ระบบไหลเวียนโลหิต ของมุนษย์

ระบบไหลเวียนโลหิต เป็นหนึ่งในระบบของร่างกายที่มีความสำคัญในสิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิด โดยระบบไหลเวียนโลหิตในมนุษย์มีความซับซ้อน และเป็นระบบปิด ซึ่งแตกต่างจากสัตว์บางกลุ่ม เช่น แมลง ที่มีระบบไหลเวียนแบบเปิด ระบบหมุนเวียนเลือด

ระบบไหลเวียนโลหิต (Circulatory System) คือ ระบบภายในของมนุษย์ที่มีหน้าที่ลำเลียงสาร แร่ธาตุ และก๊าซชนิดต่าง ๆ ไปล่อเลี้ยงยังเซลล์และเนื้อเยื่อทั่วทั้งร่างกาย ระบบหมุนเวียนเลือด

ในขณะเดียวก็ทำหน้าที่ลำเลียงของเสียที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญและการสันดาปในร่างกาย เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กรดยูริก และแอมโมเนีย ไปขับออกจากร่างกายยังอวัยวะที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ระบบไหลเวียนโลหิตยังทำหน้าที่ควบคุมและรักษาดุลของน้ำและอุณหภูมิภายในร่างกายอีกด้วย

ระบบไหลเวียนโลหิตทั้งหมดอาศัยการทำงานร่วมกันขององค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน ดังนี้

1. เลือด (Blood) : ประกอบด้วยน้ำเลือด (Plasma) ประมาณร้อยละ 55 ซึ่งอยู่ในสถานะของเหลว และเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ลำเลียงสารอาหาร ฮอร์โมน ก๊าซ และแร่ธาตุต่าง ๆ ไปยังเซลล์

เม็ดเลือดสามารถจำแนกออกเป็น 3 ชนิด ประกอบด้วย

เกล็ดเลือด (Platelet) คือ ส่วนประกอบของเซลล์ขนาดเล็กที่ถูกสร้างจากไขกระดูก ไม่มีนิวเคลียส ไม่มีรูปร่างที่แน่นอน มีอายุราว 8 ถึง 10 วันในกระแสเลือด ทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นปฏิกิริยาให้เกิดการแข็งตัวของเลือด เมื่อเกิดบาดแผล

เซลล์เม็ดเลือดแดง (Red Blood Cell) คือ เซลล์เม็ดเลือดที่ถูกสร้างจากไขกระดูก มีรูปร่างคล้ายจาน ไม่มีนิวเคลียส มีรอยบุ๋มตรงกลางเซลล์ มีอายุราว 120 วัน ก่อนถูกทำลายโดยฟาโกไซต์ (Phagocyte) ในม้ามและตับ เซลล์เม็ดเลือดแดงทำหน้าที่ขนส่งและถ่ายโอนก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างปอดและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ผ่านการจับของสารสีม่วงแดงที่เรียกว่า “ฮีโมโกลบิน” (Hemoglobin)

เซลล์เม็ดเลือดขาว (White blood Cell) คือ เซลล์เม็ดเลือดที่ถูกสร้างจากไขกระดูก มีขนาดใหญ่กว่าเซลล์เม็ดเลือดแดง มีรูปร่างกลมแบน มีนิวเคลียส ทำหน้าที่สร้างแอนติบอดี้ (Antibody) เพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอม สร้างภูมิคุ้มกัน และทำลายเชื้อโรค

องค์ประกอบของเลือด

2. หลอดเลือด (Blood Vessels) : ท่อลำเลียงเลือดที่ทอดแขนงจากหัวใจไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายโดยเป็นการทำงานร่วมกันของหลอดเลือดแดง (Artery) ที่นำเลือดซึ่งมีปริมาณออกซิเจนสูงออกจากหัวใจส่งต่อไปยังหลอดเลือดฝอย (Capillary) ที่มีขนาดเล็ก แตกแขนงแทรกซึมอยู่ในเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ก่อนที่หลอดเลือดฝอยจะรับเลือดดำหรือเลือดที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำออกจากเซลล์ส่งต่อไปยังหลอดเลือดดำ (Vein) ที่นำเลือดกลับสู่หัวใจอีกครั้ง

หลอดเลือดชนิดต่าง ๆ ภาพประกอบ : Richard Foster

3. หัวใจ (Heart) : อวัยวะที่มีกล้ามเนื้อชนิดพิเศษ ซึ่งทำการบีบตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยภายในหัวใจสามารถแบ่งออกเป็น 4 ห้อง ซึ่งแต่ละห้องมีการเรียงลำดับตามการไหลเวียนโลหิตของหัวใจ ดังนี้

หัวใจห้องบนขวา (Right Atrium) คือ ส่วนที่รับเลือดดำหรือเลือดที่ผ่านการใช้งานจากทุกส่วนของร่างกาย
หัวใจห้องล่างขวา (Right Ventricle) คือ ส่วนที่รับเลือดจากหัวใจห้องบนขวา เพื่อส่งไปยังปอด
หัวใจห้องบนซ้าย (Left Atrium) คือ ส่วนที่รับเลือดแดงซึ่งผ่านการฟอกจากปอด
หัวใจห้องล่างซ้าย (Left Ventricle) คือ ส่วนที่รับเลือดแดงจากหัวใจห้องบนซ้ายก่อนส่งไปเลี้ยงทั่วร่างกาย จึงเป็นส่วนของหัวใจที่ทำงานหนักที่สุด มีผนังหัวใจหนาที่สุด เพื่อทำการสูบฉีดเลือดให้ไหลเวียนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

กายวิภาคของหัวใจมนุษย์

นอกจากนี้ ในหัวใจยังมีผนังหรือเนื้อเยื่อแข็งแรงกั้นระหว่างหัวใจซีกซ้ายและขวา รวมถึงห้องหัวใจด้านบนและด้านล่างของแต่ละซีก และมีลิ้นหัวใจทำหน้าปิดกั้นไม่ให้เลือดเกิดการไหลย้อนกลับ ดังนั้น การไหลเวียนของเลือดในร่างกายจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งระบบ

ระบบไหลเวียนโลหิตในสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป โดยในธรรมชาติสามารถจำแนกออกเป็น 2 ระบบหลัก คือ ระบบหมุนเวียนโลหิตแบบวงจรปิด (Close Circulatory System) ที่เลือดไหลไปตามเส้นเลือดผ่านหัวใจและเส้นเลือดต่าง ๆ เหมือนในมนุษย์ ซึ่งมักพบในสัตว์จำพวกหนอนตัวกลมมีปล้อง เช่น ไส้เดือนดิน และสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดต่าง ๆ ขณะที่ระบบหมุนเวียนโลหิตแบบวงจรเปิด (Open Circulatory System) คือ ระบบที่เลือดมีการไหลออกจากหัวใจไปตามหลอดเลือดผ่านช่องว่างระหว่างลำตัวที่เรียกว่า “เฮโมซีล” (Haemocoel) หรือช่องว่างระหว่างอวัยวะ ซึ่งมักพบในสัตว์จำพวกแมลง กุ้ง ปู และหอย เป็นต้น

สืบค้นและเรียบเรียง

คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.redcrossblood.org/donate-blood/dlp/platelet-information.html

https://www.trueplookpanya.com/learning/detail/30620-043104

http://www.na.ac.th/science/Binder2.pdf


อ่านเพิ่มเติม ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune System)

ระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine System)

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.