World Update: หลุมดำโดดเดี่ยวที่พเนจรไปทั่วทางช้างเผือก

เรื่องราวของการค้นพบหลุมดำโดดเดี่ยวที่พเนจรไปทั่วทางช้างเผือก

ทีมนักวิทยาศาสตร์ 2 ทีมวิเคราะห์โดยอิสระแยกจากกันแต่ได้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน คือตรวจพบวัตถุเล็กที่ไม่ส่องแสงล่องลอยอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา ห่างออกไป 5,153 ปีแสง ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าอาจมีมากกว่า 100 ล้านดวงในทางช้างเผือกและจุดที่อยู่ใกล้สุดอาจห่างออกไปเพียง 80 ปีแสง

“นี่อาจเป็นหลุมดำหรือดาวนิวตรอนที่ลอยได้อิสระดวงแรกที่ค้นพบด้วยไมโครเลนส์โน้มถ่วง(gravitational microlensing)” เจสสิกา ลู (Jessica Lu) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียกล่าว ทีมของเธอระบุว่าวัตถุนี้มีมวลอยู่ระหว่าง 1.6 ถึง 4.4 เท่าของดวงอาทิตย์ พวกเขาจึงคาดว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นดาวนิวตรอน

ขณะที่อีกทีมหนึ่งซึ่งนำโดย ไคลาช ซาฮู (Kailash Sahu) จากสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศระบุว่าวัตถุนี้คือ “หลุมดำ” ที่มีมวลอยู่ราว 7.1 เท่าของดวงอาทิตย์ แม้คำตอบของทั้งสองทีมยังคงต้องการการศึกษาและยืนยันเพิ่มเติม แต่ด้วยเครื่องมือใหม่นี้พิสูจน์ให้เห็นว่าเราสามารถตรวจจับวัตถุขนาดเล็กที่ไม่ส่องแสงในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราได้

วิธีนั้นก็คือการตรวจจับกาล-อวกาศ (Space-Time) ที่ถูกทำให้บิดเบี้ยวด้วยแรงโน้มถ่วงรุนแรงซึ่งแสงจากดวงดาวที่อยู่ด้านหลังจะบิดเบี้ยวตาม ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ปรากฎการณ์นี้หมายความว่าเราจะเห็นดวงดาวที่อยู่ใกล้ออกไปสว่างวาบขึ้นมาและมีตำแหน่งเปลี่ยนไปจากเดิม แสดงให้เห็นว่ามีวัตถุที่มีแรงโน้มถ่วงรุนแรงได้บิดกาล-อวกาศผ่านไปด้านหน้า

“ด้วยไมโครเลนส์นี้ เราสามารถตรวจสอบวัตถุที่โดดเดี่ยวและมีขนาดเล็ก พร้อมกับชั่งน้ำหนักมันได้ ฉันคิดว่าเราได้ค้บพบเรื่องราวใหม่ของวัตถุที่มืดมิดเหล่านี้ซึ่งยังไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยวิธีอื่น” ลู กล่าว นอกจากนี้ทั้งสองทีมยังวัดความเร็วได้แตกต่างกัน โดยทีมของซาฮูระบุว่าวัตถุนั้นเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 45 กิโลเมตรต่อวินาที ส่วนทีมของลูระบุว่าอยู่ที่ 30 กิโลเมตรต่อวินาที

อย่างไรก็ตาม “ไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม วัตถุนั้นก็คือส่วนหนึ่งที่เหลือของดวงดาวมืดมิดดวงแรกที่ถูกค้นพบและเคลื่อนผ่านดาราจักรโดยไม่มีดาวดวงอื่นอยู่ด้วย” เคสซี แลม (Casey Lam) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ทีมเดียวกับลูกล่าว

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.space.com/dark-black-hole-wandering-milky-way-smallest-yet

https://www.sciencealert.com/we-really-may-have-found-a-rogue-dark-black-hole-wandering-the-milky-way

https://edition.cnn.com/2022/06/14/world/wandering-black-hole-milky-way-scn/index.html

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.