสำหรับผู้กังขา  พนักงานจัดแต่งนิทรรศการที่ศูนย์อวกาศเคนเนดีขององค์การนาซาในรัฐฟลอริดา  ความลังเลสงสัยในวิทยาศาสตร์กระแสหลักไม่ใช่เรื่องใหม่  แต่อินเทอร์เน็ตเป็นตัวหนุนความเชื่อนอกกรอบต่างๆ  คุณคิดว่าการลงจอดบนดวงจันทร์เป็นเรื่องโกหกหรือเปล่า ลองเปิดอินเทอร์เน็ต คุณจะพบคนเห็นด้วยเต็มไปหมด

แมกนัตต์บอกว่า  การคิดแบบวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องได้รับการสอน  แต่บางทีการถ่ายทอดก็ทำได้ไม่ดี  นักเรียนจบออกมาโดยมองว่า  วิทยาศาสตร์คือข้อเท็จจริงชุดหนึ่ง  ไม่ใช่ระเบียบวิธี  ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่สิ่งที่รู้ได้เองตามธรรมชาติ  แต่ถ้าคุณไตร่ตรองให้ดี  ประชาธิปไตยเองก็ไม่ใช่เหมือนกัน  แนวคิดทั้งสองไม่เคยมีอยู่ในประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของมนุษยชาติ

ปัจจุบัน  เราเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วบางครั้งก็น่ากลัว  ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างไม่ใช่ความก้าวหน้า  แน่นอนว่าเราทำถูกแล้วที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับ บางสิ่งที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปิดโอกาสให้เราทำได้ แมกนัตต์บอกว่า ”ทุกคนควรตั้งคำถาม  นั่นคือคุณสมบัติสำคัญที่สุดข้อหนึ่งของการเป็นนักวิทยาศาสตร์  แต่พวกเขาควรใช้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์  หรืออย่างน้อยก็ไว้ใจคนที่ใช้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์เวลาต้องตัดสินใจ เลือกข้างในการถกเถียงอภิปรายเกี่ยวกับคำถามเหล่านั้น” เราจำเป็นต้องค้นหาคำตอบให้เก่งขึ้น  เพราะนับวันคำถามต่าง ๆ จะไม่มีวันง่ายขึ้นอย่างแน่นอน

เรื่อง โจล แอเคนบาค
ภาพถ่าย ริชาร์ด บาร์นส์

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมีนาคม 2558


อ่านเพิ่มเติม กระบวนการทางวิทยาศาสตร์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.