กัญชาเสรี : เมื่อ “กัญชา” ไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป จะส่งผลอย่างไรต่อสังคมไทย

“กัญชา” ถือเป็นยาเสพติดตามกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขผลักดันให้ถอดกัญชาออกจากยาเสพติดเพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจตามนโยบาย กัญชาเสรี ของรัฐบาล หากกัญชาไม่เป็นยาเสพติดจะส่งผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างไร

กัญชาเสรี – เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด” (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศกำหนดชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเสนอ สาระสำคัญคือ การปลด “กัญชา” ออกจากยาเสพติด จะมีผลทำให้ “กัญชา” ไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป วาระพิจารณานี้เป็นการเสนอโดยกระทรวงสาธารณสุขซึ่งผ่านมติเห็นชอบของ “คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด” ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานด้านต่าง ๆ

ผลของมติของคณะกรรมการ ป.ป.ส.ส่งผลทำให้กัญชาคือ พืชกัญชา (Cannabis) ไม่เป็นยาเสพติดประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด การลงมติดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อประมวลกฎหมายยาเสพติด เนื่องจากการที่มิได้มีการบัญญัติ “กัญชา” ในมาตรา 29 ของประมวลกฎหมายยาเสพติด มิได้หมายความว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะถอดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภท 5 เนื่องจากมียาเสพติดหลายประเภทที่มิได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย แต่ก็ยังถือเป็นยาเสพติดตามกฎหมายลำดับรอง เช่น แอมเฟตามีน เมทแอมเฟตามีน

การพิจารณาอนุมัติของคณะกรรมการ ป.ป.ส.ให้ถอดกัญชาออกจากยาเสพติดตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข จะต้องมีข้อมูลหลักฐานวิชาการที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้กัญชา ข้อมูลผลกระทบต่อสังคม การเกิดอาชญากรรม อุบัติเหตุ การเสนอให้ถอดกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยอ้างเหตุผลว่า ผู้กำหนดนโยบายต้องการให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ แต่ข้อเท็จจริงที่ทราบกันดีคือ วิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชากลับประสบปัญหาขาดทุน เพราะไม่มีหน่วยงานหรือธุรกิจใดที่รับซื้อช่อดอกกัญชา แต่มีเพียงธุรกิจหรือกลุ่มทุนรายใหญ่ที่ปลูกกัญชาและสามารถทำสารสกัดกัญชา แปรรูปได้อย่างครบวงจร

ข้อสำคัญคือ พืชกัญชาถือเป็นยาเสพติดตาม “อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ.1961” (Single Convention on Narcotic Drugs) มติของคณะกรรมการ ป.ป.ส.ดังกล่าวจึงขัดต่ออนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด และ “อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ.1988” (United Nations Convention against Illicit Trafficking in Narcotic Drugs and Psychotropic Substances, 1988)

ปัจจุบัน ยังไม่มีประเทศใดที่มีกฎหมายถอดพืชกัญชาออกจากยาเสพติด แม้แต่ประเทศที่อนุญาตให้มีการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้ เช่น บางมลรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา อุรุกกวัย กฎหมายของประเทศเหล่านี้ก็ยังถือว่าต้นกัญชา (cannabis plant) เป็นพืชเสพติดที่ต้องควบคุม กรณีพืชกัญชาจะแตกต่างจาก “พืชกระท่อม” (Mitragyna speciosa (Korth.) Havil.) ซึ่งไม่ถือเป็นสารเสพติดตามกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ

กรณีพืชกัญชาจะแตกต่างจาก “พืชกระท่อม” (Mitragyna speciosa (Korth.) Havil.) ซึ่งไม่ถือเป็นสารเสพติดตามกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ และประเทศส่วนใหญ่มิได้มีกฎหมายควบคุมพืชกระท่อมแต่อย่างใด ในขณะที่ “ร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. ….” ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแล้ว กลับมีเนื้อหาการควบคุมที่เข้มงวด มีการบัญญัติโทษอาญาใหม่ที่เกินจำเป็น หรือกำหนดอัตราโทษสูงกว่าความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อมตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ 2522 สะท้อนถึงความผิดเพี้ยนในเนื้อหาของกฎหมายของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และการขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพืชกระท่อมของสมาชิกรัฐสภาบางส่วน

