คอนแทคเลนส์อัจฉริยะ (Smart Contact Lens) จากบริษัทโมโจวิชั่น (Mojo Vison) ในสหรัฐฯ เปิดเผยความคืบหน้าว่าตัวต้นแบบพร้อมสำหรับการทดสอบในโลกแห่งความจริงแล้ว หลังจากใช้เวลาพัฒนา 7 ปีและคาดว่าพร้อมจำหน่ายในเร็ว ๆ นี้
โดยคอนแทคเลนส์อัจฉริยะนี้จะมีจอแสดงผลแบบไมโครแอลอีดี (Micro LED) ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 มิลลิเมตรและมีความหนาประมาณ 1.8 ไมครอน จะคอยแสดงข้อมูลเนื้อหาต่างๆ ที่ผู้ใช้ต้องการโดยสามารถควบคุมบังคับด้วยสายตา และมาพร้อมแบตเตอรี่ที่เป็นของแข็งแต่ผ่านมาตรฐานทางการแพทย์ ซึ่งบริษัทกล่าวว่าจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้งาน
“ลองจินตนาการถึงนักดนตรีที่สามารถมองเห็นเนื้อเพลงหรือโน๊ตดนตรีขณะทำการแสดง ผู้กล่าวสุนทรพจน์มองเห็นบทพูดของตนเองได้โดยไม่ต้องก้มหน้าหรือหันเหสายตาไปทางอื่น หรือนักกรีฑามองเห็นข้อมูลชีวภาพของตนเองรวมถึงระยะทางที่เหลือก่อนถึงเส้นชัย” สตีเฟน ซินแคลร์ (Steven Sinclair) รองประธานของโมโจวิชั่น กล่าว “พูดง่ายๆ มันคือการมอบพลังวิเศษให้กับคุณ”
แม้ตัวต้นแบบนี้จะพร้อมสำหรับการทดสอบแล้วแต่ซินแคลร์ระบุว่าจะไม่กำหนดวันเปิดตัว เพราะผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกายมนุษย์ต้องผ่านตามกฏระเบียบของ FDA (องค์การอาารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา) ก่อน รวมทั้งการทดสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่าของบริษัทเพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัย ซึ่งอาจใช้เวลานาน แต่ทั้งนี้ตัวเลนส์ต้นแบบถูกผลิตเรียบร้อย
“คอนแทคเลนส์อัจฉริยะของเราทำงานได้ดีในห้องปฏิบัติการ ดังนั้นขั้นตอนต่อไปคือเราจะทดสอบว่าสามารถใช้งานได้นานแค่ไหนในชีวิตจริง และต้องใช้งานอย่างไรให้ปลอดภัยพร้อมกับมีประสิทธิภาพสูงสุด” ซินแคลร์กล่าวพร้อมเสริมว่า “เราตั้งเป้าหมายว่ามันจะใช้งานได้ตลอดวันโดยไม่ต้องถอดออกมาชาร์จแบตเตอรี่”
ตัวเลนส์เองนั้นเป็นเลนส์แบบบางเฉียบ (Scleral lens) ที่จะครอบคลุมดวงตาทั้งหมดรวมทั้งตาขาว แต่จะไม่ได้วางอยู่กระจกตาโดยตรงแต่มีพื้นที่วางอยู่บนตาขาวและให้ตาของคุณมองผ่านมัน บริษัทกล่าวว่าได้ทำงานร่วมกับจักษุแพทย์เพื่อการตัดวัดตัวเลนส์ให้เข้ากับรูปร่างดวงตาของแต่ละคน ดังนั้นจึงปลอดภัยและ “สบายตามากเพราะมันถูกตัดเหมือนชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ที่เข้ากับดวงตาของคุณ” ซินแคลร์กล่าว
นอกจากข้อมูลเนื้อหาที่จะมองเห็นแล้ว ทางบริษัทยังวางแผนที่จะตรวจน้ำตา วัดความดันในลูกตา หรือตรวจหาอาการเริ่มต้นของต้อประเภทต่างๆ โดยซินแคลร์กล่าวว่าดวงตานั้นเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมเพื่อการตรวจสุขภาพ อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญหลายคนกังวลถึงการรั่วไหลของข้อมูลทางชีวภาพส่วนบุคคลเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับแว่นตาอัจฉริยะกูเกิลกลาส (Google Glass) ซึ่งเป็นคำถามที่บริษัทต้องตอบต่อไป
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Photograph by Mojo Vision
ที่มา