ภาวะปรสิต ในระบบนิเวศคืออะไร และมีลักษณะใดบ้าง

ภาวะปรสิต เป็นหนึ่งในความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ และเป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตเพื่อประโยชน์ของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียว

ภาวะปรสิต เป็นความสัมพันธ์ในธรรมชาติระหว่างสิ่งมีชีวิตสองชนิดพันธุ์ โดยชนิดหนึ่งได้ประโยชน์จากปฏิสัมพันธ์ และอีกชนิดหนึ่งถูกคุกคาม ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิต หรือไม่เสียชีวิตก็ได้

ภาวะปรสิตจำแนกได้ 2 ประเภท คือ

1. ปรสิตภายนอก เช่น หมัด เห็บ เหา และโลน เป็นต้น โดยตัวปรสิตอาศัยอยู่บริเวณผิวชั้นนอกของเจ้าบ้าน หรือโฮสต์ และส่วนใหญ่ไม่ใช่ปรสิตที่ก่อโรค แต่สร้างความรำคาญ

2. ปรสิตภายใน เช่น พยาธิ โปรโตชัว และแบคทีเรีย เป็นต้น โดยตัวปรสิตจะอาศัยอยู่ภายในร่างกายของโฮสต์ และอาจเป็นเชื้อก่อโรคบางชนิด

นกกาเหว่า / ภาพถ่าย Anirudh Singh

นอกจากนี้ ในธรรมชาติยังพบความสัมพันธ์ที่เรียกว่า Parasitism brood หรือภาวะกาฝาก ซึ่งสามารถพบได้ในพฤติกรรมของนกกาเหว่า

นกกาเหว่าเป็นนกที่ไม่สร้างรังเป็นของตัวเอง แต่อาศัยวางไข่ในรังของนกตัวอื่น และบางครั้งก็เขี่ยไข่ในรังของนกเจ้าบ้านทิ้งไป เพื่อให้นกเจ้าบ้านกกไข่ของตัวเอง และเลี้ยงดูลูกนกหลังจากฟักออกจากไข่แล้ว

ในภาวะปรสิตสามารถพบปรสิตได้หลายประเภท ทั้งปรสิตที่ต้องอาศัยโฮสต์ตลอดเวลา และปรสิตที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างอิสระ เหล่านี้คือตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตที่แสดงภาวะปรสิต

ภาพถ่าย CDC

ปรสิตในมนุษย์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

1. พยาธิใบไม้

พยาธิใบไม้ในตับชนิด Fasciola hepatica เป็นปรสิตที่พบได้ในตับของสัตว์เคี้ยวเอื้อง แกะ และมนุษย์ โดยเกาะอยู่ที่เนื้อเยื่อตับ และดูดซึมของเหลวในตับและน้ำดีเป็นอาหาร

2. อะมีบา

อะมีบา Naegleria fowleri เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่ปนเปื้อน และทำให้เกิดอาการเยื่อหุ่มสมองอักเสบในมนุษย์

วงจรของเชื้อมาลาเรีย / ภาพประกอบ CDC

3. เชื้อมาลาเรีย

เชื้อมาลาเรียอาศัยยุงเป็นพาหะนำโรคมาลาเรียมาสู่มนุษย์ โดยเชื้อพลาสโมเดียมในระยะตัวอ่อนที่อาศัยอยู่ในยุง จะแพร่มายังมนุษย์ผ่านการกัด และเจริญเป็นตัวเต็มวัย ทำให้มนุษย์ป่วย บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต

4. หนอนตัวแบน

หนอนตัวแบนในสกกุล Schistosoma เป็นสาเหตุของโรคชิสโตโซมิอาซิส โดยมนุษย์สามารถสัมผัสปรสิตชนิดนี้ได้จากแหล่งน้ำจืดที่มีการปนเปื้อน อาการของโรคอาจแสดงออกหลายรูปแบบ ทั้งปวดท้อง ท้องบวม ปัสสาวะและอุจจาระเป็นเลือด และเมื่อเวลาผ่านไปอาจเกิดภาวะตับและไตล้มเหลว

วงจรชีวิตของ Trichinella / ภาพประกอบ CDC

5. พยาธิตัวกลม

พยาธิตัวกลม Trichinella เป็นปรสิตในลำไส้ สาเหตุของโรค Trichinosis ซึ่งทำให้ทางเดินอาหารหดเกร็ง ย่อยอาหารลำบาก และอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ โฮสต์สามารถรับปรสิตชนิดนี้ได้จากการรับประทานเนื้อดิบ

เหาที่พบในเส้นผมของมนุษย์ / ภาพถ่าย CDC

6. เหา

เหาสองชนิดในสกุล Pediculus เป็นสายพันธุ์ที่พบได้ทั่วโลก ชนิดแรก P. humanus capitis เป็นชนิดที่พบได้ทั่วไปบนเส้นผมมนุษย์ (ความกังวลของผู้บริหารโรงเรียน เด็กนักเรียน และผู้ปกครองทั่วโลก) และอีกชนิดหนึ่ง P. humanus humanus เป็นสายพันธุ์ที่พบได้ยากกว่า และพบตามส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ทั้งสองมักทำให้เกิดอาการคัน สร้างความรำคาญ และอาจเป็นสาเหตุของโรคไข้รากสาดใหญ่

ภาพถ่าย EllWi

7. ปลิงและทากดูดเลือด

ปลิงและทากดูดเลือกในวงศ์ Hirudinea อาศัยการดูดเลือดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นอาหาร ปลิงดูดเลือดอาศัยโฮสต์มากกว่า 1 ชนิดในวงจรชีวิต เช่น ปลาน้ำจืด ทากเปลือย และหอยทาก หลังจากนั้น เมื่อโตเต็มวัยปลิงดูดเลือดจะอาศัยอาหารจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ภาวะปรสิตในพืช

ภาพถ่าย Sascha Barth

1. เพลี้ย

เพลี้ยชนิดต่างๆ มักดูดกินน้ำและสารอาหารจากเนื้อเยื่อพืช แต่ถ้าปริมาณของเพลี้ยมากเกินไป พืชก็อาจได้รับความเสียหาย ในธรรมชาติ แมลงเต่าทองเป็นผู้ควบคุมประชากรเพลี้ย บางครั้ง มดก็จะเลี้ยงเพลี้ยไว้เพื่อเป็นแหล่งอาหารของพวกมัน

ภาพถ่าย Wim Turnhout

2. ต้นกาฝาก

ตันกาฝาก เป็นพืชที่ยึดติบกับโฮสต์ด้วยรากพิเศษที่เรียกว่า haustorium ที่สามารถดูดซึมน้ำและสารอาหารได้จำนวนมาก จึงทำให้โฮสต์เสื่อมโทรมลงและตายได้ในที่สุด

สืบค้นและเรียบเรียง ณภัทรดนัย

ข้อมูลอ้างอิง

https://examples.yourdictionary.com/examples-of-parasitism.html

https://necsi.edu/parasitic-relationships

https://www.britannica.com/science/parasitism


อ่านเพิ่มเติม ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต ในระบบนิเวศ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.