การลงมติเห็นชอบให้ถอดพืชกัญชาออกจากยาเสพติดของคณะกรรมการ ป.ป.ส.และคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด โดยให้ควบคุมเฉพาะสารสกัดจากพืชกัญชา จึงขัดต่อประมวลกฎหมายยาเสพติด หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าในเรื่องนี้ อาจถือเป็นการละเมิดต่อกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิก ในประเทศพัฒนาแล้วยังคงมีการควบคุมหรือออกกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดในการปลูกพืชกัญชา เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยและสุขภาพของประชาชน ป้องกันการนำกัญชามาใช้ในขบวนการค้ายาเสพติดผิดกฎหมาย

ข้อน่าสงสัยในเรื่องการเสนอประกาศกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องการถอดพืชกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 คือ กระบวนการพิจารณาประกาศดังกล่าวได้ผ่านการกลั่นกรองจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบหรือไม่ โดยเฉพาะผลกระทบต่อสังคมในด้านต่าง ๆ และเหตุใด เลขาธิการ ป.ป.ส.ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการ ป.ป.ส. จึงยินยอมบรรจุวาระพิจารณาเรื่องการถอดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภท 5 การเสนอประกาศ ฯ ที่ขาดข้อมูลทางวิชาการที่รอบด้านและมิได้คำนึงถึงผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้น ย่อมจะส่งผลเสียต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของประชาชนอย่างมาก

รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงาน ป.ป.ส. และคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เดินหน้าถอดกัญชาออกจากยาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาล ตาม “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565” ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและสังคมโดยรวม ดังนี้

1. การกำหนดนิยามกัญชาตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวขัดต่อกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ ส่งผลทำให้การค้ากัญชาผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออกกัญชาตามกฎหมายยาเสพติดปัจจุบัน กลายเป็นสิ่งดำเนินการได้ โดยไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป

2. ผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่และผู้ค้ารายย่อยที่เกี่ยวข้องกับกัญชาที่ถูกศาลตัดสินว่ากระทำความผิดตามกฎหมายยาเสพติด หรือเป็นผู้ต้องขังที่เป็นนักโทษเด็ดขาด ผู้ต้องขังเหล่านี้จะถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ รวมถึงผู้เสพ ครอบครองด้วย โดยเฉพาะผู้ค้ากัญชารายใหญ่ที่ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์ตามกฎหมายฟอกเงิน สำนักงาน ปปง.ต้องถอนการอายัดทรัพย์ที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีให้แก่ผู้ต้องหา ซึ่งขัดต่อมาตรฐานการต่อต้านการฟอกเงินระหว่างประเทศและกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ

3. ประชาชนทั่วไปจะสามารถเสพหรือใช้กัญชาโดยเสรี (ส่วนช่อดอกหรือส่วนที่มี THC สูง) โดยไม่ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ คนใกล้ชิด ทำให้เกิดปัญหาสังคม อุบัติเหตุ อาชญากรรมเพิ่มขึ้นได้ หรืออาจมีผู้ป่วยโรคทางจิตเวชสูงขึ้น

4. ทำให้เกิดปัญหาการใช้และการตีความกฎหมาย เพราะกัญชาตามประมวลกฎหมายยาเสพติด กับ กัญชาตาม “ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ….” เสนอโดย พรรคภูมิใจไทย มีความหมายที่แตกต่างกัน และมีการควบคุม การจัดการที่แตกต่างกันอย่างมาก มีเนื้อหาที่ขัดแย้งกัน ทำให้เกิดความสับสนของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งร่าง พ.ร.บ.กัญชา ฯ มีเนื้อหาที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มนายทุนที่มีเงินทุนมหาศาล ทำให้วิสาหกิจชุมชนเสียเปรียบหรือประสบภาวะขาดทุน

5. การอนุญาตให้ประชาชนสามารถปลูกหรือครอบครองกัญชาได้ (มิใช่ผลิตภัณฑ์ยา) โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องใด ๆ การจดแจ้งในแอปพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” ก็เป็นเป็นไปตามความสมัครใจ เปิดช่องให้มีการนำกัญชาไปใช้ในทางมิชอบ ทำให้เกิดอาชญากรรมเพิ่มขึ้น เช่น การนำกัญชาไปผสมในขนมหรือเครื่องดื่มเพื่อให้หมดสติเพื่อล่วงละเมิดทางเพศ หรือทำให้ผู้ที่บริโภคกัญชาส่วนช่อดอกเกิดอาการแพ้หรือเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

6. มีการอนุญาตให้โฆษณาผลิตภัณฑ์กัญชาในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม โดยไม่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดเหมือนกฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพในต่างประเทศ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อ หลอกลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าการบริโภคเครื่องดื่มผสมกัญชาทำให้อารมณ์ดีหรือส่งผลดีต่อสุขภาพ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กลับอนุญาตให้โฆษณาเครื่องดื่มหรือผลิตภัณฑ์อาหารว่ามีส่วนผสมของใบกัญชาซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง อาจเป็นการจูงใจทางอ้อมให้ประชาชนบริโภคกัญชาในทางที่ผิดได้

7. กลุ่มธุรกิจที่มีเงินทุนมหาศาลสามารถนำกัญชาที่เคยได้รับอนุญาตออกมาจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อมุ่งผลกำไรทางธุรกิจ โดยมิได้คำนึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน หากมีการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง จนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์การจำหน่ายกัญชาในต่างประเทศที่จะต้องมีความเข้มงวด

8. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เคยได้รับอนุญาตปลูกกัญชาอาจประสบภาวะขาดทุนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการปลูกกัญชาอย่างเสรีโดยไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมาย และประชาชนอาจได้กัญชาที่ไม่มีคุณภาพ หรือได้รับอันตรายจากกัญชาที่มีการปนเปื้อน

9. หน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ด้านสุขภาพและยาเสพติดโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงาน ป.ป.ส.ขาดมาตรการรองรับผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายกัญชาของรัฐบาลอย่างเหมาะสม จะมีภาพลักษณ์ที่ตกต่ำในสายตาของประชาชนและต่างประเทศ ทำให้เข้าใจว่าหน่วยงานเหล่านี้ส่งเสริมให้พืชกัญชาที่ถือเป็นสารเสพติดกลายเป็นพืชหรือสินค้าทั่วไป โดยละเลยภารกิจหน้าที่ตามกฎหมาย

ทางออกที่เหมาะสมในเรื่องนี้คือ คณะกรรมการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณายกเลิกหรือแก้ไขเนื้อหาประเด็นกัญชาตาม “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565” โดยควรกำหนดให้กัญชาหรือพืชกัญชายังคงเป็นยาเสพติดประเภท 5 โดยอาจมีข้อยกเว้นบางประการเฉพาะส่วนของพืชที่มี THC ต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ และจำกัดการใช้กัญชาเฉพาะทางการแพทย์คือเพื่อการบำบัดหรือรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัย

ในระยะยาวควรแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติดหรือร่าง พ.ร.บ.กัญชา ฯ เพื่อใช้มาตรการอื่นแทนการลงโทษอาญา (Decriminalization) แก่ผู้เสพ ผู้ครอบครองกัญชาในปริมาณเล็กน้อยเหมือนในต่างประเทศ เช่น มาตรการทางปกครอง การทำงานบริการสังคม สำหรับกลุ่มเด็กเยาวชนก็ไม่ควรใช้โทษอาญา แต่สามารถใช้มาตรการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

การเสนอร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …. ของพรรคภูมิใจไทยที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 1 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ไม่น่าจะเป็นทางออกในเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่มีจุดอ่อนหลายประการ ขาดมาตรการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดจากการใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสม ข้อสำคัญคือร่างกฎหมายนี้มีเจตนารมณ์เพื่อยืนยันการปลดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภท 5 และให้ความสำคัญกับธุรกิจเกี่ยวกับกัญชามากกว่าประเด็นสุขภาพ เอื้อต่อกลุ่มทุน อีกทั้งการใช้กัญชาในทางการแพทย์ เช่น ยาแผนไทย หรือการน้ำมันกัญชาสูตรต่าง ๆ ก็สามารถดำเนินการได้อยู่แล้วตามกฎหมายยาเสพติด

กระทรวงสาธารณสุขไม่ควรละเลยต่อการบทบาทหน้าที่ในการดูแลสุขภาพประชาชน และให้ความสำคัญกับภารกิจสำคัญอื่น ๆ ในด้านสุขภาพ และควรเร่งรัดเสนอร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …. ของรัฐบาล เพราะเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง อีกทั้งผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขไม่ควรทุ่มเทงบประมาณ ทรัพยากรเพื่อส่งเสริม สนับสนุนเรื่องกัญชาที่เป็นผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจ นักการเมือง เพราะมิใช่ภารกิจของหน่วยงาน

ไพศาล ลิ้มสถิตย์
กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


อ่านเพิ่มเติม กัญชา : ความจริงที่คุณต้องรู้

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.